ไฟต์บังคับขยับ ครม. สลับฉาก ‘เศรษฐกิจ-ความมั่นคง’ ?

ไฟต์บังคับขยับ ครม.  สลับฉาก ‘เศรษฐกิจ-ความมั่นคง’ ?

การเมืองกำลังจะเริ่มกลับมาคึกคักอีกครา เมื่อแกนนำพรรคฝ่ายค้านกลับสู่สภาฯ ท่ามกลางสถานการณ์ที่บรรดารัฐมนตรีพรรครร่วมรัฐบาลไล่เช็คข่าวจะอยู่หรือไป และบรรดาบิ๊กเนมเริ่มขยับหวังเข้าสู่อำนาจ

Key Points :

  • รัฐบาล เศรษฐา เข้าสู่อำนาจใกล้ครบ 6 เดือน ตามสูตรของ "นายใหญ่" มักจะมีการปรับครม. รัฐมนตรี บางคนตอบแทนแล้วก็ต้องไป รัฐมนตรีบางคนผลงานดีได้ไปต่อ
  • โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทว่าประเทศยังวิกฤต เหตุผลหนึ่งคือเก้าอี้ รมว.คลัง ที่นายกฯ เศรษฐา นั่งควบ แต่ไม่มีเวลามาพอจะบริหารงานกระทรวง
  • มีกระแสข่าวว่า เศรษฐา พร้อมลุกจากเก้าอี้ขุนคลัง แต่มีกระทรวงใหญ่ให้ควบ จึงล็อกเป้าไปที่กระทรวงกลาโหม

ภารกิจหลักของรัฐบาลเพื่อไทย นำโดยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ตั้งแต่พลิกขั้วได้จัดตั้งรัฐบาล คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ           

ทว่า 5 เดือนผ่านไป กลับยังไม่เห็นแนวโน้มเศรษฐกิจไทยขาขึ้น หนำซ้ำยังเจอภาวะแทรกซ้อนจากภายนอก ทำให้นโยบายเรือธงในการหาเสียงที่ถูกตั้งความหวังเอาไว้สูง กลับเต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้ง แจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต แลนด์บริดจ์ ซอฟต์พาวเวอร์

หากย้อนไปดูสไตล์บริหารของเพื่อไทยตั้งแต่ 2 พรรคในอดีต ซึ่งมีวัฒนธรรมองค์กรในการประเมินผลงาน ครม.อย่างเข้มข้น จนทำให้เกิดการขยับปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีที่บริหารกระทรวงบ่อยครั้ง เพื่อให้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล นโยบายหาเสียงของพรรค เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว  ซึ่งเคยปรากฎให้เห็นมานักต่อนัก เพียง 6 เดือน ก็มีรัฐมนตรีถูกปรับพ้นตำแหน่ง มาถึงยุคนี้ ก็ไม่เว้น

อีกมุมหนึ่ง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในทางการเมือง มีรัฐมนตรีบางส่วนอยู่ในกลุ่ม"ต่างตอบแทน" ที่ลงมือลงแรงลงทุนและไม่ทิ้งพรรค เป็น สส. มาหลายสมัย แต่เมื่อชดใช้หนี้บุญคุณกันเรียบร้อยแล้ว การจะถูกขยับ สลับตำแหน่ง ปรับออก ปรับเข้า มาทดแทนกัน จึงเป็นเรื่องที่่เข้าใจกันได้ในพรรค

จึงเป็นเรื่องปกติที่ใกล้ครบวาระ 6 เดือน หรือครึ่งปี ที่รัฐมนตรีผลงานไม่เข้าตา อาจกลายเป็นเป้าถึงเขย่าใหม่

รัฐมนตรีวิ่งรักษาเก้าอี้

แม้นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” จะยืนยันเสียงแข็งว่า ไม่มีปรับคณะรัฐมนตรี และให้ฟังตัวเองเพียงคนเดียว แต่คนการเมืองบนกระดานอำนาจ ต่างรู้ดีว่า “เบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้า” ไม่ใช่ศูนย์กลางอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการนี้ หรือแม้แต่กำหนดเกมการเมือง

ทำให้มีความเคลื่อนไหวในช่วง 2-3สัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายรายต่อต่อสายตรงสอบถามสถานะของตัวเองจากผู้มีอำนาจตัวจริงว่าจะได้ไปต่อหรือไม่

บางรายได้รับการันตีไม่ถูกปรับออก จึงไม่ต้องวิ่งให้เหนื่อยแรง แต่บางรายไม่มีการันตีให้อยู่ต่อ จึงต้องดิ้นรนหาทางรอด ว่ากันว่า มีการต่อสายหา “นายหญิง” พลัดถิ่น ให้ช่วยล็อบบี้ ค้ำยันความมั่นคงของเก้าอี้ พร้อมคำมั่นว่า จะสร้างผลงานให้ดีกว่าเก่า

เวลานี้ รายชื่อรัฐมนตรีที่อยู่ในข่ายถูกขยับ มีตั้งแต่ระดับหัวแถว ควักทุนส่วนตัว รับผิดชอบกลุ่มผู้สมัครของพรรค ซึ่งเหตผลไม่ใช่แค่เรื่องผลงานเท่านั้น แต่เริ่มมีข่าวคนใกล้ชิดบรรดารัฐมนตรี บารมีเบ่งบาน ใช้อำนาจในทางมิชอบ 

ทว่า เก้าอี้หลักที่ถูกโฟกัส คือกระทรวงเศรษฐกิจ ที่เริ่มมีกระแสว่า นายกฯเศรษฐา แสดงเจตจำนงค่อนข้างชัดเจนว่า ภารกิจบนเก้าอี้นายกฯ ที่ต้องดูทุกเรื่อง จึงอาจไม่ขอควบ “รมว.คลัง” อีกต่อไป

"เศรษฐา"สละคลังหวังนั่งรมว.กลาโหม

เมื่อเก้าอี้ “ขุนคลัง” สำคัญต่อการบริหารงบประมาณ ความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพรัฐบาล แต่หากเป็นจุดอ่อน ย่อมส่งผลเสียต่อภาพรวม ดังนั้น เป้าของนายกฯเศรษฐาจึงโฟกัสมายัง “กลาโหม” ที่รายละเอียดในการบริหารน้อยกว่า

การข้ามฟากไปนั่งกระทรวงความมั่นคงอย่างกลาโหม เคยมีนายกฯพลเรือนควบตำแหน่งนี้ เพื่อช่วยเสริมบารมีผู้นำ ทั้ง ชวน หลีกภัย สมัคร สุนทรเวช รวมทั้งนายกฯหญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวััตร 

นักสังเกตการณ์ รายงานว่า มีบางครั้งที่นายกฯเศรษฐา เรียก พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้มารายงานความคืบหน้าสถานการณ์ด้านความมั่นคง โดยไม่ผ่าน “บิ๊กทิน” เจ้ากระทรวง

ดังนั้น คนที่เดือดร้อนจึงหนีไม่พ้น “บิ๊กทิน” เพราะเก้าอี้เบอร์หนึ่งเหล่าทัพยิ่งใหญ่เกินกว่าจะหวนกลับมานั่งกระทรวงเล็กได้ นอกเสียจาก “สุทิน คลังแสง”จะยอมลดเกรด มานั่งกระทรวงลำดับรองลงมา

ต้องจับตาว่านายกฯเศรษฐา จะเอาจริงมากน้อยแค่ไหน ในการวางมือจากกระทรวงเศรษฐกิจ แล้วมาคุมกระทรวงความมั่นคงแทน เพราะนั่นจะทำให้งานด้านนี้อยู่มือทั้งหมด เนื่องจากกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ภารกิจหลังฉากของ “นายใหญ่-นายหญิง” คือการตามหา “ขุนคลัง” ที่จะมาตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจให้สำเร็จ เพื่อฟื้นตัวเลขทางเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นบวก เพราะจะส่งผลโดยตรงกับความนิยมของ “เพื่อไทย”

ก่อนหน้านี้มีการปล่อยชื่อ กิตติรัตน์ ณ ระนอง และ พิชัย นริพทะพันธุ์ ออกมาเป็นตัวเต็ง-ตัววิ่ง แต่มีกระแสข่าวว่า “นายใหญ่” ไม่เชื่อฝีมือเท่าไร

ชื่อ "ปานปรีย์" โผล่นั่งขุนคลัง

ระยะหลังจึงมีกระแสข่าวว่า อาจโยก “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” รมว.ต่างประเทศ ให้มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ โดยมีโอกาสนั่งรองนายกฯ ควบ “รมว.คลัง” เพราะโดยเนื้องานแล้ว “ปานปรีย์” มีความถนัดด้านเศรษฐกิจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และอยู่ในทีมนโยบายของพรรคในช่วงก่อนเลือกตั้ง

"นพดล"เล็งเสียบ รมว.ต่างประเทศ

ส่วน “รมว.ต่างประเทศ” ที่อาจว่างลง เริ่มมีคนคาดหวัง เดินเกมเปิดตัวท้าชิงเก้าอี้ โดยเฉพาะ “นพดล ปัทมะ” ประธานคณะกรรมธิการต่างประเทศ ที่ขยับออกงาน รวมถึงแสดงความคิดเห็นพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ภายหลังมีการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลและผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในอ่าวไทย

แม้ชื่อ “นพดล” จะเคยถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีกรณีลงนามแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เมื่อปี 2551 แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองมีมติให้ยกฟ้องไปเมื่อปี 2558

ในห้วงเวลานี้ “นพดล” จึงปรากฏตัวในหลายเวที เพื่อแสดงตนให้ “นายใหญ่” เห็นว่าควรเลือกใช้บริการคนที่ทำได้ ทำงานเป็น และข้อครหาต่างๆ ได้หายไปแล้ว และพยายามเคลียร์ตัวเองทุกวงสนทนาว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา คือสิ่งที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ไฟต์บังคับการปรับครม.ไม่เพียงหวังผลต่องานของฝ่ายบริหารเท่านั้น แต่เพื่อไทยในฐานะแกนนำ ยังมีโจทย์สำคัญคืองานในฝ่ายนิติบัญญัติ หรืองานในสภาฯ ทั้งงานด้านกฎหมาย ภารกิจแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นนโยบายหลักในการหาเสียง 

ที่สำคัญทีมองครักษ์พิทักษ์นายกฯ และรัฐมนตรีในสภาฯ ที่เพื่อไทยแทบไม่เหลือ สส.ฝีปากกล้าที่มีคุณภาพ เพราะตั้งแต่อยู่ในขั้วรัฐบาล ผลงานในสภาฯอ่อนลงอย่างชัดเจน เหตุผลหลักคือ “ขุนพลสภาฯ” ได้รับการตอบแทนให้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกันเกือบทุกราย และบางส่วนกลายเป็น สส.สอบตก ชนิดผิดคาด 

ดังนั้น จึงต้องจับตาการปรับแนวรบของเพื่อไทยไปในคราวเดียวกันว่า ทั้งงานฝ่ายบริหาร นายกฯจะตัดสินใจลี้ภัยการเมืองไปอยู่ในเซฟโซน โดยสลับฉากจากงานเศรษฐกิจ ไปคุมด้านความมั่นคง แล้วเปิดทางให้มืออาชีพเข้ามาช่วยหรือไม่  

รวมถึงงานสภา จะวางคนอย่างไรในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ที่ต้องปกป้องผู้นำพรรค ทั้งนายกฯ ปัจจุบัน และอนาคตนายกฯ คนถัดไป 

การเมืองกำลังจะเริ่มกลับมาคึกคักอีกครา เมื่อแกนนำพรรคฝ่ายค้านกลับสู่สภาฯ ท่ามกลางสถานการณ์ที่บรรดารัฐมนตรีพรรครร่วมรัฐบาลไล่เช็คข่าวจะอยู่หรือไป และบรรดาบิ๊กเนมเริ่มขยับหวังเข้าสู่อำนาจ