"ปณิธาน" เสนอ "กต." ดึง ตัวแทน8พรรคร่วมรัฐบาล ถกแก้ปัญหา ความขัดแย้ง เมียนมา

"ปณิธาน" เสนอ "กต." ดึง ตัวแทน8พรรคร่วมรัฐบาล ถกแก้ปัญหา ความขัดแย้ง เมียนมา

"ปณิธาน" เสนอดึง ตัวแทน8พรรคร่วมรัฐบาล ร่วมเวทีถกแก้ปัญหา ความขัดแย้ง เมียนมา ชี้ “ไทย” ควรทำ หลังพบปัญหาบานปลายชายแดนหลายประเทศ

นายปณิธาน วัฒนายากร  นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์  ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการกรองข่าว ทางเนชั่น ทีวี ช่อง 22 ต่อประเด็น การนัดอาเซียนถกปัญหาความรุนแรงในประเทศเมียนมา อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งขณะนี้มีความเห็นคัดค้านจาก นักการเมืองในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล ว่า  ในการดำเนินการดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศ อาจแก้ปัญหาได้โดยการเชิญตัวแทนของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาร่วม เพราะในอนาคตจะเป็นว่าที่รัฐบาล และจะทำให้เกิดการทำงานแบบไร้รอยต่อ ทั้งนี้ตนเข้าใจว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องการปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศที่เราไม่มีส่วนโดยตรง ดังนั้นการทำเรื่องดังกล่าวในอนาคตอาจต้องคุยหรือสื่อสาร เชิญหลายฝ่ายเข้ามาหารือ

 
นายปณิธาน กล่าวด้วยว่า ในประเด็นความรุนแรงในเมียนมา เช่น การสู้รบที่พบว่ารุนแรงมากขึ้น หากการเจรจาเพื่อยุติปัญหาอย่างไม่เป็นทางการ หากทำแล้วสถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งตนมองว่า แนวโน้มจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะการคุยระดับสูงและไม่เป็นทางการ มีสัญญาณดีๆ หลายอย่าง เช่น การเข้าร่วมของมหาอำนาจ ที่ตอบรับแล้วเป็นเกินครึ่งของอาเซียน 


“ในทิศทางที่ดี หากทุกฝ่ายยอมรับว่าต้องยุติความรุนแรงตามฉันทามติของอาเซียน ข้อที่1 จาก 5 ข้อ  แต่ตอนนี้ต้องทำอย่างไรเพื่อให้ประเทศอินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และมาเลเซียคลายกังวล และทำให้ประธานหมุนเวียนอาเซียนไม่รู้สึกว่าหากทำสำเร็จแล้วจะเป็นความเสียหาย ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องทางการทูตที่ต้องพูดคุยกันให้ดี  การให้เครดิตกับอินโดนีเซีย เป็นเรื่องสำคัญ” นายปณิธาน กล่าว

นายปณิธาน กล่าวด้วยว่า ในการพูดคุยกับทหารเมียนมา ไม่ใช่ว่าทุกฝ่ายจะทำได้ และไม่ใช่ว่าเราทำแล้วจะเป็นพวกใคร ทั้งนี้ใน 10 กลุ่มที่ขัดแย้งในเมียนมา ไว้ใจประเทศไทยมากกว่าหลายประเทศ เพราะไทยไม่เคยประจาน หรือประณาม รวมถึงขู่ขับไล่ใคร อีกทั้งประเทศไทยร่วมก่อตั้งอาเซียนในแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยและฟังทุกฝ่ายตั้งแต่แรก  ดังนั้นการหารืออย่างไม่เป็นทางการเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงไม่ใช่ครั้งใหม่ แต่การเมืองไทยผกผัน  รัฐบาลที่จะเข้ามาใหม่ อาจไม่รับทราบ ไม่ได้รับข้อมูลทำให้ไม่มั่นใจว่าเป็นอย่างไร


เมื่อถามถึงชาติสำคัญ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ปฏิเสธการเข้าร่วมจะเป็นผลเสียหรือไม่ นักวิชาการด้านความสัมพันธ์และความมั่นคงระหว่างประเทศกล่าวว่า สำหรับอินโดนีเซียต้องกังวลแน่ เพราะมีตำแหน่งทางการ ต้องรักษากฎ กติกา และมองว่าฝ่ายไหนใช้กำลัง ฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก ต้องประจาน  แต่อาเซียนไม่ได้ใช้หลักทางการเท่านั้น เพราะเรามีความสัมพันธ์แบบยืดยุ่น 

 

“3-4 ประเทศนั้นนั้นเขามีความสัมพันธ์แนบแน่นกับประเทศตะวันตก เขาค้าขายกันมาก ดังนั้นต้องยึดความสัมพันธ์ที่เป็นทางการ โดยเฉพาะอินโดนีเซียแม้จะส่งตัวแทนมาร่วมแบบไม่เป็นทางการ ก็ดูไม่ดีทั้งนี้ต้อง ยืนยันว่าเราไม่ได้ทำแทนอาเซียน หรือทำคู่ขนาน แต่เป็นการทำเพื่อเสริมอาเซียน เมื่อได้ผลดีอย่างไร ต้องส่งให้อาเซียนดำเนินการต่อ เช่น เจรจายุติความรุนแรง   ทั้งนี้ประเด็นพูดคุย เชื่อว่าจะเป็นเรื่องการยุติความรุนแรง โดยไม่แทรกแซงการเมืองภายใน และขอให้เปิดทางให้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปให้พี่น้องเมียนมาที่เดือนร้อน ซึ่งขณะนี้ทำไม่ได้” นักวิชาการด้านความสัมพันธ์และความมั่นคงระหว่างประเทศกล่าว

\"ปณิธาน\" เสนอ \"กต.\" ดึง ตัวแทน8พรรคร่วมรัฐบาล ถกแก้ปัญหา ความขัดแย้ง เมียนมา

เมื่อถามว่าประเด็นดังกล่าวจะผูกมัดหรือสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลใหม่ของไทยหรือไม่นายปณิธาน กล่าวว่า อาเซียนใช้หลักสมัครใจ รัฐบาลใหม่เปลี่ยนไม่ทำก็ได้  ที่ผ่านมา ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิากรอาเซียน ระบุว่า มี70%  ไม่ทำ แต่ 30% ทำ แม้จะทำเป็นส่วนน้อย แต่มีความสำคัญ เพราะสามารถรักษาชีวิตคน 


“รัฐบาลที่เข้ามากังวลเรื่องข้อผูกพัน แต่ในทางกฎหมายมีไม่มาก เพราะเป็นเรื่องของความสมัครใจ ความเข้าใจ และเคารพกติกาในแง่ฉันทามติมากกว่า  เป็นหลักการอาเซียนที่แล้วฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยน่าจะเข้าใจอยู่แล้ว  แตการทำงานของกระทรวงการต่างกต. ไม่ได้ขยายวงไปถึงคนที่จะมารับช่วงต่อ หากให้เขาเข้ามามีส่วนตั้งแต่แรก อาจจคลายกังวล” นายปณิธาน กล่าว และทิ้งท้ายว่า กรณีที่ไทยดำเนินการเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากการเจรจามีฝ่ายใดได้เปรียบ หรือ เสียเปรียบ แต่เราไม่ได้ไปถึงจุดนั้น ตอนนี้พูดถึงการยุติการใช้กำลัง การใช้อาวุธหยุดความเสียหายให้กับทุกฝ่าย ซึ่งขณะนี้พบว่าบริหารจัดการชายแดน  เช่น บังคลาเทศ อินเดีย มีปัญหา พบการทะลักของคนเมียนมา เกิดกระบวนการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธชายแดน  ดังนั้นหัวใจของการพูดคุยคือ คลี่คลายสถานการณ์ และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ที่เสนอทีมเข้าไปแล้ว  แต่หากมีตัวแทนจาก 8 พรรคร่วมมาร่วมทำงานจะทำให้เกิดการทำงานแบบไร้รอยต่ออย่างแท้จริง.