มองศักยภาพ 'ไทย' ทำไมบิ๊กเทคโลก อยากทุ่มเงินลงทุน ‘ดาต้าเซ็นเตอร์’

มองศักยภาพ 'ไทย' ทำไมบิ๊กเทคโลก อยากทุ่มเงินลงทุน ‘ดาต้าเซ็นเตอร์’

ประเทศไทยพร้อมแค่ไหน? มีดีอย่างไร? ทำไมบิ๊กเทคคอมพานีโลกจึงพากันเข้ามาลงทุน และดูเหมือนว่าได้กลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของการลงทุนจากผู้ให้บริการด้านดิจิทัลและดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลก...

KEY

POINTS

  • ประเทศไทยกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการลงทุนจากผู้ให้บริการดิจิทัลและดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลก
  • AI Economy ผลักดันให้ผู้ให้บริการคลาวด์และดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ มองหาศูนย์ข้อมูลเพื่อจัดตั้งฐานปฏิบัติการ
  • ดาต้าเซ็นเตอร์มีความสำคัญกับธุรกิจในหลายมิติ

โลกยุคใหม่ที่ทุกอย่างล้วนขับเคลื่อนด้วยพลังดิจิทัล ธุรกิจต้องแข่งขันเรื่องไทม์ทูมาร์เก็ต แม้จะทราบกันดีว่าเทคโนโลยี คือ กุญแจสำคัญ และเบื้องหลังความสำเร็จ

แต่ความท้าทาย คือ ทำอย่างไร จะทำให้เครื่องมือทางเทคโนโลยี ที่เลือกมาใช้งานพร้อมตอบโจทย์ธุรกิจได้ตลอดเวลา และคำตอบของสมการนี้คือการมี “ดาต้าเซ็นเตอร์” หรือ “ศูนย์ข้อมูล” เป็นหนึ่งในตัวช่วย

ทุกวันนี้ดาต้าเซ็นเตอร์จึงมีความสำคัญกับธุรกิจในหลายมิติ หากอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ดาต้าเซ็นเตอร์ คือ สถานที่ทางกายภาพสำหรับเก็บเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่ระบบไอทีต้องการ เช่น เซิร์ฟเวอร์ ไดรฟ์พื้นที่เก็บข้อมูล รวมถึงอุปกรณ์เครือข่าย ทำหน้าที่ “จัดเก็บข้อมูลดิจิทัล” ขององค์กร 

หากถามว่า “ทำไมดาต้าเซ็นเตอร์ถึงมีความสำคัญ” นั่นก็เพราะทุกธุรกิจต้องการอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อเรียกใช้เว็บแอปพลิเคชัน นำเสนอบริการแก่ลูกค้า ขายผลิตภัณฑ์ หรือเรียกใช้แอปพลิเคชันภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบัญชี ทรัพยากรบุคคล และการบริหารจัดการภายใน ฯลฯ

เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นหรือมีสถานการณ์ที่การดำเนินงานด้านไอทีเพิ่มขึ้น ขนาดและจำนวนอุปกรณ์ที่จำเป็น ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามกัน ดังนั้นเป็นทางเลือกที่ดีกว่าที่จะนำอุปกรณ์ต่างๆ ไปเก็บไว้ยังสถานที่ที่เหมาะสม สามารถบริหารจัดการได้ดีกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า

ที่สำคัญ มีความปลอดภัยมากกว่า เพราะนอกจากหน้าที่โดยตรงด้านการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลแล้ว ยังมีความสำคัญอย่างมากกับความต่อเนื่องทางธุรกิจที่ทุกวินาทีมีคุณค่า ระบบล่มเพียงไม่นานอาจหมายถึงรายได้ที่สูญไปมหาศาล หลายธุรกิจจึงเลือกใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์จากผู้ให้บริการภายนอกเพื่อลดความเสี่ยงในส่วนนี้

อีกทางหนึ่งยุคแห่ง “AI Economy” ที่ AI และ Generative AI กลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีอิทธิพลต่ออุปสงค์ อุปทาน ขณะเดียวกันการเติบโตเชิงดิจิทัลที่เกิดขึ้นผลักดันให้ผู้ให้บริการคลาวด์และดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ มองหาศูนย์ข้อมูลเพื่อจัดตั้งฐานปฏิบัติการ

ทำไม ‘ไมโครซอฟท์’ เลือกลงทุนไทย?

การขยับตัวของ “ไมโครซอฟท์” ที่ประกาศแผนการลงทุนตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย นับว่าน่าจับตามองอย่างมาก เพราะกว่า 30 ปีแล้วที่ไมโครซอฟท์เข้ามาทำธุรกิจในไทย แต่เพิ่งเป็นครั้งแรกที่เลือกลงทุนในส่วนของดาต้าเซ็นเตอร์

เหตุผลหลักๆ น่าจะมาจากการขยายตัวของการใช้งานคลาวด์ บริการบนดิจิทัล การเติบโตของข้อมูลดิจิทัล โดยเฉพาะการมาของเอไอ และ Generative AI ที่ต้องการความสามารถในการประมวลผลระดับสูง เช่นที่ดาต้าเซ็นเตอร์แห่งนี้ถูกวางเป็นศูนย์ข้อมูลระดับภูมิภาค ที่จะเข้ามารองรับการให้บริการคลาวด์ในสเกลใหญ่ของไมโครซอฟท์

และต้องไม่ลืมว่า หากต้องการให้บริการลูกค้าที่มีความเข้มงวดเรื่องการจัดเก็บข้อมูล เช่น ธุรกิจการเงินการธนาคาร ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ตั้งอยู่ในประเทศย่อมมีข้อได้เปรียบมากกว่า ซึ่งไมโครซอฟท์ ไม่น่าจะมองข้ามเม็ดเงินที่มหาศาลจากการลงทุนทางเทคโนโลยีของธุรกิจกลุ่มนี้

คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า ด้วยศักยภาพของทำเลที่ตั้งรวมถึงนโยบายสนับสนุนด้านดิจิทัล ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการลงทุนจากผู้ให้บริการดิจิทัลและดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลก

กูเกิล - เทมาเส็ก คาดการณ์ว่า ปี 2568 มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทย (GMV) จะทะยานไปแตะ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และจะมีมูลค่าประมาณ 1-1.65 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2573

บิ๊กเทคโลกแห่ลงทุนไทย

นอกจากไมโครซอฟท์ ก่อนหน้านี้บิ๊กเทคคอมพานีโลกอย่าง “กูเกิล” ได้ขยายการลงทุนคลาวด์อินฟราสตรักเจอร์ “Cloud Region” ในไทยเพื่อรองรับความต้องการบริการคลาวด์ที่เติบโตต่อเนื่อง ทั้งกำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลใหม่ภายในประเทศเพื่อขับเคลื่อนบริการดิจิทัล

คาดการณ์ว่าการก่อตั้ง Cloud Region ในประเทศไทย จะช่วยยกระดับผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 4.1 พันล้านดอลลาร์แก่จีดีพีของประเทศ และสร้างงาน 50,300 ตำแหน่งในปี 2573

รวมไปถึง “อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส” หรือ “เอดับบลิวเอส” ที่ได้ประกาศแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ระดับโลกในประเทศไทย “AWS Asia Pacific (Bangkok) Region” ด้วยเงินลงทุนมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.9 แสนล้านบาทในระยะเวลา 15 ปี ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทในไทยจนถึงปัจจุบัน

หากการดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงบริการคลาวด์ต่างๆ ได้เร็วมากขึ้น ทำให้ทั้งนักพัฒนา สตาร์ตอัป และองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถเรียกใช้แอปพลิเคชันและให้บริการผู้ใช้ปลายทางจากศูนย์ข้อมูลที่ตั้งอยู่ในไทย รวมถึงการเก็บข้อมูลของตัวเองไว้ในประเทศไทย ทั้งเอดับบลิวเอสยังวางตำแหน่งประเทศไทยเป็นแถวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาค

ท้าทาย ‘นโยบาย - กฎระเบียบ’

ข้อมูลจากสมาคมดาต้าเซ็นเตอร์แห่งประเทศไทย(Thailand Data Centre Council หรือ TDCC) ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ทั้ง อาลีบาบา คลาวด์, หัวเว่ย คลาวด์, เทนเซ็นต์ คลาวด์, อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (เอดับบลิวเอส) และ กูเกิล คลาวด์ เข้ามาในประเทศไทย ดังนั้นการส่งเสริมและสนับสนุนสภาพแวดล้อมเพื่อกระตุ้นการขยายตัวของดาต้าเซ็นเตอร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทยจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียน แต่กลับเป็นมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มีการเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า

เนื่องจากไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งด้านของนโยบายและกฎระเบียบ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเดินหน้าไปสู่ยุค “AI Economy” ที่กำลังขยายตัว

เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยต้องรีบฉกฉวยโอกาส ต่อยอดจากข้อได้เปรียบทั้งเชิงภูมิศาสตร์ นโยบายสนับสนุนด้านดิจิทัลที่หลากหลาย ซึ่งทำให้ประเทศกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการลงทุนจากผู้ให้บริการดิจิทัลและดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลก...