ภาพจริง ชาวอเมริกันไร้ความมั่นคง | ไสว บุญมา

ภาพจริง ชาวอเมริกันไร้ความมั่นคง | ไสว บุญมา

ความประทับใจในภาพของความมั่งคั่งและโอกาสตั้งต้นชีวิตใหม่ จูงใจให้ชาวต่างประเทศจำนวนมากพยายามหาทางเข้าไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาทุกวัน จนสังคมอเมริกันรับไม่ไหว

ส่งผลให้เป็นประเด็นทางการเมืองภายในประเทศ ความขัดแย้งร้ายแรงระหว่างฝ่ายบริหารกับสภาผู้แทนราษฎร มีผลทำให้สภาฯ ลงมติฟ้องขับไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความปลอดภัยภายใน ซึ่งดูแลนโยบายการรับคนเข้าเมืองของสหรัฐ

ชาวต่างประเทศดังกล่าวส่วนใหญ่คงไม่เฉลียวใจว่า ในบรรดาชาวอเมริกันเพียงราวหนึ่งในสามคนเท่านั้นที่มั่นใจว่าตนมีรายได้และความมั่นคงในชีวิตเพียงพอ จนนับตัวเองว่าเป็นคนชั้นกลางได้ตามความใฝ่ฝันของสังคมอเมริกันโดยทั่วไป 

ข้อสรุปที่อาจก่อให้เกิดความประหลาดใจนี้ มาจากการสำรวจความเห็นของชาวอเมริกัน ประกอบกับการวิเคราะห์ข้อมูลของธนาคารกลางโดย นสพ.วอชิงตันโพสต์

การสำรวจความเห็นดังกล่าวสรุปว่า ชาวอเมริกันโดยทั่วไปมองว่ามี 8 ปัจจัยที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายในชีวิตของการเป็นชนชั้นกลาง กล่าวคือ มีงานชนิดมั่นคงทำ สามารถออมรายได้ไว้สำหรับอนาคต

มีเงินใช้ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน 1 พันดอลลาร์โดยไม่ต้องกู้ยืม มีรายได้พอสำหรับค่าใช้จ่ายรายวันโดยปราศจากความกังวล มีประกันสุขภาพ และสามารถอยู่ได้อย่างสะดวกสบายในวัยเกษียณ

สำหรับด้านรายได้ พวกเขามองว่า ถ้าครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน มีรายได้ปีละ 75,000-100,000 ดอลลาร์ (ราว 2.2-2.9 แสนบาทต่อเดือน) พวกเขาจะบรรลุเป้าหมายของการเป็นชนชั้นกลาง

อย่างไรก็ดี การมีรายได้ในระดับนี้มิได้ชี้ว่าพวกเขาจะสามารถดำเนินชีวิตตามความปรารถนาจากการมีปัจจัยทั้ง 8 ดังกล่าวอย่างครบถ้วนได้ 

ปัจจัยนำที่ทำให้เกิดภาวะไม่มั่นใจในความเป็นชนชั้นกลางอย่างแท้จริง ได้แก่ ความไม่มั่นใจว่าตนจะสามารถออมรายได้ไว้สำหรับใช้ในวัยเกษียณอย่างเพียงพอ ตามด้วยความไม่มั่นคงของงาน (ในแนวการรับราชการของคนไทย)

สองปัจจัยนี้มีความเกี่ยวเนื่องกันและสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างของการจ้างงานแห่งยุคสมัย

สหรัฐอุบัติขึ้นมาในช่วงต้นของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากเกษตรกรรม ซึ่งทำกันในครอบครัวไปสู่โรงงานและกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องจักรกลขับเคลื่อน

โรงงานอุตสาหกรรมนำไปสู่การจ้างคนงานจำนวนมาก คนงานเหล่านั้นมักรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานขนาดใหญ่ 

สหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการต่อรองกับนายจ้างทั้งทางด้านค่าจ้าง สวัสดิการและความมั่นคงของงาน จากเริ่มต้นจนถึงวัยเกษียณที่มีบำนาญพอใช้ โดยทั่วไปการทำงานในโรงงานขนาดใหญ่จึงมีความมั่นคงแทบไม่ต่างกับการทำงานรัฐบาล 

หลังจากเกิดเทคโนโลยีดิจิทัล โครงสร้างทางเศรษฐกิจของสหรัฐเปลี่ยนไปจากการอุตสาหกรรม ไปเน้นการทำและบริการด้านคอมพิวเตอร์และด้านอื่นๆ เป็นหลัก ลักษณะของการจ้างงานก็เปลี่ยนตามไปด้วย

ณ วันนี้ราว 10% ของคนงานในกิจการต่างๆ เท่านั้นที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ลดลงจากกว่า 30% ในช่วง 2 ทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือก่อนที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะทำให้เกิดยุคข่าวสารข้อมูล การเปลี่ยนโครงสร้างของการจ้างงานแบบนี้มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อด้านสวัสดิการของคนงาน 

เช่น การสะสมกองทุนบำนาญ คนงานจะต้องรับผิดชอบเองมากขึ้น แต่คนงานมักขาดความเชี่ยวชาญด้านการวางแผนและบริหารการเงินเมื่อเทียบกับสหภาพแรงงานและบริษัทห้างร้านขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงแม้ในกรณีที่รายได้สูงกว่าเดิมในเชิงเปรียบเทียบก็ตาม

แม้ผู้พยายามเข้าไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในสหรัฐจะตระหนักเรื่องความไม่มั่นคงดังกล่าว แต่ก็ยังมองว่ามันดีกว่าการอยู่ต่อไปในประเทศของตน

โดยเฉพาะชาวละตินอเมริกันซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของผู้พยายามเข้าไปอยู่ในสหรัฐดังกล่าว ทั้งนี้เพราะประเทศในอเมริกาใต้ ในหมู่เกาะแคริบเบียนและในอเมริกากลาง อีกทั้งเม็กซิโกนั้น ส่วนใหญ่ประสบปัญหาสาหัสทางเศรษฐกิจและสังคมมานาน ถึงกับในบางกรณีมีสภาพใกล้เป็นรัฐล้มเหลว เช่น เฮติและเวเนซุเอลา

ผู้พยายามเข้าไปตั้งต้นชีวิตใหม่เหล่านั้นมักมองกันด้วยว่า ถ้ารุ่นเขาไม่ถึงกับประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจตามความฝัน แต่มั่นใจว่ารุ่นลูกรุ่นหลานจะมีความมั่นคงตามความใฝ่ฝันของชาวอเมริกันในด้านการเป็นชนชั้นกลางอย่างแท้จริงแน่นอน.