‘ปัญหาผู้อพยพ’จากเม็กซิโก เสี่ยงจุดชนวนสงครามกลางเมืองในสหรัฐ

‘ปัญหาผู้อพยพ’จากเม็กซิโก เสี่ยงจุดชนวนสงครามกลางเมืองในสหรัฐ

‘ปัญหาผู้อพยพ’จากเม็กซิโก เสี่ยงจุดชนวนสงครามกลางเมืองในสหรัฐ ถ้ารัฐเท็กซัส ประกาศแยกตัวออกจากสหรัฐได้สำเร็จ อาจจะทำให้รัฐอื่น อย่างเช่น รัฐแคลิฟอร์เนียหรือรัฐฟลอริดาเลียนแบบ

Key Points

  • ผู้ว่าฯเท็กซัส ขัดขืนคำสั่งศาลรัฐบาลกลาง ประกาศกฎอัยการศึกและประกาศเอกราช พร้อมสั่งติดตั้งรั้วลวดหนามเพิ่มเพื่อไม่ให้ผู้อพยพชาวเม็กซิโกหลั่งไหลเข้ามาในรัฐเท็กซัสได้อย่างสะดวก
  • รัฐบาลกลางสหรัฐ สั่งกระทรวงกลาโหมและกองทัพส่งรถถัง และรถหุ้มเกราะ มุ่งหน้าไปชายแดนเท็กซัส
  • ผู้ว่าการรัฐในกว่า 25 รัฐ ออกมาแสดงจุดยืน เป็นแนวร่วมรัฐเท็กซัสและต่อต้านรัฐบาลกลาง
  • รัฐเท็กซัส จะฉลองวันประกาศอิสรภาพจากเม็กซิโก ซึ่งเกิดขึ้นวันที่ 2 มี.ค.ปี 1837 ถ้าสถานการณ์เลวร้ายลง รัฐเท็กซัสอาจฉวยโอกาสใช้วันนี้แยกตัวจากสหรัฐ
  • ถ้าเท็กซัส ประกาศแยกตัวออกจากสหรัฐได้สำเร็จ อาจจะทำให้รัฐอื่นอย่างเช่น รัฐแคลิฟอร์เนียหรือรัฐฟลอริดาเลียนแบบ

ขณะที่นักการเมืองอเมริกันกำลังขมักเขม้นกับการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อสะสมแต้มไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย. รัฐเท็กซัส ซึ่งมีปัญหาผู้อพยพเม็กซิโกเดินทางเข้าประเทศมานานก็กลายเป็นจุดฮอทสปอต เกิดปัญหาขัดแย้งระดับวิกฤตกับรัฐบาลกลาง จนต้องประกาศกฎอัยการศึก และตรึงกำลังทหารล้อมรอบ  ส่วนรัฐบาลกลางก็ส่งรถถัง-รถหุ้มเกราะมุ่งไปชายแดนเท็กซัส

ชนวนเหตุประกาศกฏอัยการศึก

 ‘เกร็ก แอบบอต’ ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส ประกาศกฎอัยการศึกพร้อมทั้งประกาศเอกราช เนื่องมาจากปัญหาขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหาชายแดนรัฐเท็กซัส กับประเทศเม็กซิโก และผู้ว่าฯรัฐเท็กซัส ก็สั่งให้ติดตั้งรั้วลวดหนามเพิ่ม รวมทั้งเพิ่มสิ่งกีดขวางเพื่อไม่ให้ผู้อพยพชาวเม็กซิโกหลั่งไหลเข้ามาในรัฐเท็กซัสได้อย่างสะดวก พร้อมทั้ง ประกาศดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่หลบหนีเข้าเมือง 


 

เดือนธ.ค.ปี 2566 เพียงเดือนเดียวก็มีผู้อพยพเดินทางผ่านเม็กซิโกเข้ามายังรัฐเท็กซัสจำนวนกว่า 300,000 คน

แต่การดำเนินการสกัดกั้นผู้อพยพที่รัฐเท็กซัสใช้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลกลางสหรัฐของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จึงดำเนินการส่งเรื่องฟ้องร้องต่อศาลฎีกา

เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลฎีกามีคำตัดสินอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางรื้อถอนบางส่วนของรั้วลวดหนามที่สร้างขึ้นตามแนวชายแดนติดกับเม็กซิโกออก ตามนโยบายเปิดพรมแดนของประธานาธิบดีไบเดน ที่ไม่ปกป้องรัฐเท็กซัสจากการบุกรุกของผู้อพยพลี้ภัย โดยให้เหตุผลว่า หลายปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้อพยพชาวเม็กซิโกเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเดโมแครต และมีส่วนให้เขาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2563 ทั้งยังจะเป็นฐานเสียงสำคัญของเขาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพ.ย.ปีนี้้ด้วย

กองทัพส่งรถถัง-รถหุ้มเกราะมุ่งชายแดนเท็กซัส

รัฐบาลกลางสหรัฐ สั่งกระทรวงกลาโหมและกองทัพส่งรถถัง และรถหุ้มเกราะ มุ่งหน้าไปชายแดนเท็กซัสที่มีทหารกองกำลังพิทักษ์ของรัฐเทกซัสประจำการอยู่และได้รับคำสั่งให้สกัดกั้นกองกำลังทหารรัฐบาลกลางตรงชายแดนติดกับเม็กซิโก

ทั้งนี้ ทุกรัฐในสหรัฐจะมีกองพิทักษ์รักษาชายแดน เรียกว่าเนชั่นแนล การ์ด แต่จะมีกำลังพลมากหรือน้อยแล้วแต่ความจำเป็น ในส่วนของรัฐเท็กซัสมีอยู่ประมาณ 102,000 คน

นอกจากนี้ รัฐบาลกลางสหรัฐ ยังสั่งห้ามไม่ให้ผู้อพยพเดินทางออกจากรัฐเท็กซัสไปสู่รัฐและหัวเมืองใหญ่ของสหรัฐอื่น ๆ

 

ผู้ว่าฯกว่า 25 รัฐหนุนจุดยืนรัฐเท็กซัส

ผู้ว่าการรัฐในกว่า  25 รัฐ ออกมาแสดงจุดยืน เป็นแนวร่วมรัฐเท็กซัสต่อต้านรัฐบาลกลาง และสนับสนุนแนวทางของรัฐเท็กซัสในการต่อสู้กับคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และขัดแย้งกับรัฐบาลกลาง

ทั้งนี้ มีกำลังทหารรวมจำนวน 102,000 นาย จากรัฐไอดาโฮ 4,300 นาย , ไวโอมิง 2,000 นาย , นอร์ทดาโคตา 3,500 นาย , เนแบรสกา 3,400 นาย , ไอโอวา 9,000 นาย , มิสซูรี 12,000 นาย , ลุยเซียนา 11,500 นาย , แอละแบมา 25,000 นาย , จอร์เจีย 11,100 นาย , เซาท์แคโรไลนา 10,000 นาย , โอไฮโอ 17,000 นาย

ส่วนทหารที่ขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ส่วนมากเป็นทหารอาชีพรับจ้างที่ประจำอยู่ต่างประเทศตามฐานทัพต่างๆ ประมาณ 850 แห่งทั่วโลก

ม็อบกองทัพแห่งพระเจ้าต้านการอพยพ

เมื่อวันเสาร์(3ก.พ.)ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงหลายร้อยคนรวมตัวกันทางตอนใต้ของรัฐเท็กซัส เพื่อชุมนุมต่อต้านสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการบุกรุกของผู้อพยพและเรียกร้องให้มีการควบคุมอย่างเข้มงวด บริเวณชายแดนสหรัฐที่ติดกับเม็กซิโก

ขบวนรถของกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งหลายคันติดป้ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จอดรวมกันในเมืองคิวมาโด ริมแม่น้ำรีโอแกรนด์ ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างสหรัฐกับเม็กซิโก ท่ามกลางการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหา จำนวนผู้อพยพข้ามพรมแดนที่สูงเป็นประวัติการณ์

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผู้คนหลายแสนคนจากอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และภูมิภาคที่อยู่ไกลออกไป เดินเท้าข้ามแม่น้ำรีโอแกรนด์ ด้วยความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในสหรัฐ แต่ผู้อพยพจำนวนมหาศาล กลายเป็นประเด็นที่กระตุ้นความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

ทั้งนี้ กลุ่มนักเคลื่อนไหวฝ่ายอนุรักษนิยม รวมถึงกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “We the People” ร่วมชุมนุมกันในเมืองคิวมาโด เพื่อแสดงความไม่พอใจการอพยพข้ามพรมแดน โดยหนึ่งในผู้จัดการประท้วงเรียกฝูงชนที่มารวมตัวกันที่นี่ว่ากองทัพแห่งพระเจ้า

“การอพยพข้ามพรมแดนอยู่นอกเหนือการควบคุม พวกเรากำลังถูกรุกราน และเราต้องควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้” ผู้ประท้วงคนหนึ่งที่ยืนเฝ้าทางเข้าของสถานที่ชุมนุม กล่าว

หากเท็กซัสแยกตัวสำเร็จ-รัฐอื่นอาจเอาอย่าง

วิกฤตระหว่างรัฐเท็กซัสกับรัฐบาลกลางสหรัฐใกล้ถึงจุดระเบิดเมื่อรัฐเท็กซัสประกาศว่าจะเป็นรัฐอิสระขอแยกตัวจากสหรัฐ และขณะนี้มีผู้ว่าการรัฐ ซึ่งสังกัดพรรครีพับลิกันสนับสนุนอยู่กว่า 25 คน

รัฐเท็กซัส มีกำหนดฉลองวันประกาศอิสรภาพจากเม็กซิโก ซึ่งเกิดขึ้นวันที่ 2 มี.ค.ปี 1837 เพราะฉะนั้นถ้าสถานการณ์เลวร้ายลงรัฐเท็กซัสอาจฉวยโอกาสใช้วันนี้แยกตัวจากสหรัฐ

เท็กซัส มีประชากร 34 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ2 รองจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีประชากร 40 ล้านคน แต่เท็กซัสมีพื้นที่ใหญ่กว่าและมีทรัพยากรมีค่าเช่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

วิกฤตภายในประเทศของสหรัฐครั้งนี้ อาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง และถ้าเท็กซัส ประกาศแยกตัวออกจากสหรัฐได้สำเร็จ อาจจะทำให้รัฐอื่นอย่างเช่น รัฐแคลิฟอร์เนียหรือรัฐฟลอริดาเลียนแบบ