ฉากจบ ‘คนเดือนตุลา’ 50 ปี บาดแผล และความแตกแยก

ฉากจบ ‘คนเดือนตุลา’ 50 ปี บาดแผล และความแตกแยก

50 ปี 14 ตุลา ตามหา ‘คนเดือนตุลา’ ที่หายไปกับกาลเวลา สงครามเหลือง-แดง บาดแผลใหญ่กินใจ ยากที่จะกลับมาร่วมสู้ร่วมฝันเหมือนวันวาน

พ.ศ.นี้ ‘คนเดือนตุลา’ ภาคการเมืองอ่อนระโหยโรยแรง สวมเสื้อพรรคผิดฝาผิดตัว โดนคลื่นลูกใหม่เบียดแทรก จนแทบไม่มีที่ยืน

ครบรอบกึ่งศตวรรษเหตุการณ์ 14 ตุลา จากวันมหาวิปโยค กลาย เป็นวันประชาธิปไตย กลับดูเงียบเหงา ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในสื่อสังคมออน ไลน์มากนัก  
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิ 14 ตุลา เป็นแม่งานจัดงานรำลึกครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เหมือนทุกปีที่ผ่านมา

ฉากจบ ‘คนเดือนตุลา’ 50 ปี บาดแผล และความแตกแยก

งานรำลึก 50 ปี 14 ตุลา ในปีนี้ มีคนเดือนตุลาที่เป็นนักการเมืองมาร่วมงานบางตาอาทิ จาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, วิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ และประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา

เดิมที เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นตัวแทนรัฐบาลในพิธีรำลึกวีรชน 14 ตุลา แต่สุดท้ายกลายเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข มาแทนรองฯอ้วน 

ฉากจบ ‘คนเดือนตุลา’ 50 ปี บาดแผล และความแตกแยก

ว่ากันว่า รองฯอ้วน ในฐานะ รมว.พาณิชย์ ติดภารกิจเป็นประธานเปิดงานสินค้าเทศกาลกินเจราคาถูกทั่วประเทศ 

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็ไม่โผล่หน้ามาร่วมงาน 14 ตุลา รวมถึงงานรำลึก 47 ปี 6 ต.ค.ที่หน้าหอใหญ่ ธรรมศาสตร์

ฉากจบ ‘คนเดือนตุลา’ 50 ปี บาดแผล และความแตกแยก

หลายคนคาดหวังว่า จะได้เจอหน้ารองฯอ้วน ภูมิธรรม เวชยชัย และนายกฯน้อย หมอมิ้ง-พรหมินทร์ ก็ไม่เห็นแม้แต่เงา

มีเพียงอ๋อย จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตผู้นำนักศึกษาภาคเหนือ และเฮียเงาะ วรชัย เหมะ คนเดือนตุลาสายกรรมกร หิ้วพวงหรีดพรรคเพื่อไทยมาร่วมงานเท่านั้น

ฉากจบ ‘คนเดือนตุลา’ 50 ปี บาดแผล และความแตกแยก

ไม่เฉพาะนักการเมืองที่หายหน้าไป อดีตผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลา ก็มาร่วมงานน้อยมาก ทั้งที่ในวาระสำคัญเช่นนี้ น่าจะมีการรวมพลคนเดือนตุลาได้มากกว่านี้

ที่เป็นสีสันก็คือ งานคอนเสิร์ต 50 ปี 50 เพลง เล่าบรรเลง 14 ตุลา บันทึกประวัติศาสตร์ผ่านบทเพลง ที่หอประชุมใหญ่ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

คำว่างานรำลึก 14 ตุลาของทุกปี ไม่ต่างจากงานเช็งเม้งนั้น มีคนรุ่นโน้นพูดจาทำนองยั่วล้อกันมานานแล้ว ล่าสุด สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำมากล่าวถึงอีกครั้ง

“ปีนี้ครบรอบ 50 ปี สิ่งที่อยากฝากคือ มันไม่ใช่เพียงแค่การจัดงานรำลึกไปเรื่อยๆ ไม่เช่นนั้นคงไม่ต่างจากงานเช็งเม้ง กินข้าวกัน ไหว้กัน แล้วก็แยกย้าย..อยากให้งานเหล่านี้เป็นสาระของการขับเคลื่อนในการสร้างประชาธิปไตยของสังคมไทย” 

จริงๆแล้ว เจตนารมณ์ 14 ตุลา การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นยังดำรงอยู่ คนรุ่นใหม่ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และประชาธิป ไตย ผ่านรูปแบบการต่อสู้หลากหลายรูปแบบ

ฉากจบ ‘คนเดือนตุลา’ 50 ปี บาดแผล และความแตกแยก

มีเพียงแต่ “คนเดือนตุลา” เท่านั้น ที่ผันเปลี่ยนจุดยืนและอุดม การณ์ไปตามช่วงวัย สภาพแวดล้อม และบริบทสังคมในแต่ละยุคสมัย

ความหมาย ‘คนเดือนตุลา’

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลา ได้ริเริ่มใช้คำว่า ‘คนเดือนตุลา’ ครั้งแรกเมื่อปี 2539 ในวาระครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา เพื่อเรียกกลุ่มคนที่ผ่านเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 และ 6 ต.ค.2519 

ความจริงแล้ว คนรุ่น 14 ตุลา และคนรุ่น 6 ตุลา ก็มีร่องรอยความคิดที่ไม่สอดคล้องต้องกันไปเสียทั้งหมด 


สิ่งหนึ่งที่คนเดือนตุลา 2 รุ่นนี้ เห็นพ้องต้องกันคือ พวกปรารถนาจะเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม

งานศึกษา “การเติบโตของคนเดือนตุลา : อำนาจและความขัดแย้งของอดีตนักกิจกรรมปีกซ้ายในการเมืองไทยสมัยใหม่” ของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มักถูกอ้างถึงอยู่บ่อยครั้งในหมู่นักวิชาการรุ่นหลังๆ

อาจารย์กนกรัตน์ ได้ศึกษาการต่อสู้ของคนรุ่นโน้นอย่างรอบด้าน และได้ข้อสรุปว่า คนเดือนตุลา ไม่ได้มีความเป็นเอกภาพ คิดและเชื่อเหมือนกันมาตั้งปี 2516 

หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ได้เกิดความขัดแย้งในหมู่นักเรียนอาชีวะ นักศึกษา กรรมกร และประชาชนทั่วไป มีทั้งกลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตย กลุ่มซ้ายใหม่ กลุ่มชาตินิยม-ราชานิยม กลุ่มเหมาอิสต์-คอมมิวนิสต์ และกลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย

จากเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ต.ค.2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งผลให้นักศึกษาหลายพันคน ตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตป่าเขา ใต้ร่มธงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และจบลงด้วยการคืนเมือง เมื่อปี 2524-2525

ยุคทอง ‘ซ้ายเก่า’

ช่วงต้นทศวรรษ 2530 คนเดือนตุลา เริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้ง หลังสิ้นยุคเปรมาธิปไตย และก้าวเข้าสู่ยุคน้าชาติ แปรสนามรบเป็นสนามการค้า

คนรุ่น 14 ตุลากลุ่มหนึ่ง จึงจัดงานเพื่อนพ้องน้องพี่ รวมพลคนเดือนตุลา ในฐานะนักธุรกิจใหญ่ เซียนหุ้นตัวยง นักวิชาการรุ่นใหม่ นักหนังสือพิมพ์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ นักร้องเพื่อชีวิต นักพัฒนาเอกชน  ฯลฯ 

คนเดือนตุลาสายการเมือง กลายเป็นดาวเด่นของงานเพื่อนพ้องน้องพี่ ไม่ว่าจะเป็น จาตุรนต์ ฉายแสง, พินิจ จารุสมบัติ, ชำนิ ศักดิ์เศรษฐ, สุธรรม แสงประทุม, วิทยา แก้วภราดัย และอดิศร เพียงเกษ 

ฉากจบ ‘คนเดือนตุลา’ 50 ปี บาดแผล และความแตกแยก

ช่วงเดือน พ.ค.2535 คนเดือนตุลา มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ขับไล่เผด็จการ รสช. และหลังเหตการณ์พฤษภา 35  พวกเขาได้ลงสู่สนามเลือกตั้งในสีเสื้อพรรคพลังธรรม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีธรรม และพรรคความหวังใหม่  

กิจกรรมทางการเมืองของคนเดือนตุลาเริ่มขยายตัวมากขึ้น และนำไปสู่ขบวนการธงเขียว สนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2540 

จังหวะนี้ คนเดือนตุลากลุ่มหนึ่ง ได้เข้าไปร่วมงานกับ ทักษิณ ชินวัตร ช่วยกันก่อร่างสร้างพรรคไทยรักไทย  

คนเดือนตุลาในพรรคไทยรักไทย มีทั้งที่เป็นแกนนำพรรค ,ผู้สมัคร สส. , คลังสมองทำหน้าที่ผลิตนโยบายประชานิยม และทีมประชาสัมพันธ์ 

ฉากจบ ‘คนเดือนตุลา’ 50 ปี บาดแผล และความแตกแยก

เมื่อพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะ และจัดตั้งรัฐบาลทักษิณ ในช่วงต้นปี 2544 คนเดือนตุลา จึงผลักดันให้มีการสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 14 ต.ค.2544

คนตุลาเหลือง-แดง

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง จากรัฐบาลผสมที่อ่อนแอช่วงหลังพฤษภา 35 มาสู่รัฐบาลที่มีความเข้มแข็งโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว คือพรรคไทยรักไทย ในช่วงทศวรรษ 2540 ทำให้คนเดือนตุลา ที่เคยสมานฉันท์ชั่วคราว กลายเป็นการเผชิญหน้าอีกครั้ง

เมื่อ สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ชักธงรบกับทักษิณ ชินวัตร และได้ก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีคนเดือนตุลาเข้าร่วมเป็นแกนนำหลายคน อาทิ พิภพ ธงไชย, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และสมศักดิ์ โกศัยสุข

หลังรัฐประหาร 2549 จึงเกิดวิกฤตการเมืองสีเสื้อ ‘เหลือง-แดง’ และเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่ในกลุ่มคนเดือนตุลา 

จากเหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ยิ่งทำให้คนเดือนตุลา 2 ขั้วสี ยิ่งขัดแย้งกันหนักขึ้น ลามไปถึงม็อบนกหวีดที่คนเดือนตุลาเสื้อเหลือง ก็กระโจนเข้าร่วมเป็นแกนนำ กปปส.ด้วย

ฉากจบ ‘คนเดือนตุลา’ 50 ปี บาดแผล และความแตกแยก


มีคนตั้งข้อสังเกตว่า คนรุ่น 14 ตุลา มีแนวโน้มที่จะให้การสนับ สนุนกลุ่มพันธมิตรฯ รวมไปถึง กปปส. ขณะที่คนรุ่น 6 ตุลา กลับเลือกที่จะยืนข้างคนเสื้อแดง และเป็นแนวร่วมกับพรรคเพื่อไทย ช่วงปี 2552-2557

นับจากมีการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และเปลี่ยนมาเป็นพรรคก้าวไกล คนรุ่น 6 ตุลา ก็หันไปหนุนพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ และเป็นกองหนุนกลุ่มราษฎร และกลุ่มทะลุวัง  

ดังนั้น งานรำลึก 47 ปี 6 ตุลา จึงคึกคักไปด้วยคนรุ่นใหม่ สส.พรรคก้าวไกล และคนรุ่น 6 ตุลา ตรงข้ามกับ 50 ปี 14 ตุลา ที่เงียบเหงา และไม่มีใครอยากติดป้ายคนเดือนตุลามาร่วมงาน