เวทีดาวอส 2024 ตอกย้ำ ศักยภาพ ‘เทคโนโลยีเอไอ’

เวทีดาวอส 2024 ตอกย้ำ ศักยภาพ ‘เทคโนโลยีเอไอ’

ผมใช้ชีวิตอยู่กับ ‘เอไอ’ และ Generative AI (Gen AI) แทบทุกวัน ทั้งใช้ในการทำงาน และชีวิตประจำวัน และเชื่อว่า เอไอ เป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาเปลี่ยนแปลงโลก และต่อไปเอไอ จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนเช่นเดียวกับไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ต

ผมใช้ชีวิตอยู่กับ ‘เอไอ’ และ Generative AI (Gen AI) แทบทุกวัน ทั้งใช้ในการทำงาน และชีวิตประจำวัน และเชื่อว่า เอไอ เป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาเปลี่ยนแปลงโลก และต่อไปเอไอ จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนเช่นเดียวกับไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ต มนุษย์จะต้องอยู่กับเอไอทุกที่และทุกเวลา ผมเลยไม่แปลกใจที่ ไฮไลต์ของการประชุมเศรษฐกิจโลกที่ดาลอส 2024 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อยู่ที่เรื่องของเอไอ แทนที่จะเป็นเรื่องภาวะโลกร้อน เศรษฐกิจ และการเมืองแบบเดิม

การประชุมยังตอกย้ำถึงบทบาทอันโดดเด่นของเอไอ ที่มีอิทธิพลต่ออนาคตการทำงาน ความสร้างสรรค์ และการกำกับดูแลระดับโลก บทสนทนาและการอภิปรายตลอด 5 วัน (15-19 มกราคม ที่ผ่านมา) ของเหล่าผู้นำระดับโลก นักคิด และนวัตกรด้านเทคโนโลยี พุ่งเป้าไปที่เรื่องของเอไอ และการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เร่งด่วน ที่อาจเกิดขึ้นจาก เอไอประเด็นสำคัญที่หยิบยกขึ้นมากล่าวถึง คือ ศักยภาพอันมหาศาลของเอไอ ในการปฏิวัติระบบเศรษฐกิจและสังคม

ขณะเดียวกัน ก็เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการกำกับดูแลอย่างสมดุลและรอบคอบ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและการกำกับดูแล และยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ยุคเอไอ

การประชุมดาวอส 2024 แสดงให้เห็นถึงความแพร่หลาย และความสำคัญของ เอไอ ในสังคมยุคใหม่ ไฮไลท์สำคัญ ได้แก่ ศักยภาพในการปฏิวัติอุตสาหกรรม: เอไอมีศักยภาพเปลี่ยนแปลงการทำงาน ภาคอุตสาหกรรม และบริการ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างนวัตกรรม และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น การใช้เอไอในการพัฒนาการวินิจฉัยโรค แพทย์ทางไกล ยานยนต์ไร้คนขับ และการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ

ความท้าทายด้านจริยธรรม: การพัฒนาและใช้เอไอต้องคำนึงถึงประเด็นจริยธรรม เช่น อคติ ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และผลกระทบต่อแรงงาน สังคมจำเป็นต้องสร้างกรอบการกำกับดูแลที่มั่นคง ปลอดภัย และเป็นธรรม

การพัฒนาและทักษะ: ยุคเอไอต้องการการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้และทักษะเอไอเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง การลงทุนในด้านการศึกษาและฝึกอบรมจึงมีความสำคัญยิ่ง

นอกจากนี้ยังมีรายงานของไอเอ็มเอฟ ที่ระบุว่า แรงงาน เกือบ 40% ในโลกจะมีความเสี่ยงจากผลกระทบของเอไอ โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จะมีความเสี่ยงมากกว่า แต่ก็พร้อมรับมือและใช้ประโยชน์จากเอไอได้ดีกว่า ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา

ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วพบว่า ตำแหน่งงานในปัจจุบัน เกือบ 60% เกี่ยวข้องกับเอไอเนื่องจากเป็นงานที่ใช้ทักษะและองค์ความรู้ นอกจากนี้ครึ่งหนึ่งของตำแหน่งเหล่านี้ อาจได้รับผลกระทบด้านลบเพราะเอไอสามารถทำงานได้ดีกว่า ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งอาจใช้ประโยชน์ด้านประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้

สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา มีความเสี่ยงต่อผลกระทบ จากเอไอน้อยกว่า แต่ก็ยังขาดทักษะเพื่อดึงประโยชน์จากเอไอ สิ่งนี้อาจขยายช่องว่างดิจิทัลและความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น

เอไอ จะส่งผลต่อรายได้และความมั่งคั่งของประเทศ ซึ่งต่างจากยุคเครื่องจักรกลอัตโนมัติก่อนหน้านี้ ที่ส่งผลกระทบหนักสุดแก่แรงงานทักษะระดับกลาง แต่กรณีของเอไอมีแนวโน้มที่จะสามารถทดแทนแรงงานทักษะสูงด้วย แต่จะสามารถนำเอไอเสริมทักษะกลุ่มแรงงานระดับรายได้สูง ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มากขึ้น จึงขึ้นอยู่กับว่า เอไอจะทดแทนหรือเสริมทักษะให้กับแรงงานทักษะสูงมากแค่ไหน การจำลองด้วยโมเดลคาดการณ์ว่า หากเอไอเสริมทักษะได้มาก ผลตอบแทนแรงงานของทักษะสูงจะเพิ่มขึ้นเกินสัดส่วน ทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ยิ่งขยายใหญ่

การที่นำเอไอมาเสริมทักษะการทำงานอาจทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น และอาจมีความต้องการแรงงานเพิ่มเกินกว่าปริมาณงานที่ถูกเอไอทดแทน ผลลัพธ์คือรายได้เฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น

คนทำงานที่มีการศึกษาสูงจะสามารปรับตัวไปสู่ตำแหน่งงานที่ใช้เอไอเสริมทักษะในการทำงานได้ง่ายกว่า ส่วนแรงงานสูงวัยอาจปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่ต้องนำเอไอมาช่วยงานได้ยากกว่า ตัวอย่างจาก สหราชอาณาจักร และบราซิล พบว่า แรงงานระดับปริญญามีการเปลี่ยนจากตำแหน่งงานที่เสี่ยงต่อการถูกทดแทนด้วยเอไอไปสู่ตำแหน่งงานใหม่ที่ ใช้เอไอเสริมทักษะได้ง่ายกว่า

ในขณะที่แรงงานการศึกษาต่ำกว่า มีโอกาสปรับตัวน้อยกว่า แรงงานวัยเยาว์ที่ปรับตัวเก่งและคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ มีโอกาสใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ ได้ดีกว่า แต่แรงงานสูงวัยอาจพบปัญหาในการหาตำแหน่งงานใหม่ และยากต่อการปรับตัวกับเทคโนโลยี ย้ายที่ทำงาน และฝึกอบรมทักษะใหม่

ยังมีการสำรวจของ Oliver Wyman Forum ทีมวิจัยได้สำรวจความคิดเห็นของผู้คนกว่า 25,000 คน ใน 15 ประเทศ ครอบคลุมทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง พบว่า คนจำนวนมากยังมีความสับสนกับการใช้งาน Gen AI เชิงสร้างสรรค์ แม้ว่า 96% ของคนทำงานจะเชื่อว่าเอไอสามารถช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานในงานปัจจุบันได้ แต่ 60% ก็กลัวว่าในที่สุดมันจะทำให้พวกเขาถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี และมีเพียง 39% ที่เชื่อถือเอไออย่างแท้จริง

งานวิจัยคาดการณ์ว่า Gen AI จะช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก (GDP) ได้ถึง 20 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2030 และประหยัดชั่วโมงการทำงานได้ถึง 300,000 ล้านชั่วโมงต่อปี

การก้าวสู่ศักยภาพสูงสุดของเอไอขึ้นอยู่กับระดับพัฒนาของแต่ละประเทศ ดัชนีความพร้อมรับมือเอไอ ชี้ว่า ประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนาระดับสูง ควรลงทุนในนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์เอไอพร้อมสร้างกรอบกำกับดูแลที่เหมาะสม สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาที่ยังไม่พร้อม การวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาแรงงานทักษะดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกประเทศ

ดาวอส 2024 เป็นเวทีที่สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าและความท้าทายของเอไอในโลกปัจจุบัน สังคมไทยจำเป็นต้องติดตามความเคลื่อนไหวด้านเอไอเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคเอไออย่างมั่นคงและยั่งยืน