เปิดแฟ้ม 37 ปี 'วุฒิสภา' ซักฟอก '2 รัฐบาล'

เปิดแฟ้ม 37 ปี 'วุฒิสภา' ซักฟอก '2 รัฐบาล'

บทบาท ของ "สว." ต่อการอภิปรายทั่วไป ผ่านมา 37 ปี วุฒิสภา ใช้สิทธิ์ไป 4 รอบในช่วง รัฐบาล “อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์” จับตา  ยุค “รัฐบาลเศรษฐา”ครั้งที่ 5 ส่อขยายผลการเมือง 

KeyPoints 

  • อำนาจ วุฒิสภา อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติรัฐบาล เกิดขึ้นตั้งแต่ รธน.40 ถือเป็นมาตรการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
  • จากรธน.40 ถึงปัจจุบัน รวม 37 ปี มีการเปิดอภิปรายทั่วไปแล้ว4 ครั้ง
  • โดย2ครั้งหลัง ถูก "ก๊วน40สว." พุ่งเป้าไปที่ "โครงการรับจำนำข้าว" ถือเป็นสารตั้งต้น นำไปสู่การตรวจสอบ และเช็คบิลนักการเมืองหลายราย
  • ครั้งที่5ที่อาจจะเปิดฉาก "วุฒิสภา" ในก๊วน40สว.เดิมพุ่งเป้าไปที่แจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ตและยุติธรรมสองมาตรฐาน 

การยื่นญัตติของ “วุฒิสภา” ชุดปัจจุบัน เพื่อทิ้งทวนผลงานก่อนหมดหน้าที่ในเดือน พ.ค.2567 นี้ แม้ถูกค่อนแคะว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 กำหนดให้ใช้เกณฑ์เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คน จากจำนวน สว.ทั้งสิ้น 249 คน

เพราะ สว.ปัจจุบัน ส่วนใหญ่เปลี่ยนท่าทีไปสนับสนุน นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และ รัฐบาลเพื่อไทย ดูได้จากเสียงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือน ส.ค.66 ที่ผ่านมา

อีกทั้งเมื่อดูสาระของ “ญัตติอภิปรายทั่วไป” ใน 7 ประเด็นหลัก และ 27 ข้อย่อย ไม่มี สว.ที่กล้าเปิดหน้าหาเรื่องใส่ตัวในวาระสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากมีรายละเอียดที่หวั่นว่า จะเกิดปัจจัยที่ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์นำไปสู่ ความขัดแย้งทางการเมือง

อีกทั้งในห้วง 4 เดือนที่เข้ามาบริหารบ้านเมือง หลายเรื่องรัฐบาลเศรษฐายังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

เปิดแฟ้ม 37 ปี \'วุฒิสภา\' ซักฟอก \'2 รัฐบาล\'

ทว่า ฝั่งที่ไฟต์เรื่องนี้ นำโดย “กรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน” ที่มี เสรี สุวรรณภานนท์ จเด็จ อินสว่าง เป็นแกนนำ ยังคาดหวังว่าวุฒิสภาจะได้โอกาสทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล และชี้ช่องการติดตามปัญหาที่คาดการณ์ว่าจะกระทบต่อประเทศและประชาชนในอนาคต เหมือนที่เคยเกิดมาแล้วในยุครัฐบาล “ไทยรักไทย” เช่น โครงการรับจำนำข้าว

กลไกที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ “สว.” มีหน้าที่กำกับการบริหารราชการแผ่นดินรัฐบาล ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังพบว่าผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้มี "มาตรการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน" โดย "วุฒิสภา" เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ซึ่งกำหนดบทบัญญัติทำนองเดียวกัน ให้อำนาจ สว.มีสิทธิเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้คณะรัฐมนตรี แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินได้ โดยไม่มีการลงมติ

จากการบันทึกข้อมูลของ “คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ” สำนักงานเลขาธิการสภาฯ พบว่า ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ถึงปัจจุบัน รวม 37 ปี พบว่าวุฒิสภาได้ใช้สิทธิขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลรวม 4 ครั้ง

ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 2552

ในสมัยรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” รอบนั้น สว.สมชาย แสวงการ  และคณะได้ใช้กลไกรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ให้รัฐบาลชี้แจงในประเด็นปัญหาสำคัญ โดยพุ่งเป้าไปยังประเด็นการเมือง กรณีของการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ที่บุกล้มการประชุมอาเซียนซัมมิท ที่พัทยา รวมถึงกรณีกล่าวหาว่ามีคนเบื้องหลังการกระทำของคนเสื้อแดง เป็นอดีตนายกฯที่หนีไปต่างประเทศ คือ “ทักษิณ ชินวัตร” พร้อมกับโยงไปยังก๊วนที่แฝงแนวคิดล้มสถาบัน โดยขณะนั้น “อภิสิทธิ์” และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาชี้แจงด้วยตนเอง

เปิดแฟ้ม 37 ปี \'วุฒิสภา\' ซักฟอก \'2 รัฐบาล\'

ครั้งที่สอง ในเดือน มี.ค.2553  

สว. 2 กลุ่มได้ขอใช้สิทธิตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ ซักฟอก “รัฐบาลอภิสิทธิ์” อีกครั้ง คือ กลุ่มของ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และ ก๊วน 40 สว. นำโดย คำนูณ สิทธิสมาน สมชาย แสวงการ  รสนา โตสิตระกูล ตั้งถามถึงวิกฤติในบ้านเมือง โดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช.ในพื้นที่กทม.

เปิดแฟ้ม 37 ปี \'วุฒิสภา\' ซักฟอก \'2 รัฐบาล\'

โดยการชุมนุมครั้งดังกล่าว แม้เจตนาของการเรียกร้องต้องการให้ยุบสภาฯ ทว่า มีประเด็นที่ซ่อน ที่ก้าวล่วงถึงการแบ่งแยกชนชั้น ล้มระบอบอำมาตยาธิปไตย พร้อมแฝงขบวนการทางการเมืองที่แปลกแยกไปจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งต่อมาถูกขยายไปเป็น "ขบวนการล้มเจ้า”  

ครั้งที่สาม เกิดขึ้น เมื่อ 23 พ.ย.2555 ต่อเนื่องอีกครั้ง วันที่ 28 พ.ย.2555

ในช่วง “รัฐบาล-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” โดยยุคนั้น สว. เปรียบเหมือนปลา 2 น้ำ คือ มาจากการสรรหา และเลือกตั้ง ทำให้กลไกการตรวจสอบรัฐบาลมีทั้งฝ่ายจ้องเอาตาย และ ฝ่ายปกป้อง

จะเห็นได้จากการเสนอญัตติอภิปรายทั่วไป ใน 2 ก๊วน ยื่นพร้อมกัน เหมือนเป็นการแก้เกม โดยญัตติแรก ตรวจสอบแบบเจาะจงในโครงการของรัฐบาล คือ การรับจำนำข้าวทุกเมล็ด งบประมาณ 4.08 แสนล้านบาท เสนอโดย “ก๊วน 40 สว.” และญัตติของ “วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์” ประเด็นการบริหารราชการแผ่นดินที่ส่อว่าจะเกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง ซึ่งพบว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารราชการทั่วไป ทางด้านสังคม กระบวนการยุติธรรม คุณภาพชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ

ขณะนั้น “นายกฯยิ่งลักษณ์” ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภาด้วยตนเอง และยังส่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงรายละเอียด ทั้ง บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ

เปิดแฟ้ม 37 ปี \'วุฒิสภา\' ซักฟอก \'2 รัฐบาล\'

ตอนหนึ่งของการชี้แจงจากปากคำของ “ยิ่งลักษณ์” ยืนยันว่านโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล ไม่มีประเด็นการทุจริต ส่วนที่เป็นข้อกังวลได้ให้หน่วยงานของรัฐบาล และกลไกเฉพาะของรัฐบาลเพื่อติดตามป้องกันเหตุ

ในการอภิปรายครั้งนั้น แม้จะไม่สามารถสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ แต่ในภาคการเมืองในสภาฯ ไม่หยุดขุดคุ้ย และนำไปขยายผลต่อ ทั้งใน กมธ.ศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่ตรวจสอบแล้วพบความผิดปกติ และนำเรื่องส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ เช่นเดียวกับ กมธ.ของสภาฯ ที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว โดยมี “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม”เมื่อครั้งเป็น สส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้น ตั้งประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ และส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. เช็คบิล

เปิดแฟ้ม 37 ปี \'วุฒิสภา\' ซักฟอก \'2 รัฐบาล\'

แม้การสืบสวน ตรวจสอบและพิพากษาจะกินเวลานาน แต่ผลลัพท์ของเรื่องนี้จาก “สารตั้งต้น” ในการอภิปรายทั่วไปของวุฒิสภารอบนั้นทำให้ รัฐมนตรี และพ่อค้าหลายคนถูกพิพากษาให้จำคุกในปัจจุบัน

การตรวจสอบนโยบายประชานิยมที่สร้างความเสียหายรอบนั้น ถูกต่อยอดเป็นนบทบัญญัติ “ปราบโกง” ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ให้องค์กรอิสระ มีบทบาทตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้หาเสียง-นโยบายรัฐบาลที่ส่อว่าจะกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เหมือนเป็นการระงับยับยั้งความเสียหายในอนาคต

ทว่านัยทางการเมืองเพื่อไม่ให้ “นักการเมือง” ใช้ช่องทางทุจริตเชิงนโยบายเพื่อสร้างแต้มต่อทางการเมืองและแฝงไปด้วยการเอื้อประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ต่างตอบแทนจากนโยบาย

กระทั่งครั้งที่สี่ เมื่อ ต.ค. 2556

ครั้งนั้น  พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี และคณะ ได้ซักฟอก “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” อีกครั้ง โดยพุ่งเป้าไปที่ ปมปัญหาด้านการเกษตร โครงการรับจำนำข้าว ที่ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ เกิดหนี้สาธารณะ พร้อมชี้ให้เห็นถึงนโยบายประชานิยมที่เป็นมะเร็งร้ายของบ้านเมือง

ส่วนครั้งที่ 5 ในปี 2567 นี้ ความพยายามยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา ในรัฐบาล-เศรษฐา เกิดขึ้นอีกครั้ง ต้องจับตาว่าจะเกิดมรรคผลใดในการเมืองหรือไม่ โดยเฉพาะปม แจกเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต ที่ฝ่ายการเมืองตั้งป้อมว่า ส่อซ้ำรอยโครงการประชานิยม อย่างรับจำนำข้าว

เปิดแฟ้ม 37 ปี \'วุฒิสภา\' ซักฟอก \'2 รัฐบาล\'

ต้องจับตาด้วยว่าการซักฟอกรัฐบาลของวุฒิสภา ชุดที่ 12 จะถูกขยายผล จนนำไปสู่จุดเปลี่ยนของรัฐบาลเพื่อไทย และนายกฯ เศรษฐา หรือไม่.