'แอปทางรัฐ' กับความพร้อมที่จะใช้แจกเงิน 10,000 บาท

'แอปทางรัฐ' กับความพร้อมที่จะใช้แจกเงิน 10,000 บาท

ผมค่อนข้างจะแปลกใจพอควรกับการที่รัฐบาลประกาศว่าจะพัฒนาแอปใหม่เพื่อใช้ในโครงการแจกเงิน 10,000 บาท เพราะการพัฒนาโมบายแอปที่ใช้ในการทำธุรกรรมการเงินเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ที่แปลกใจไปกว่านั้นเมื่อมีการพูดถึงแอป “ทางรัฐ” ว่าจะนำมาใช้ต่อยอดเพื่อทำโครงการนี้

ผมค่อนข้างจะแปลกใจพอควรกับการที่รัฐบาลประกาศว่าจะพัฒนาแอปใหม่เพื่อใช้ในโครงการแจกเงิน 10,000 บาท เพราะการพัฒนาโมบายแอปที่ใช้ในการทำธุรกรรมการเงินเป็นเรื่องค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยในการทำธุรกรรม และการพัฒนาให้สามารถรองรับผู้ใช้จำนวนมากพร้อมๆ กัน ซึ่งหากจะต้องพัฒนาแอปใหม่ และรีบนำมาใช้ให้แล้วเสร็จภายในไม่กี่เดือนคงไม่ง่ายนัก

ที่แปลกใจไปกว่านั้นเมื่อมีการพูดถึงแอป “ทางรัฐ” ว่าจะนำมาใช้ต่อยอดเพื่อทำโครงการนี้ ผมเองเคยใช้แอปทางรัฐ แต่ไม่ได้ใช้เป็นประจำ เพราะมองว่าเป็นแอปที่เพียงให้ข้อมูลบางอย่างของหน่วยงานรัฐแก่เรา เช่น ข้อมูลทะเบียนรถ ข้อมูลใบสั่งจราจร ข้อมูลเครดิตบูโร ข้อมูลภาษีที่ดิน ข้อมูลกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และข้อมูลการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

แอปทางรัฐเป็นแอปที่เน้นใช้ในการดูข้อมูล เพราะเป็นการเชื่อมต่อไปเรียกดูข้อมูลจากหลายๆ หน่วยงาน ไว้ที่เดียวกัน เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กรมการปกครอง สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และสำนักงานประกันสังคม แต่แอปทางรัฐไม่ใช่แอปที่ประชาชนจะไปใช้บริการภาครัฐ

ผมรู้จักแอปทางรัฐครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ตอนลงทะเบียนใช้ ThaID ซึ่งเป็นแอปของกรมการปกครองที่ผมเข้าไปใช้เป็นประจำ แอป ThaID คือแอปที่ผมใช้ยืนยันตัวตนสำหรับเข้าใช้แอปอื่นๆ ThaID เป็นแอปที่มีบัตรประชาชนดิจิทัล และเป็นแอปที่ผมเข้าใช้บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับทะเบียนราษฎร เช่น การย้ายทะเบียนบ้าน การขอสำเนาทะเบียนบ้านออนไลน์ และเพราะมีแอป ThaID ทำให้ผมสามารถยืนยันตัวตนเข้าแอปทางรัฐได้ง่ายขึ้น

แต่เมื่อเข้าไปดูแอปทางรัฐก็เห็นเพียงข้อมูลบางอย่าง การใช้บริการอื่นๆ เช่น การชำระใบสั่งจราจร ผมก็เข้าไปที่แอปของกรมขนส่งทางบก หรือการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ก็ยังต้องพึ่งแอปของการประปาและการไฟฟ้า แถมยังไม่มีข้อมูลดังกล่าวในแอปทางรัฐ

แอปทางรัฐยังห่างไกลกับคำว่า SuperApp อย่างมาก เพราะความหมายของ Super App หรือที่อาจเรียกว่า Everyday App คือแอปที่ครอบคลุมทุกบริการ ทุกอย่างเอาไว้ด้วยกัน มีฟีเจอร์ทำธุรกรรมมากมาย เช่น การซื้อสินค้า การสั่งอาหาร การสนทนา รวมถึงการชำระเงิน ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องการให้ผู้ใช้งานล็อกอินเข้ามาใช้งานเป็นประจำทุกวัน ให้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งในชีวิตประจําวันของผู้คน

แต่ผมเชื่อว่าในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่จะเข้าใช้แอปทางรัฐน้อยครั้งมาก แม้แต่ผมที่เล่นแอปต่างๆ เป็นประจำ ก็ยังเข้าแอปทางรัฐเพียงแค่ไม่กี่ครั้ง เพราะไม่มีเหตุผลที่จะเข้าใช้บ่อยครั้งนัก

จุดเด่นของแอปทางรัฐอาจจะเป็นที่รวมหลายๆ บริการของรัฐไว้ที่เดียวกัน และสามารถเข้าสู่แอปได้โดยการยืนยันตัวตนผ่านแอป ThaID แต่ผมก็ยังมองไม่เห็นเหตุผลที่จะนำแอปนี้มาทำธุรกรรมการเงิน และหากต้องใช้จริงๆ คงต้องออกแบบระบบกันใหม่หมด ให้มีส่วนของผู้ใช้งานที่ง่ายกว่านี้ และต้องพัฒนาให้ระบบสามารถเชื่อมต่อไปยังบริการการชำระเงินอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การชำระค่าน้ำ ค่าไฟ รวมถึงค่าบริการอื่นๆ ของภาคเอกชน

การพัฒนาโมบายแอปสำหรับการชำระเงินหรือการทำแอปกระเป๋าเงินดิจิทัล มีความยากและซับซ้อนกว่าโมบายแอปอื่นๆ และผู้พัฒนาก็ต้องมีความชำนาญทางด้านนี้มาพอควร ซึ่งแอปทางรัฐ อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA  ซึ่งอาจไม่ใช่หน่วยงานที่เป็นสถาบันทางการเงินโดยตรง จึงต้องระมัดระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

การพัฒนาแอปการชำระเงินผ่านมือถือ ต้องมีมาตรฐานที่สูงกว่าการพัฒนาแอปทั่วไปในหลายประเด็น ดังเช่น

  • ความปลอดภัย: แอปพลิเคชันการชำระเงินผ่านมือถือจัดการกับข้อมูลทางการเงินที่ละเอียดอ่อน และต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวด 
  • การเชื่อมต่อกับระบบการชำระเงิน: แอปพลิเคชันกระเป๋าเงินดิจิทัลต้องเชื่อมต่อกับระบบการชำระเงินต่างๆ เช่น เครือข่ายบัตรเครดิต ธนาคาร และเกตเวย์การชำระเงิน 
  • ประสบการณ์ของผู้ใช้: การสร้างประสบการณ์ผู้ใช้ที่ราบรื่นและเข้าใจง่ายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับแอปพลิเคชันการชำระเงินผ่านมือถือ ผู้ใช้คาดหวังฟังก์ชันการชำระเงินที่รวดเร็ว เชื่อถือได้ และใช้งานง่าย 
  • ความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพ: แอปพลิเคชันการชำระเงินผ่านมือถือต้องมีความน่าเชื่อถือสูงและทำงานได้ดีภายใต้การใช้งานที่หนัก ธุรกรรมต้องได้รับการประมวลผลอย่างรวดเร็วและแม่นยำ แม้ในช่วงเวลาที่มีการใช้งานสูงสุด 

ยิ่งระบุว่าจะพัฒนาเป็น Super App ในแง่เทคนิคก็ไม่ได้ง่ายเพราะระบบต้องรองรับผู้ใช้จำนวนมาก ซึ่งจะมีความยากกว่าการพัฒนาแอปทั่วไป และหากถามว่าจะพัฒนาได้เร็วหรือไม่ ก็คงต้องเปรียบเทียบกับการสร้างตึกให้เสร็จภายในไม่กี่เดือน ถ้าเป็นตึก 2-3 ชั้น ก็อาจเทียบกับแอปขนาดเล็ก แต่ถ้าจะสร้างตึกสูงลิบฟ้าเป็นร้อยชั้นซึ่งก็คล้ายกับการพัฒนาแอปขนาดใหญ่ หากทำสำเร็จในไม่กี่เดือนก็ไม่น่าจะเป็นไปได้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการพัฒนาแอปไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ในด้านเทคนิคก็จะต้องใช้เวลานาน และกว่าจะสร้างระบบนิเวศให้แอปสักตัวหนึ่งกลายเป็น Super App จะต้องใช้เวลาเป็นหลายปี 

ผมเองก็ยังมองไม่ออกว่าเราจะพัฒนาแอปใหม่นี้ให้ใช้งานด้วยความรวดเร็วภายในไม่กี่เดือนได้อย่างไร แค่การลงทะเบียนผู้ใช้หลายล้านคนเข้าใช้งานก็ยังยากแล้ว ยิ่งต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ระบบเสถียรเมื่อมีผู้ใช้จำนวนมากแล้วก็ยิ่งยากขึ้นไปใหญ่ แต่ในเมื่อเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่อยากได้แอปตัวใหม่ ก็คงได้แต่ให้กำลังใจให้การพัฒนาแอปนี้ประสบความสำเร็จได้ แต่ถ้าทำไม่ทันจริงๆ และยังไม่มั่นใจ จะหันกลับไปใช้ “แอปเป๋าตัง” ก็ไม่ได้เสียหน้าอะไรหรอกครับ