ความยากของการพัฒนาระบบ 'Open Loop' อีกความท้าทายของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ความยากของการพัฒนาระบบ 'Open Loop' อีกความท้าทายของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

รัฐบาลอยู่ระหว่างการพัฒนา "แอปพลิเคชั่นทางรัฐ" เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ระบบที่ ครม.ให้พัฒนาคือการใช้ระบบ Open Loop เปิดให้ข้อมูลต่างๆ ทั้งภาครัฐและสถาบันการเงิน ธปท.ชี้ความยากของการพัฒนาระบบ ห่วงความเสี่ยงเชิงระบบ ส่วน DGA ชี้ต้องเชื่อมโยงข้อมูลจำนวนมาก

โครงการเติมเงิน 10,000 บาทในกระเป๋าดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในหลักการให้ดำเนินโครงการนี้ ซึ่งเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่จะทำให้นโยบายไปสู่การปฏิบัติได้จริงนอกจากเรื่องการหาแหล่งเงินมาทำโครงการก็คือการทำระบบเพื่อรองรับกับโครงการนี้ ซึ่งที่ประชุม ครม.ได้มีข้อสั่งการด้วยว่า ในการจัดทำระบบ พัฒนาและดำเนินการระบบ อาทิ การจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่าย ระบบการชำระเงิน ระบบตรวจสอบธุรกรรม โดยพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะระบบเปิด หรือ "Open Loop" ด้วย

สั่งยกระดับ "ทางรัฐ" เป็นซุปเปอร์แอปฯ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการทำระบบ Open Loop รัฐบาลกำลังกำลังพัฒนา และดำเนินการอยู่โดยมอบหมายให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (DGA) เป็นหน่วยงานหลักซึ่งจะใช้แอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ในการพัฒนา

ส่วนเรื่องแอปฯ "ทางรัฐ" ได้มีการพูดคุยมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในแอปฯที่คาดหวังว่า จะสามารถอัพเกรดเป็นซูเปอร์แอปฯ ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และDGA จะเป็นผู้รับผิดชอบ และดำเนินการดำเนินการพัฒนาระบบ เพื่อให้เชื่อมโยงความเป็นรัฐทั้งหมดเข้ามาอยู่ในแอพเดียวกัน เพื่อไปเป็นจุดเชื่อมในอนาคต เช่น ลูกค้าของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นธนาคารของอะไร จะสามารถมาเชื่อมกับระบบของรัฐ และสามารถเข้าสู่ระบบดิจิทัลวอลเล็ตได้

ความยากของการพัฒนาระบบ \'Open Loop\' อีกความท้าทายของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

 "การพัฒนาเรื่องนี้นั้นใช้งบประมาณไม่เยอะ ไม่ถึงพันล้านบาท และจะสามารถใช้ทันในไตรมาสที่ 4 ส่วนแอปเป๋าตังก็ยังคงเป็นหนึ่งในตัวเลือก ที่รัฐบาลก็กำลังดูอยู่แต่จะใช้ฐานข้อมูลที่เชื่อมเข้ามาในระบบ Open Loop ที่จะพัฒนาขึ้น" นายจุลพันธ์กล่าว

 

อย่างไรก็ตามในการพัฒนาระบบ Open Loop มาใช้งานในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้มีการแสดงความเป็นห่วงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแสดงความเห็นเข้ามาในเอกสารปรกอบการประชุม ครม.ซึ่งเกี่ยวกับการรองรับการใช้งานและป้องกันความเสี่ยง

แบงก์ชาติห่วงความเสี่ยงเชิงระบบ

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่าระบบสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีความซับซ้อนและต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากจึงต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีความเสถียร และมีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk)

ธปท. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศ มีข้อห่วงใยในการพัฒนาและดำเนินการระบบ ดังนี้

1. ควรใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบพร้อมเพย์ และ Thai QR Payment เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำช้อน ลดต้นทุนในการพัฒนาระบบ และใช้ประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่

2.ด้วยเงื่อนไขของการใช้สิทธิที่มีความซับซ้อนในหลายมิติ รวมทั้งการที่ระบบจะมีลักษณะเป็นระบบ Open Loop ที่ต้องเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการที่หลากหลาย จึงควรต้องกำหนดโครงสร้างและสถาปัตยกรรมของระบบที่ชัดเจน ตลอดจนวางแผนการพัฒนาและทดสอบที่รัดกุมครบด้วยเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ อันจะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศ

ทั้งนี้ควรคำนึงถึงมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของระบบและข้อมูล ความถูกต้องเชื่อถือได้ของระบบงานและข้อมูล ความต่อเนื่องของการให้บริการ การจัดการการเข้าถึงข้อมูลธุรกรรม และการป้องกันภัยไซเบอร์ที่เข้มงวด รวมทั้งมีกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของประชาชนและผู้ประกอบการ ที่ได้มาตรฐานตามระดับความเสี่ยงของภาคการเงินด้วย

3.ผู้พัฒนาระบบ (Developer) ต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาระบบการชำระเงินเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพัฒนาระบบที่เป็น Open-loop เพื่อให้ระบบสอดคล้องกับมาตรฐานข้างต้นและดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่จำกัด

ทั้งนี้ตัวอย่างที่ผ่านมา ทีมงานของธนาคารพาณิชย์ต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบการชำระเงินเป็นจำนวนมากและใช้เวลาในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี

4.ผู้ดำเนินการระบบ (Operator) ต้องสามารถดูแลระบบที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก และสามารถดูแลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้การใช้จ่ายของประชาชนมีความติดซัด หรือเกิดการใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของโครงการ ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องมีการยกเสิกธุรกรรมและเรียกคืนสิทธิจากประชาชนและร้านค้าจำนวนมาก และในกรณีที่มีการโจมตีทางไซเบอร์หรือมีการรั่วไหลของของธุรกรรมหรือข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องสามารถหยุดยั้งและแก้ไขเหตุได้อย่างทันท่วงที

 

ขณะที่หน่วยงานอย่าง DGA ให้ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบว่า จะต้องมีการเตรียมการหลายอย่างเพื่อรองรับการใช้งานดังนี้

1.หลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการออกแบบและพัฒนาระบบลงทะเบียนและตรวจสอบสิทธิสำหรับประชาชน และร้านค้าที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายๆมีความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อประเมินความพร้อมด้านทรัพยากรโดยเฉพาะกำลังคนของ DGA ในปัจจุบันแล้ว DGA สามารถที่จะพัฒนาโปรแกรมระบบในส่วนของการลงทะเบียนและตรวจสอบสิทธิ์ สำหรับประชาชนและร้านค้า โดยเป็นการพัฒนาต่อยอดจากแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" ที่ DGA เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน

DGA ห่วงเงื่อนไขไม่ชัดออกแบบ Open Loop ยาก

2.การพัฒนาระบบเพื่อรองรับการใช้จ่ายและการชำระเงินสำหรับโครงการฯ DGA และกระทรวงดิจิทัลฯได้ร่วมกันดำเนินการศึกษารูปแบบและแนวทางการพัฒนาระบบ โดยในเบื้องต้นพบว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการออกแบบและพัฒนาระบบเพื่อรองรับการใช้จ่ายและการชำระเงินที่เกี่ยวข้องกับ Open Loop ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมร่วมกับกระทรวงดิจิทัล และหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ก่อนทำการศึกษา กำหนดรูปแบบและแนวทางการพัฒนาระบบ รวมถึงการกำหนดหน่วยงานที่มีความพร้อมและมีความเชี่ยวชาญเพื่อรับผิดชอบงานพัฒนาระบบในส่วนนี้ต่อไป โดย DGA ได้นำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายฯ ทราบในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.แล้ว

3.ในการดำเนินการดังกล่าว มีความจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงควรมีการมอบหมายหน่วยงานหลักที่ต้องดำเนินการหารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาว่าข้อมูลต่าง ๆ เพื่อใช้สำหรับตรวจสอบ คัดกรอง ประชาชน่ และร้านค้า นั้นจัดเก็บโดยหน่วยงานใดข้อมูลอยู่ในรูปแบบดิจิทัลมีความครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน มีรายละเอียดเพียงพอที่จะนำไปใช้ในการประมวลผลข้อมูลเพื่อตรวจสอบสิทธิโดยอัตโนมัติได้หรือไม่ และประสานงานจนได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าวเพื่อมาใช้ในโครงการฯ ในเบื้องต้น ดังนี้

  • กลุ่มเป้าหมายประชาชนที่เข้าร่วมโครงการโดย กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายๆ
  •  ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการได้โดย กระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานผู้กำหนดนิยามร้านค้าขนาดเล็ก ประเภทร้านค้าขนาดเล็กและสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ
  • ร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการได้ ได้แก่ ร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี โดยกรมสรรพากร

 

4.ควรมีการมอบหมายให้สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (Big Data Institute :BD) ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ เข้าร่วมทำงานกับหน่วยงานหลักต่าง ๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน พร้อมที่จะส่งให้ DGA นำมาใช้ในการตรวจสอบเปรียบเทียบเพื่อคัดกรองประชาชน และร้านค้าต่าง ๆ ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯได้ทันที

5.ควรมีการมอบหมายให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดระบบเพื่อรองรับการดำเนินการตามโครงการฯ ให้สามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตน ด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service) (FVS) ของกรมการปกครองได้ เพื่ออำนวยความสะดวก ประชาชนในการพิสูจน์ และยืนยันตัวตน

และ 6.ควรมีการมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายฯหารือและจัดเตรียมข้อมูลกลุ่มประชาชนตามเกณฑ์สิทธิ อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น กับสถาบันการเงินทั้งธนาคารในกำกับของรัฐและธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบธุรกิจเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ได้ข้อมูล หลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการออกแบบและพัฒนาระบบเพื่อรองรับการใช้จ่ายและการชำระเงินซึ่งเกี่ยวข้องกับ Open Loopให้มีความชัดเจนในทางปฏิบัติมากขึ้น

จะเห็นว่าระบบดังกล่าวมีความซับซ้อน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ซึ่งต้องมีการทำความเข้าใจ เชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องการระยะเวลาในการพัฒนาระบบและทดลองก่อนที่โครงการจะเริ่มใช้ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมาในการใช้งานของประชาชนเมื่อถึงเวลาในการดำเนินโครงการจริง ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญอีกประการของโครงการนี้