‘พิชัย’ นั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล จับตา เศรษฐา แบ่งงานรองนายกฯ - รมต.ใหม่

‘พิชัย’ นั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล จับตา เศรษฐา แบ่งงานรองนายกฯ - รมต.ใหม่

“เศรษฐา”ปรับ ครม.ใหม่ “พิชัย” รับบทหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลเคลื่อนนโยบายการคลังและงบประมาณ เร่งดันนโยบายเงินดิจิทัล จัดสรรงบประมาณปี 2568 จับตา “เศรษฐา” แบ่งงานใหม่ให้รองนายกฯ จับตาผลกระทบนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก

KEY

POINTS

  • การปรับ ครม.ครั้งล่าสุดของรัฐบาลเศรษฐา มีพิชัย ชุณหวชิร เข้ามาเป็น รองนายกฯและรมว.คลังเข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ 
  • โจทย์เศรษฐกิจของพิชัยในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจมีหลายข้อทั้งเงินดิจิทัล การเร่งนโยบายการคลัง การผลักดันการใช้จ่ายงบประมาณ และการสร้างเชื่อมั่นให้ตลาดทุน 
  • จับตาการแบ่งงานใหม่ของเศรษฐา ให้กับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีใหม่ โดยเฉพาะหน่วยงานเศรษฐกิจอย่างบีโอไอ และสภาพัฒน์ ซึ่งแต่เดิมมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล 

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุดหลายฝ่ายจับตาที่กระทรวงเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สละเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เหลือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตำแหน่งเดียวโดยไม่ได้ควบกระทรวงใด

โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิระ นั่งในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นตำแหน่งของรองนายกรัฐมนตรีที่จะเข้ามาดูแลงานเศรษฐกิจในภาพรวมของรัฐบาล ควบคู่ไปงานบริหารและขับเคลื่อนนโยบายการคลังของประเทศ

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2567 โดยมีการแต่งตั้งรัฐมนตรี ดังนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม , นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นางสาวจิราพร สินธุ์ไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง , นายเสริมศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา , นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ , นางสาวสุดาวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายสมศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข , นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

ในขณะที่นายปานปรีย์ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในวันที่ 28 เม.ย.2567 โดยระบุในหนังสือลาออกว่า การปรับให้พ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและเหลือเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่ใช่เพราะไม่มีผลงาน

การลาออกของนายปานปรีย์ย่อมส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นของทีมเศรษฐกิจรัฐบาล โดยที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศถือว่ามีบทบาทตามนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ซึ่งได้ผลักดันนโยบายฟรีวีซ่ากับหลายประเทศเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว รวมถึงการเจรจาเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการส่งออก

จับตาแบ่งงานรองนายกฯเศรษฐกิจ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าที่ผ่านมาใน “รัฐบาลเศรษฐา1” ยังไม่มีรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านเศรษฐกิจโดยตรง ขณะที่นายกรัฐมนตรีที่ควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ไม่ได้ทำหน้าที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจเต็มที่ เพราะมีภารกิจมากทั้งในการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งการเดินทางไปโรดโชว์ต่างประเทศและต่างจังหวัด

สำหรับการแบ่งงานด้านเศรษฐกิจทั้งหน่วยงานที่กำกับดูแล และการเป็นประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่สำคัญที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมอบหมายรองนายกรัฐมนตรี 2 คน คือ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 

ทั้งนี้ หลังการปรับ ครม.ล่าสุดนายปานปรีย์ ได้ลาออกจากตำแหน่ง จึงต้องจับตาดูว่านายกรัฐมนตรีจะเสนอ ครม.ให้แบ่งงานให้รองนายกรัฐมนตรีอย่างไร ซึ่งรวมไปถึงการแบ่งงานใหม่ให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่เข้ารับตำแหน่งใหม่

สำหรับนายปานปรีย์ ในช่วงที่ผ่านมากำกับดูแล กระทรวงการต่างประเทศ , กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา , กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน , สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) , สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

รวมทั้งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการแทนตามกฎหมาย ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน , คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล , คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ , คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 

คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม , คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน , คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม  และคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการเทียบตำแหน่ง

รวมทั้งได้รับมอบหมายให้เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ , คณะกรรมการเร่งรัดการปฏิบัติราชการ , คณะกรรมการบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษถนนราชดำเนิน

คาด“พิชัย”คุมหน่วยงานเศรษฐกิจ

ส่วนคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจสำคัญที่นายกรัฐมนตรีต้องมอบหมายแทนนายปานปรีย์ ได้แก่ บีโอไอ ซึ่งอาจมอบหมายให้นายพิชัยในฐานะรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นประธาน หรือนายกรัฐมนตรีอาจจะเป็นประธานบอร์ดบีโอไอเอง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมและดึงดูดการลงทุน หรืออาจมอบให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้กำกับดูแลบีโอไอ 

ขณะที่หน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญ คือ สศช.มีความเป็นไปได้สูงที่นายกรัฐมนตรีจะมอบหมายให้นายพิชัยในฐานะรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นผู้กำกับดูแล

โจทย์ท้าทาย“พิชัย”ฟื้นเศรษฐกิจ

สำหรับบทบาทของนายพิชัย ที่จะเข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจมีภารกิจเร่งด่วนหลายด้านรออยู่ คือ 

1.บทบาทของกระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งแม้จะมีเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จากพรรคเพื่อไทย เข้ามาขับเคลื่อนโครงการนี้ แต่ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพิชัยจะต้องมีส่วนร่วมผลักดันโครงการนี้

นอกจากนี้กระทรวงการคลังจะเป็นกระทรวงสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายที่พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าว่าตลอด 4 ปี การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5%

ดันนโยบายคลัง-เร่งงบฟื้นเศรษฐกิจ

2.การขับเคลื่อนนโยบายการคลังที่เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอยู่นั้นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เสียงข้างมากมองว่ายังไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจ  ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องใช้นโยบายการคลังควบคู่กับเครื่องมืองบประมาณ ซึ่งงบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีผลบังคับใช้แล้ว 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางจะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายและตัดงบประมาณที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ขณะที่งบประมาณปี 2568 อยู่ช่วงการจัดทำและมีกำหนดเข้าสู่การพิจารณาภายในเดือน พ.ค.นี้

3.การใช้กลไกการบริหารที่มีเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมามีข้อเสนอใช้มาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน เช่น การพิจารณาลดภาษีสรรพสามิตดีเซลหากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูง 

4.การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งต้องใช้กลไกของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบาลในการเข้ามาช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว และระดับหนี้ครัวเรือนของคนไทยยังอยู่ในระดับสูงมาก