สภาผู้บริโภคฯให้กำลังใจ 'พิรงรอง' หลังโดน 'ทรู' ฟ้อง จี้ถอนฟ้องโดยด่วน

สภาผู้บริโภคฯให้กำลังใจ 'พิรงรอง' หลังโดน 'ทรู' ฟ้อง จี้ถอนฟ้องโดยด่วน

สภาผู้บริโภคฯ แห่ให้กำลังใจ 'พิรงรอง รามสูต' กสทช. หลังศาลอาญาคดีทุจริตรับคดี 'ทรูไอดี' ฟ้องประพฤติมิชอบ ด้านเลขาธิการสภาผู้บริโภคฯ ตั้งข้อสังเกตอาจฟ้องปิดปาก ไม่ให้มีสิทธิในการทำหน้าที่หรือไม่ เรียกร้อง 'ทรู กรุ๊ป' ถอนฟ้องด่วน

จากกรณีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ยื่นฟ้อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณีการออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่าง ๆ ที่บริษัทส่งไปออกอากาศ ส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย และต่อมาศาลได้สั่งประทับรับฟ้องเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 นั้น

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 สภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค ได้เดินทางไปให้กำลังใจและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต ที่สำนักงานใหญ่ กทสช. นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สิ่งที่ควรตั้งคำถามคือการพิจารณาเรื่องร้องเรียนปกติเป็นความลับเหตุใดจึงหลุดรอดออกไปและเป็นที่รับรู้จนนำมาสู่การฟ้องคดี นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ควรสนับสนุนการทำหน้าที่ของกรรมการ พร้อมกับตั้งคำถามว่าข้อมูลที่รัวไหลดังกล่าวเกิดจากความตั้งใจเปิดเผยความลับในที่ประชุมทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนำไปฟ้องร้อง เรื่องนี้ความผิดพลาดส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากสำนักงานที่ไม่รักษาประโยชน์ของผู้บริโภคใช่หรือไม่

สภาผู้บริโภคฯให้กำลังใจ \'พิรงรอง\' หลังโดน \'ทรู\' ฟ้อง จี้ถอนฟ้องโดยด่วน

“พวกเราคิดว่ามันเป็นการฟ้องคดีเพื่อที่จะไม่ให้อาจารย์พิรงรองได้มีโอกาสทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทใช่หรือไม่ เพราะ การถูกฟ้องโดยบริษัททรูไอดี อาจเป็นการนำเอาไปอ้างไม่ให้ อาจารย์พิรงรองเข้าร่วมประชุมในวาระที่มีการนำกรณีที่เกี่ยวข้องกับบริษัททรูเข้าพิจารณาซึ่งอาจอ้างได้ว่า อาจารย์พิรงรองเป็นคู่กรณีในศาล ซึ่งขณะนี้ยังมีกรณีที่คาบเกี่ยวกันอีกหลายเรื่อง อย่างเช่น ขณะนี้กรณีการควบรวมกิจการของทรูและดีแทคซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในระดับรับทราบ แต่ขณะที่การควบรวมกิจการอินเทอร์เน็ตบ้านกับ 3BB ทำในระดับอนุญาต เพราะฉะนั้นเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจะเป็นเงื่อนไขที่ให้อาจารย์ไม่สามารถพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับบริษัทใช่หรือไม่” นางสาวสารีกล่าว

นางสาวสารี กล่าวอีกว่า สภาผู้บริโภครวมถึงองค์กรของผู้บริโภคอยากฝากถึงบริษัทฯ ให้พิจารณาถอนการฟ้องร้องดังกล่าว การรับเรื่องร้องเรียนเป็นเรื่องพื้นฐานตามสิทธิผู้บริโภคในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคปี 2522 ที่กำหนดไว้นานแล้วว่าผู้บริโภคมีสิทธิร้องเรียนและได้รับเยียวยาความเสียหายซึ่งหน่วยงานก็ต้องพิจารณาข้อร้องเรียนเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานมาก

สภาผู้บริโภคฯให้กำลังใจ \'พิรงรอง\' หลังโดน \'ทรู\' ฟ้อง จี้ถอนฟ้องโดยด่วน

ส่วน นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคฟ้อง กสทช. ให้รับผิดชอบต่อการทำหน้าที่เป็นเรื่องปกติ แต่กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องผิดปกติในแง่ที่ว่าผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของสำนักงาน โดยขั้นตอนผู้ประกอบการสามารถทำหนังสืออุทธรณ์มาหรือโต้แย้ง และส่วนใหญ่หากผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้ได้รับผลกระทบไม่พอใจก็มักจะไปฟ้องศาลปกครองและดูว่าศาลจะพิจารณาอย่างไรก็จะเป็นโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายได้ให้ข้อมูลและโต้แย้ง โดยหลายครั้งศาลก็อาจจะหาทางออกที่ลงตัว 

“เราเห็นความผิดปกติว่าทำไมมาฟ้องที่ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง และเจาะจงกรรมการบางท่านแล้วทำไมไม่ไปตามขั้นตอน มันมีขั้นตอนให้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็อดคิดไม่ได้ว่ามีประเด็นอะไรหรือเปล่าต่อกรรมการ ต่ออาจารย์พิรงรอง ซึ่งทำให้รู้สึกว่า บรรยากาศในการทำงานของกสทช.ในตอนนี้ก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว ถ้าเอกชนฟ้องการทำงานของกรรมการที่ตั้งใจทำงานก็จะทำให้ความศรัทธาเชื่อมั่นต่อกสทช.ในภาพรวมกระทบด้วย ในอดีตก็เคยมีการฟ้องลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ต่อมาเอกชนก็ถอนฟ้องไปเองเพราะไม่มีประโยชน์ที่จะฟ้อง”นางสาวสุภิญญา กล่าว

ขณะที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวถึงประเด็นที่เกิดขึ้นว่า เนื่องจากคณะอนุกรรมการไม่ได้มีอำนาจในการสั่งการ แต่เป็นเพียงมติที่มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินงานตามขั้นตอนของอนุกรรมการฯ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง การออกจดหมายถึงผู้รับใบอนุญาตเป็นอำนาจของสำนักงาน ซึ่งอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายให้แจ้งผู้รับใบอนุญาตช่องรายการ

“มีมติจริง แต่การออกหนังสือเป็นหน้าที่ของสำนักงาน” ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรองกล่าว

ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนั้นเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่อนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมและยังไม่ชัดเจนว่าทีวีบ๊อกซ์เป็นอย่างไร ท้ายที่สุดมีความไม่เท่าเทียมของการรับใบอนุญาตหรือไม่รับอนุญาตระหว่างผู้ประกอบการทีวีบ๊อกซ์ต่าง ๆ จึงส่งคณะอนุกรรมการใบอนุญาตกิจการโทรทัศน์ ซึ่งที่ผ่านมา กสทช.ได้มีการเชิญตัวแทนจากทรูมาชี้แจง โดยทางทรูได้ส่งทรูวิชั่นมาชี้แจงแล้ว ในส่วนขั้นตอนทางกฎหมายนั้น ขณะนี้ศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องและประทับรับฟ้อง และต่อไปศาลจะนัดไต่สวนพยานในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 

“ที่ผ่านมาทำตามหน้าที่และกฎหมายทุกอย่าง แต่พยายามมองในแง่ดีว่าอาจจะเป็นความเข้าใจผิด ทำให้เกิดการฟ้องคดีในครั้งนี้” ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรองกล่าว

ทั้งนี้ เนื้อหาในแถลงการณ์แสดงจุดยืนของสภาผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีใจความว่า สภาผู้บริโภคเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ เป็นการกระทำเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค ดังนั้น การฟ้องคดีของบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด จึงเป็นการนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อมุ่งหวังที่จะระงับยับยั้งการปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลของกรรมการ กสทช.โดยอิสระ ในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคและประโยชน์สาธารณะ อาจเข้าข่ายของลักษณะการกระทำที่เรียกว่า “การฟ้องปิดปาก” ซึ่งผู้ฟ้องคดีอาจมิได้มุ่งผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับโทษทางกฎหมายอย่างแท้จริง แต่กระทำเพื่อเป็นการขัดขวางและหน่วงเวลาในการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จึงขอให้บริษัทฯ พิจารณาถอนฟ้องศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต โดยเร็ว