'ก้าวไกล' เชื่อ 'ทักษิณ' แจกเงินดิจิทัลเศรษฐกิจฟื้น 1.8% แต่ใช้งบ 3% ของ GDP

'ก้าวไกล' เชื่อ 'ทักษิณ' แจกเงินดิจิทัลเศรษฐกิจฟื้น 1.8% แต่ใช้งบ 3% ของ GDP

'ศิริกัญญา' เชื่อ 'ทักษิณ' บอกแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะทำเศรษฐกิจดีขึ้น แต่จะดีแค่ไหน เหตุละเลงงบ 3% ของ GDP โตแค่ 1.8% รู้ว่าเป็นโยบายเรือธงของรัฐบาล แต่มีอะไรเพิ่มอีกหลังจากนี้ 

เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2567 ที่ จ.เชียงใหม่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พูดถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า โครงการนี้จะสำเร็จลุล่วงเหมือนที่รัฐบาลตั้งใจหรือไม่ อยากให้รัฐบาลเตรียมแผนการไว้โดยละเอียด มีโร้ดแมปและไทม์ไลน์ที่ชัดเจน รวมถึงตอบคำถามเพื่อสร้างความั่นใจให้ประชาชน เพราะการจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ หัวใจคือต้องสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน จึงจะกล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย แต่หากมีความกังวลว่าตังค์จะเข้า เงินจะพอ แอปจะล่มหรือไม่ แบบนี้ประชาชนก็จะลังเลที่จะออกมาใช้จ่ายเงิน และเก็บออมเสียมากกว่า การกระตุ้นก็จะไม่เป็นผล เราก็กังวลไม่แพ้กัน ก็จะยิ่งทำให้รัฐบาลต้องทำงานหนักขึ้น วางแผนให้ชัดเจนมากขึ้น ยิ่งนายทักษิณเป็นห่วง คิดว่าน่าจะทำให้รัฐบาลเข้มข้นในการทำงานมากขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ดีที่พูดถึงเรื่องนี้

ส่วนที่นายทักษิณบอกว่าโครงการนี้จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เชื่อเช่นนั้นหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ก็เชื่อแบบนั้น เศรษฐกิจดีขึ้นแน่นอน ถ้าเราอัดเม็ดเงินลงไปได้ถึง 5 แสนล้านบาท แต่จะดีขึ้นแค่ไหน เพราะรัฐบาลประเมินเองก็ยังได้แค่สูงสุด 1.8% ทั้งที่อัดเม็ดเงินไป 3% ของจีดีพี เราไม่ห่วงว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแน่ แต่จะดีขึ้นหรือนานเท่าไหร่ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องกังวล

เมื่อถามว่า นายทักษิณหวังว่าโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นเรือธงของรัฐบาล น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เราทราบดีว่า นโยบายนี้เป็นเรือธงจริง ๆ หมดจากนี้ก็จำไม่ได้แล้วว่าอะไรที่เป็นเรือธงหลังจากนี้ จากที่ได้หาเสียงและแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ดังนั้น ทุกคนก็คงคาดหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เราอยากให้มีมาตรการที่ถูกที่ ถูกเวลา

ส่วนกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้ทีมกฎหมาย ตรวจสอบคำพูดของนายเศรษฐาที่ออกรายการของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าว นั้น น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีหรือไม่ ในเรื่องธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพราะเรากังวล เนื่องจากเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าตีความอย่างไร ในวัตถุประสงค์มาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ธ.ก.ส. และไม่คิดจะให้กฤษฎีกาตีความนั้น แต่นายกรัฐมนตรีก็รับลูกบอกว่า จะให้กฤษฎีกาดูให้ เราก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่เมื่อประชาชนมีความกังวล ก็ไม่ได้ละเลย ทำตามที่ประชาชนทวงถาม