สธ. เข้มมาตรการดื่มแล้วขับจับเจาะเลือดวัดระดับแอลกอฮอล์ช่วงสงกรานต์

สธ. เข้มมาตรการดื่มแล้วขับจับเจาะเลือดวัดระดับแอลกอฮอล์ช่วงสงกรานต์

สธ. เผยศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2562 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนน 5 วัน เกิดอุบัติเหตุ สะสม 2,702 ครั้ง สาเหตุส่วนใหญ่ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2562 กล่าวว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่ 6 ของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุสะสม 2,702 ครั้ง ลดลงจากปีที่ผ่านมา 290 ครั้ง สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 104 ราย รองลงมา นครศรีธรรมราช 100 ราย และนครราชสีมา 82 ราย

ผลการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด กรณีผู้ขับขี่ไม่สามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ด้วยวิธีเป่าทางลมหายใจได้ ในรอบ 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 – 15 เมษายน 2562 มีผู้ขับขี่ที่ถูกส่งไปเจาะเลือดทั้งหมด 1,814 ราย ในจำนวนนี้มีปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 51 และในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีพบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 33

สำหรับผลการสุ่มตรวจสถานประกอบการ/ ร้านค้าตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ระหว่างวันที่ 11 – 15 เมษายน 2562 รวมทั้งสิ้น 1,301 ครั้ง พบการกระทำผิด 3 อันดับแรก ได้แก่ขายนอกเวลา โฆษณาส่งเสริมการตลาด และขายในพื้นที่ห้ามขาย ได้ดำเนินการตามกฎหมายทุกราย หากประชาชนพบการกระทำผิด เช่น ขายริมทาง ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีหรือผู้ที่มีอาการมึนเมา ขายในเวลาห้ามขาย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

นายแพทย์สุขุมกล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมให้การดูแลประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวตลอด 24 ชั่วโมง และได้ร่วมมือเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ด่านชุมชน ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนปฏิบัติงานตามมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสกัดผู้ดื่มแล้วขับไม่ให้ออกจากหมู่บ้าน ประชาสัมพันธ์ร้านค้าในหมู่บ้านไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีและผู้ที่เมาสุรา ไม่ขายในสถานที่ห้ามขาย และไม่ขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์

“กรณีวัยรุ่นยกพวกตีกันในบริเวณห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่ ตกใจหวาดกลัวถือเป็นการบุกรุกสถานที่ราชการและขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ อัยการ ให้ดำเนินคดีถึงที่สุด พร้อมกันนี้ได้เพิ่มมาตรการการดูแลและเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพื่อดูแลประชาชนที่มารับบริการและเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการให้ปลอดภัย” นายแพทย์สุขุมกล่าว