ผลสอบละเอียด สตง.ชำแหละ “กรมควบคุมโรค” ใช้เงินกู้ 1.5 พันล้านแก้โควิดเหลว

ผลสอบละเอียด สตง.ชำแหละ “กรมควบคุมโรค” ใช้เงินกู้ 1.5 พันล้านแก้โควิดเหลว

เจาะผลสอบละเอียด สตง.ชำแหละไส้ใน “กรมควบคุมโรค” ของบเงินกู้ 1.5 พันล้านแก้โควิด-19 เหลว เหตุล่าช้าไม่ทันกาล ครุภัณฑ์บางรายการถูกยกเลิก-ได้นำไปใช้ สร้างภาระดอกเบี้ย

จากกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่รายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน โครงการด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในส่วนของกรมควบคุมโรค และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณ จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ภายใต้แผนงานย่อย 1.5 คือ แผนงานหรือโครงการด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นจำนวนเงิน 1,517.26 ล้านบาท เบื้องต้นพบว่า การดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามแผนงาน การจัดซื้อครุภัณฑ์บางรายการไม่ได้นำไปใช้รับมือสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันกาล รวมถึงบางโครงการล่าช้า 8 เดือนถึง 1 ปี 3 เดือน เป็นต้น

อ่านข่าว: 

สตง.สอบ “กรมควบคุมโรค-สธ.” ควัก 1.5 พันล.รับมือโควิดเหลว ทำงานล่าช้านับปี

สธ.พร้อมให้ข้อมูลสตง. ปมใช้งบเงินกู้ 1.5 พันล้านบาท คุมโควิด-19ไม่ทันกาล

กรมควบคุมโรค ชี้แจงประเด็นสตง. ตรวจสอบงบโควิด-19 ยอด 1.5 พันล้านบาท

กรุงเทพธุรกิจ นำรายงานผลตรวจสอบของ สตง. ในส่วนของงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับกรมควบคุมโรคมานำเสนอ ดังนี้

1.การดำเนินงานโครงการไม่เป็ฯไปตามแผนงาน และครุภัณฑ์จัดซื้อบางรายการไม่ได้นำไปใช้รับมือสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันกาล โดยมีประเด็นสำคัญคือ 1.โครงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 มีการดำเนินงานโครงการล่าช้า 8 เดือน 2.โครงการค้นหาเชิงรุกสำหรับกลุ่มเสี่ยงของโรคโควิด-19 มีการดำเนินงานโครงการล่า 8 เดือนเช่นกัน โดยทั้ง 2 โครงการขอขยายระยะเวลาดำเนินงานและการเบิกจ่าย  2ครั้ง เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแพทย์บางรายการมีการยกเลิกสายการผลิต และมีการนำเข้าชิ้นส่วนประกอบจากต่างประเทศ จึงส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการส่งมอบครุภัณฑ์ 

นอกจากนี้หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงและข้อมูลที่แสดงถึงระดับความรุนแรงของสถานการณ์ของโรคในแต่ละช่วง พบว่า การดำเนินกิจกรรมในโครงการบางส่วนที่มุ่งหวังเป็นการป้องกัน หรือควบคุม ยับยั้งการระบาด ไม่ประสบผลสำเร็จ โดยไม่สอดคล้องกับระดับความรุนแรงในแต่ละช่วงเวลา จึงไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันกาล โดยโครงการเตรียมพร้อมด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการยาวนานตั้งแต่ระลอกที่ 1-4 รวม 1 ปี 8 เดือน ส่วนโครงการค้นหาเชิงรุกในระดับพื้นที่ ใช้ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ระลอก 3 เป็นต้นมา รวมระยะเวลาดำเนินโครงการนานถึง 1 ปี 3 เดือน

2.การจัดซื้อครุภัณฑ์มีการขอยกเลิกหรือคืนเงินอย่างน้อย 4 รายการ รวมวงเงิน 29.68 ล้านบาท

3.ครุภัณฑ์บางรายการไม่มีการใช้ประโยชน์เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดของโควิด-19 โดยจากการสังเกตการณ์ใช้ประโยชน์ครุภัณฑ์จัดซื้อของโครงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข อันเนื่องมาจาการระบาดของโควิด-19 พบว่า ครุภัณฑ์ 2 รายการคือ กล้องอินฟาเรดจับความร้อน พร้อมซอฟต์แวร์ประมวลผล จำนวน 18 ชุด และเครื่องอ่านหนังสือเดินทาง จำนวน 18 ชุด รวมวงเงิน 3.4 ล้านบาท ไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ภายหลังการตรวจรับนานกว่า 5 เดือน

จากการดำเนินงานโครงการที่มีความล่าช้า รวมถึงครุภัณฑ์บางรายการยกเลิกการซื้อและไม่มีการใช้ประโยชน์ ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ทั้งยังเกิดความเสี่ยงที่ครุภัณฑ์ไม่ได้ถูกนำไปใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโครงการ และเป็นการเสียโอกาสในการนำเงินกู้ซึ่งเป็นเงินที่ต้องใช้คืน และมีภาระค่าดอกเบี้ยไปใช้จ่ายในกิจกรรมอื่นที่เกิดประโยชน์ที่จำเป็นเร่งด่วนมากกว่า

สาเหตุสำคัญสืบเนื่องจากกระบวนการเสนอขออนุมัติโครงการมีการกลั่นกรองหลายขั้นตอน และจากข้อมูลการเสนอขออนุมัติโครงการในขณะนั้น มีจำนวนโครงการที่กระทรวงสาธารณสุข ต้องรวบรวมคำของบประมาณเพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้จำนวนมาก ประกอบกับมีการส่งกลับเอกสาร ให้กรมควบคุมโรคทบทวนปรับปรุงโครงการ จึงส่งผลต่อระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมในโครงการ

นอกจากนั้นครุภัณฑ์ที่จัดหาหลายรายการเป็นครุภัณฑ์ที่มีลักษณะเฉพาะ และบุคลากรในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความเชี่ยวชาญมีจำกัด จึงใช้ระยะเวลาดำเนินการมากกว่าปกติ ที่สำคัญการที่ต้องจัดหาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ เป็นเหตุให้ขาดการบริหารจัดการครุภัณฑ์บางส่วนอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ผู้ว่าฯ สตง.มีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมควบคุมโรคพิจารณาดำเนินการดังนี้

1.ทบทวนสถานการณ์หรือถอดบทเรียนในแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับการรับมือและแก้ไขปัญหาจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และนำไปสู่การวางแผนทรัพยากรต่าง ๆ สำหรับเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการปรับแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปีในการลดช่องว่างของความไม่พร้อมในทรัพยากรต่าง ๆ ที่ยังมีความจำเป็น หรือขาดแคลน หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดของโรคอุบัติใหม่ ที่มีความรุนแรง จะทำให้หน่วยงานมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรต่าง ๆ โดยไม่ต้องรอขอรับการจัดสรรงบประมาณจากแหล่งอื่น ที่อาจใช้เวลาพิจารณาโครงการล่าช้า ส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาไม่ทันกาล

2.วางแผนการจัดอบรมความรู้เกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจสำหรับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในอนาคต ทั้งเรื่องกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติเฉพาเหตุการณ์ ลดความผิดพลาดในการดำเนินโครงการในอนาคตต่อไป

3.ครุภัณฑ์ที่ยังไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ ให้ดำเนินการโอนแก่หน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อใช้ประโยชน์โดยเร็ว ส่วนครุภัณฑ์ที่ยังไม่ส่งมอบ ให้จัดทำแผนการใช้ประโยชน์ภายหลังส่งมอบแล้ว และให้มีการติดตามประเมินผลการใช้งาน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณ