ชี้แผนปฏิรูปการศึกษา ปรับจรรยาบรรณ-เสริมสมรรถนะผู้เรียน

ชี้แผนปฏิรูปการศึกษา ปรับจรรยาบรรณ-เสริมสมรรถนะผู้เรียน

เผยผลการประชุม คณะกรรมการอิสระ เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ 54/2561 ชี้ควรปรับปรุงจรรยาบรรณวิชาชีพครูให้ชัดเจน-เข้ากับยุคสมัย เน้นให้ผู้เรียนมีสุนทรียะในการศึกษา ส่งเสริมความถนัดในเชิงศิลปะ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวในการประชุม คณะกรรมการอิสระ เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ 54/2561 ณ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมี 3 วาระ ได้แก่ ความปลอดภัยในโรงเรียน, แนวทางการจัดการศึกษาด้านศิลปะและสุนทรียภาพ และการพัฒนากรอบสมรรถนะ

สำหรับ เรื่องความปลอดภัยในโรงเรียน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากปัญหาสำคัญ คือ จรรยาบรรณวิชาชีพครู 9 ประการ ซึ่งอยู่มาหลายสิบปี ตั้งแต่ปี 2502 ที่ประชุมที่ประชุมจึงมีความเห็นร่วมกันในการพิจารณาและนำไปสู่การปรับเรื่องจรรยาบรรณา และรูปธรรมในข้อห้ามทั้งหลาย เช่น การป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงระหว่างครู การลงโทษทางกาย และในเรื่องศีลธรรม

ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป รายละเอียดทางพฤติกรรมก็จะมากกว่าสมัยก่อน จึงต้องมีการปรับปรุงในเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพให้ชัดเจนเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น และนำเอาประเด็นในเรื่องความปลอดภัยระหว่างครูและนักเรียน มาใช้ในการปรับปรุงจรรยาบรรณเพื่อทำให้ขอบข่ายชัดเจน

นายแพทย์จรัส กล่าวเพิ่มเติมว่า ครูเป็นผู้ที่มีอิทธิพลเหนือนักเรียน เพราะฉะนั้นครูมีโอกาส หรือความเสี่ยงที่จะใช้อำนาจคุกคามนักเรียน ดังนั้น ครูและนักเรียนจะอยู่ในห้องเรียน ล็อคกลอนประตูไม่ได้ ถ้ายิ่งครูนักเรียนคนละเพศกันไปอยู่ในห้องเดียวกัน เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ในศาสนามีศีลห้าและครูต้องมีศีลห้า นอกจากนี้ ครูห้ามเฆี่ยนตีนักเรียน ทางคณะกรรมการอิสระเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ทั้งความรุนแรง รวมถึง การดูแลนักเรียนระหว่างเดินทาง ก็เป็นอีกกรณีที่ต้องดูแล จากข่าวที่ออกมา ทางโรงเรียนต้องให้ความสำคัญทั้งคนขับและครูที่ดูแลต้องดูให้ดีว่าไม่มีเด็กค้างอยู่ในรถ

สำหรับแนวทางการจัดการศึกษาด้านศิลปะและสุนทรียภาพ โดย อนุกรรมการสภาการศึกษาด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และภูมิปัญญา นายแพทย์จรัส กล่าวว่า ศิลปศึกษากับสุนทรียศึกษา เห็นชัดว่าส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งที่มีความจำเป็นในการศึกษา คือ ทุกคนต้องมีสุนทรียะในการศึกษา และอีกด้านคือ ผู้ที่มีความถนัดในเชิงศิลปะ ควรจะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาเป็นพิเศษ ดังที่ปรากฏในบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และการปฏิรูปประเทศ ซึ่งการมีสุนทรียะเป็นองค์ประกอบสำคัญ เนื่องจากระบบการศึกษาในปัจจุบันมีความแข็งตัวมากเกินไป จึงจำเป็นต้องมีสุนทรียทั้งกับคน ที่มีความสามารถ โยงไปถึงเรื่องเทคโนโลยี เพราะเราจะมุ่งสร้างนวัตกรรมอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีศิลปะเข้ามาเพื่อให้เกิดความคล้องตัวมากขึ้น

ด้าน รองศาสตราจารย์ทิศนา แขมมณี ประธานคณะทำงานวางแผนการจัดทำกรอบสมรรถนะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงโครงการวิจัยและพัฒนากรอบสมรรถนะผู้เรียนระดับประถมศึกษาตอนต้นสำหรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าโครงการดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการที่เราพบว่าเด็กยังขาดความสามารถในการนำเอาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในการทำงาน และแก้ปัญหาต่างๆ แสดงให้เห็นว่า ผู้เรียนขาดความสามารถเชิงสมรรถนะในการนำความรู้ความเข้าใจไปใช้ กล่าวคือ เรียนแล้ว มีความรู้ แต่เอาไปใช้จริงไม่ได้

ดังนั้น เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีคุณภาพเพิ่มขึ้น จึงเกิดแนวคิดในเรื่องการจัดทำหลักสูตรสมรรถนะ ให้การเรียนการสอนของครู พัฒนาผู้เรียนมากขึ้น ซึ่งคณะทำงานได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนากรอบสมรรถนะของผู้เรียน ที่คิดว่าน่าจะจำเป็นสำหรับผู้เรียนในปัจจุบันและอนาคต ว่าควรมีความสามารถที่จะนำไปใช้ในการดำรงชีวิตอะไรบ้าง

ทั้งนี้ เราได้พัฒนา 10 สมรรถนะ ซึ่งเป็นสมรรถนะ ที่ช่วยให้ผู้เรียนเป็นคนไทยที่ฉลาดรู้ อยู่ดีมีสุข มีความสามารถสูง และใส่ใจสังคม โดยได้รับการยืนยันด้วยวิธีการทางสถิติ โดยมีการนำเอาสมรรถนะทั้ง 10 ไปให้ครูทดลองประเมินนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 และนำผลมาทำการวิเคราะห์ ในโรงเรียนทั้งหมด 6 แห่ง และโรงเรียนเครือข่าย 18 แห่ง พบว่า สมรรถนะทั้งหมดมีความสัมพันธ์กันในทิศทางบวกและสอดคล้องเชิงประจักษ์ ใช้อธิบายสมรรถนะของเด็กไทยได้ รวมถึงครูสามารถทำได้ แต่ต้องได้รับคำแนะนำชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และมองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น

“ในข้อเสนอแนะมี 2 เรื่อง คือ ควรมีการปรับหลักสูตรให้ครอบคลุมชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 และการพัฒนาหลักสูตรสมรรถนะให้เป็นระบบครบวงจร และบอกกิจกรรมว่ามีอะไรบ้าง และใครเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ ครูต้องมองไกลออกไปจากการให้ความรู้ และฝึกทักษะ แต่ต้องเชื่อมโยงกับชีวิต การทำงาน และสามารถให้เด็กนำไปปฏิบัติได้จริง นี่คือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบตรงนี้ใช้เป็นฐานในกาพัฒนาหลักสูตรต่อไป” รศ.ทิศนา กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ 10 สมรรถนะ ดังกล่าว ได้แก่ 1. ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร 2. คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน 3. การสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ 4. ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 5. ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน 6. ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ 7. ทักษะการคิดขั้นสูงและนวัตกรรม 8. การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล 9. การทำงานแบบรวมพลังเป็นทีม และภาวะผู้นำ และ 10. การเป็นพลเมืองตื่นรู้ และสำนึกสากล

“การศึกษาเดิมใช้เรื่องของเนื้อหาสาระ และการท่องจำ ทำให้เด็กคิดไม่เป็น ทำไม่เป็น ดังนั้น ตัวเนื้อหาสาระเปนส่วนหนึ่งเท่านั้น ควรเน้นที่ใช้ประโยชน์ได้จริง หาให้เด็กหาความรู้เพิ่มเติมได้ ปฏิบัติได้ นีเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการศึกษา ต่อไปจะมีการจัดตั้ง สถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งดำเนินการด้วย 3 หลักการสำคัญ คือ การกำหนดหลักสูตร , กระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการประเมินผล ไม่ใช่เรียนเป็นนกแก้วนกขุนทอง ต้องเรียนและใช้ประโยชน์ได้ ในประเทศต่างๆ เปลี่ยนเป็นฐานสมรรถนะกันหมดแล้ว” นายแพทย์จรัส กล่าวทิ้งท้าย