จับตากฎใหม่ 'จีน' สะเทือนวงการชิปโลก แบน Intel-AMD หันใช้ชิป 'เมดอินไชน่า'

จับตากฎใหม่ 'จีน' สะเทือนวงการชิปโลก แบน Intel-AMD หันใช้ชิป 'เมดอินไชน่า'

รัฐบาลจีนเสนอไกด์ไลน์ใหม่ที่เตรียมแบน 2 บริษัทชิปใหญ่สหรัฐ Intel และ AMD ในหน่วยงานรัฐบาล หันไปใช้เทคโนโลยีของจีนแทน ขณะที่ 'วินโดวส์' ของไมโครซอฟท์จ่อเป็นคิวถูกพิจารณารายต่อไป

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สรายงานว่า รัฐบาลจีนได้ออกไกด์ไลน์ฉบับใหม่ที่จะตัดการใช้ชิปจากบริษัท "อินเทล" (Intel) และ "แอดวานซ์ ไมโคร ดีไวซ์" (AMD) ซึ่งเป็นสองบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่จากสหรัฐ ออกไปจากวงจรการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีและเซิร์ฟเวอร์ของหน่วยงานรัฐบาลจีนทั้งหมด โดยจะหันไปใช้เทคโนโลยีของบริษัทสัญชาติจีนแทน

นอกจากด้านชิปประมวลผลแล้ว รัฐบาลจีนยังอาจพิจารณาทบทวนการใช้ "ระบบปฏิบัติการวินโดวส์" (Windows) ของค่ายไมโครซอฟท์ รวมไปถึงซอฟต์แวร์ดาต้าเบสอื่นๆ ที่เป็นของบริษัทต่างชาติอีกด้วย ซึ่งแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ของรัฐบาลปักกิ่งที่เข้มงวดขึ้น ยังมีขึ้นควบคู่ไปกับการผลักดันให้รัฐวิสาหกิจ (SOE) หันมาใช้ผลิตภัณฑ์และบริการสัญชาติจีนมากขึ้น

ระเบียบใหม่ของจีนสะท้อนให้เห็นความตึงเครียดในศึกเทคโนโลยีระหว่าง "สหรัฐ" กับ "จีน" ที่เข้มข้นขึ้น โดยก่อนหน้านี้ไม่นานก็เพิ่งมีรายงานข่าวว่า สหรัฐมีแผนจะขึ้นบัญชีดำบริษัทในเครือข่ายของ "หัวเว่ย เทคโนโลยีส์" ทั้งหมด เพื่อสกัดกั้นการพัฒนาชิปเอไอของฝั่งจีน หลังจากที่สหรัฐมีการแบนบริษัทจีนบางแห่งไปแล้ว และห้ามการส่งออกชิปไฮเทคไปยังจีน ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติ  

รายงานระบุว่า บรรดาเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐบาลจีนกำลังดำเนินการตามนโยบายจัดซื้อจัดจ้างใหม่ในปีนี้ ซึ่งจะมีผลกับหน่วยงานของรัฐในระดับเมืองขนาดเล็ก (township) เป็นต้นไป หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเริ่มส่งสัญญาณเบื้องต้นออกมาตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. ซึ่งมีการเปิดเผยรายชื่อบริษัทด้านชิปประมวลผลและระบบปฏิบัติการ 18 แห่ง ที่ "ปลอดภัยและเชื่อถือได้" โดยทั้งหมดล้วนเป็นบริษัทจีน  

ในจำนวนนี้ บริษัทหลายแห่งอยู่ในเครือข่ายของหัวเว่ย และกลุ่ม Phytium ที่รัฐบาลจีนสนับสนุนอยู่ และเป็นกลุ่มที่ถูกรัฐบาลวอชิงตันขึ้นบัญชีดำห้ามส่งออกไปสหรัฐด้วย 

โดยปกติแล้ว บริษัทชิปประมวลผลในจีนจะใช้สถาปัตยกรรมชิปแบบผสมผสานระหว่างชิป x86 ของอินเทล ร่วมกับชิปของบริษัท Arm จากอังกฤษ และชิปของบริษัทจีน ส่วนระบบปฏิบัติการนั้นจะใช้โอเพนซอสจากซอฟต์แวร์ลีนุกซ์เป็นหลัก  

"มาตรฐานนี้ถือเป็นการปรับใช้แบบทั่วประเทศเป็นครั้งแรก มีการลงรายะเอียดและคำแนะนำที่ชัดเจนสำหรับการส่งเสริม ซินฉวง" เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนรายหนึ่งกล่าว

ทั้งนี้ "ซินฉวง" (Xinchuang) คือโครงการนวัตกรรมข้อมูล ที่จีนประกาศออกมาในปี 2565 เพื่อจูงใจให้บริษัทผู้ผลิตชิปของจีนหันมาใช้วัตถุดิบและเครื่องจักรที่มาจากซัปพลายเออร์ภายในจีนด้วยกันเอง และนโยบายจัดซื้อจัดจ้างล่าสุดในครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในด้านเทคโนโลยี (technological autarky) 

แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องเปิดเผยกับไฟแนนเชียลไทมส์ว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการจัดการและกำกับดูแลสินทรัพย์ของบริษัทจีนได้แจ้งต่อบรรดา SOE ให้ดำเนินการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีหันมาใช้ของจากบริษัทจีนให้แล้วเสร็จภายในปี 2570 ทำให้หลายหน่วยงานเริ่มกระบวนการยกเครื่องระบบไอทีใหม่และรายงานผลความคืบหน้าเป็นรายไตรมาสตั้งแต่ปีที่แล้ว 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทชิปอเมริกันอย่างหนัก โดยเฉพาะ Intel เนื่องจากจีนถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของอินเทลด้วยสัดส่วนถึง 27% ของยอดขายทั้งหมด 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่ AMD มียอดขายในจีน 15% ของยอดขายทั้งหมด 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์  

ส่วน Microsoft นั้นไม่มีการเปิดเผยยอดขายในจีน แต่เมื่อปีที่แล้ว แบรด สมิธ ประธานของไมโครซอฟท์เคยกล่าวต่อสภาคองเกรสสหรัฐว่า ตลาดจีนคิดเป็นสัดส่วน 1.5% ของรายได้บริษัททั้งหมด 
  
อย่างไรก็ตาม ทั้งอินเทลและไมโครซอฟท์ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ ขณะที่เอเอ็มดียังไม่ตอบรับการขอความเห็นเพิ่มเติมจากข่าวนี้แต่อย่างใด

ที่มา: Financial Times