เมื่อ "พ.ร.บ.คู่ชีวิต" ไม่เท่ากับ "พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม" แตกต่างกันแค่ไหน?

เมื่อ "พ.ร.บ.คู่ชีวิต" ไม่เท่ากับ "พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม" แตกต่างกันแค่ไหน?

หลัง ครม. ไฟเขียว! ร่าง "พ.ร.บ.คู่ชีวิต" เปิดทางคู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ แต่มีหลายฝ่ายออกมาโต้แย้งว่าข้อกฎหมายดังกล่าว ยังไม่ครอบคลุมทุกสิทธิของคู่รักทุกเพศ และแตกต่างจากร่าง "พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม" ที่ให้สิทธิครบกว่า

จากกรณีที่ ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต  เพื่อเป็นกฎหมายที่รองรับความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรส  

แต่หลังจากนั้นไม่นาน มีหลายฝ่ายออกมาโต้แย้งถึงเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ดังกล่าวว่า ยังมีรายละเอียดบางส่วนที่ไม่รับรองสิทธิและสวัสดิการในอีกหลายๆ ด้านของคู่สมรสเพศเดียวกัน และมีการกล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเช่นกัน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนส่องรายละเอียดระหว่าง "พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม" และ "พ.ร.บ.คู่ชีวิต" ว่าในเนื้อหา หลักการ และการนำไปปฏิบัติจริงมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

เมื่อ \"พ.ร.บ.คู่ชีวิต\" ไม่เท่ากับ \"พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม\" แตกต่างกันแค่ไหน?

1. ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คืออะไร? มีหลักการอย่างไร?

สำหรับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นร่างข้อกฎหมายที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล รอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พิจารณาผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยพรรคก้าวไกลเคยเสนอไว้ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2563 

ล่าสุด 8 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล หลังคณะรัฐมนตรีเคยอ้างว่า ขอนำร่างไปศึกษาก่อน 60 วัน และคณะรัฐมนตรียังคงมีมติเพียงแค่การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต โดยอ้างว่ามีหลักการใกล้เคียงกัน

แต่ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลยืนยันว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ แตกต่างกัน ทั้งในเชิงหลักการและในเชิงปฏิบัติ ดังนี้ 

  • ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เป็นแนวทางที่ตรงจุดมากกว่า ในการยืนยันหลักการเรื่องความเสมอภาค ทุกคู่รักควรมีสิทธิและถูกปฏิบัติอย่างเสมอภาคกันอย่างแท้จริง
  • ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม มีความเรียบง่าย ให้คู่รักทุกคู่ทุกเพศ ถูกนิยามภายใต้คำว่า “คู่สมรส” เหมือนกันหมด จึงมีแนวโน้มที่จะถูกแก้ไขได้เร็วกว่าในเชิงกฎหมาย
  • ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม นิยามให้ทุกคู่รักเป็น “คู่สมรส” ทำให้ถ้าในอนาคตมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิหรือสวัสดิการของ “คู่สมรส” ก็จะทำให้ทุกคนได้รับสิทธิหรือสวัสดิการนั้นโดยอัตโนมัติ 

2. ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ล่าสุด ให้สิทธิอะไรบ้าง?

เมื่อวานนี้ (7 มิ.ย. 2565) ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดย กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นครอบคลุมทุกกลุ่มในทุกมิติเรียบร้อยแล้ว มีการรับรองและให้สิทธิ ดังนี้

  • คู่ชีวิตมีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
  • มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายในคดีอาญาเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา
  • สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
  • สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
  • สิทธิและหน้าที่ในการเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ หากอีกฝ่ายเป็นคนไร้ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
  • สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย 
  • สิทธิจัดการศพ 

สำหรับ สาระสำคัญ พ.ร.บ.คู่ชีวิต 11 ข้อ แต่หลักๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้

การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย รวมทั้งกำหนดบุคคลต้องห้ามไม่ให้จดทะเบียนคู่ชีวิต เช่น ทั้งสองคนเป็นญาติสืบสายโลหิตกัน เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา เป็นต้น

กรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล และเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะ เป็นต้น

เมื่อ \"พ.ร.บ.คู่ชีวิต\" ไม่เท่ากับ \"พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม\" แตกต่างกันแค่ไหน?

3. ส่องความแตกต่าง "พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม" VS "พ.ร.บ.คู่ชีวิต"

ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เป็นแนวทางที่ตรงจุดมากกว่า ในการยืนยันหลักการเรื่องความเสมอภาค เมื่อเทียบกับ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่เสี่ยงจะตอกย้ำการปฏิบัติกับกลุ่ม LGBTQIA+ แยกออกไป และเปิดบทสนทนาในการมาไล่พิจารณาว่ากลุ่ม LGBTQIA+ ควรได้รับสิทธิข้อไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะขัดแย้งต่อหลักการความเสมอภาค

อีกทั้ง แม้จะมีการเพิ่มสิทธิและสวัสดิการของคู่ชีวิตบางประการ หากเทียบกับร่างฉบับก่อน แต่ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ฉบับล่าสุด (อ้างอิงจากคำแถลงการณ์ล่าสุด และข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเนื้อหาจากร่างฉบับก่อน)

อาจยังมีเนื้อหาที่ไม่ครอบคลุมสิทธิหรือสวัสดิการบางประการที่คู่สมรสตามกฎหมายปัจจุบันได้รับ โดยยังมีความแตกต่างและบางสิทธิอาจไม่ได้รับเหมือนกับกรณีคู่ชายกับหญิง 100% อย่างเช่น

  • การหมั้น
  • การอุ้มบุญ
  • การขอสัญชาติไทยให้คู่รักที่เป็นชาวต่างชาติ
  • สิทธิประกันสังคม
  • สวัสดิการข้าราชการ
  • สิทธิลดหย่อนภาษี

---------------------------------------

อ้างอิง : พรรคก้าวไกล, matichonweekly