ไขรหัสลับ EPG รายได้ทุบสถิติทะลุ 'หมื่นล้าน'

ไขรหัสลับ EPG รายได้ทุบสถิติทะลุ 'หมื่นล้าน'

'อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป' สะบัดธงเติบโตรายได้ปี 2561/2562 (เม.ย.-มี.ค.) ทะลุ 'หมื่นล้าน' 3 ธุรกิจ AEROFLEX- AEROKLAS-EPP แหล่งทำเงินหลัก 'ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์' ผู้ก่อตั้ง ไม่หยุดขยายตัวหาพันธมิตรใหม่ๆ สร้างสตอรี่เสริม...!!

ปี 2561/2562 (1เม.ย.2561-31 มี.ค.2562) รายได้รวมต้องทะลุ 'หมื่นล้านบาท' เฉลี่ยการเติบโต 10-15% สะท้อนผ่านการเติบโตของธุรกิจเดิม และซื้อกิจการ (M&A) 'ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เล่าสตอรี่ผลักดันฐานะการเงินให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังเช่นนั้น !!   

ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้พูดขึ้นมาลอยๆ หรือพูดขึ้นมาเพื่อชี้นำนักลงทุน แต่ประเมินจากแนวโน้มการขยายตัวของทั้ง 3 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1.ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์  'AEROFLEX' 2.ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ 'AEROKLAS' และ 3.ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ 'EPP' ณ ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้แบ่งเป็น AEROKLAS 50% AEROFLEX 30% และ EPP 20% ตามลำดับ 

แม้ว่าช่วงผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2561/2562 (ก.ค.-ก.ย.) บริษัทจะมี 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ 262 ล้านบาท ลดลง 10% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากรายได้ธุรกิจ EPP ลดลง 1% เพราะว่าเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจอาหาร ร้านค้าต่างๆ อีกทั้งการบริโภคภายในประเทศมีการฟื้นตัวอย่างล่าช้า และยังไม่ชัดเจน 

'ผู้ก่อตั้ง EPG' แจกแจงแผนธุรกิจให้ฟังว่า สำหรับ ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์  AEROFLEX บริษัทยังคงมุ่งเน้นทำการตลาดในกลุ่มสินค้าพรีเมี่ยม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ อาเซียน เป็นต้น โดยบริษัทตั้งเป้าการเติบโตไว้ประมาณ 7-8% 

โดยในด้านการผลิตที่ผ่านมาได้ลงทุนปรับปรุงไลน์การผลิตในสหรัฐฯ โดยใช้เครื่องจักรอัตโนมัติความเร็วสูง เนื่องจากเห็นโอกาสการเติบโตในสหรัฐฯ จากความต้องการใช้สินค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้องการลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต หากไลน์การผลิตใหม่ในสหรัฐอเมริกาสามารถเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตได้จะส่งผลให้กำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นตาม สำหรับประเทศไทยได้ลงทุนขยายโรงงานใหม่คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2562 

แต่ในแผนธุรกิจกำลังศึกษาขยายกำลังการผลิตใหม่คาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้า ในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดูสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจมีการขยายตัวแค่ไหนยั่งยืนนานไหม คาดว่าปี 62/63 จะได้ข้อสรุปในการลงทุน หากบริษัทมีการขยายโรงงานใหม่กำลังการผลิตจะเพิ่มอีก 2,000 ตันต่อปี หรือราว 50% จากกำลังการผลิตในปัจจุบัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 150 ล้านบาท 

สำหรับ ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ AEROKLAS โดยบริษัทตั้งเป้าการเติบโตเฉลี่ยไว้ประมาณ 10% ซึ่งบริษัทได้ทยอยส่งผลิตภัณฑ์นวัตกรรมหลายชนิดออกสู่ตลาด ได้แก่ การปรับปรุงโมเดลใหม่จากผลิตภัณฑ์หลักของ AEROKLAS/ ผลิตภัณฑ์กันชนท้ายกระบะซึ่งผลิตจากโพลีเมอร์ที่มีความแข็งแรงทนทานแต่มีน้ำหนักเบา / EZ UP & DOWN TAIL GATE ASSIST ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้การเปิดปิดท้ายรถกระบะง่ายขึ้น และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จะทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ธุรกิจในประเทศออสเตรเลีย TJM Products Pty.Ltd (TJM) และ Flexiglass Challenge Pty.Ltd (Flexiglass) ซึ่งเป็นช่องทางจัดจำหน่ายที่สำคัญของ AEROKLAS มีการขยายตลาดในประเทศออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน TJM มีสาขา 3 แห่ง ตั้งอยู่ที่ Perth 2 แห่ง และ Brisbane 1 แห่ง ทำให้มีร้านค้าภายใต้แบรนด์ TJM จำนวน 64 แห่ง Flexiglass มีสาขา 5 แห่ง และช่องทางการจัดจำหน่ายกว่า 100 แห่ง อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับกลุ่มธุรกิจ Aeroklas ได้นำกลยุทธ์ synergy มาใช้ดำเนินงาน

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนนำแบรนด์ TJM ขยายออกไปในประเทศอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีชอปแบรนด์ TJM ในประเทศกัมพูชาแล้ว สาเหตุที่เลือกกัมพูชาก่อนเพราะว่าภูมิประเทศยังเป็นป่าและภูเขา ซึ่งมีความต้องการใช้รถยนต์ประเภทดังกล่าว รวมทั้งยังมองตลาดในประเทศอื่นๆ อีก เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย โดยเป็นการขายแฟรนไซส์เข้าไป ซึ่งมีข้อกำหนดว่าในร้านต้องขายสินค้าของบริษัทด้วย  

และ 'ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก' ภายใต้แบรนด์ EPP เร่งทำการตลาดมากขึ้นในกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหารและถ้วยน้ำดื่ม ส่วนลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม EPP มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับงานด้วยความพร้อมของกระบวนการผลิต และมาตรฐานความสะอาด ความปลอดภัยทางด้านอาหารที่ได้รับการรับรองจากองค์กรชั้นนำหลายแห่งทั่วโลก

โดยปัจจุบันบริษัทกำลังเข้าไปในตลาดบรรจุภัณฑ์ประเภทอาหารมากขึ้น เช่น การทำรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับผู้ประกอบการศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบขายส่ง สินค้าอุปโภคบริโภค อย่าง 'แม็คโคร' จากเดิมบริษัทเน้นขายให้กับผู้ประกอบการประเภทเครื่องดื่มเป็นหลัก เช่น แก้ว แต่ว่าปีนี้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น บริษัทจึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาขายในตลาดประเภทอาหาร ซึ่งทำให้บริษัทมีมาร์จินปรับตัวสูงขึ้น 

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะขยายตลาดไปในประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากฟิลิปปินส์มีกฎให้ใช้พลาสติกที่สามารถย่อยสลายเองได้ ซึ่งบริษัทผลิตสินค้าประเทศดังกล่าวได้แต่พลาสติกดังกล่าวยังไม่เป็นที่นิยมในเมืองไทย เพราะว่าพลาสติกไม่ใส และเก็บนานไม่ได้ แต่ขณะที่ฟิลิปปินส์ผู้ประกอบการประเภท 'อาหารจานด่วน' หรือ ฟาสต์ฟูด มีข้อกำหนดให้ต้องใช้พลาสติกประเภทย่อยสลายได้ ซึ่งปีก่อนบริษัทจึงส่งสินค้าไปจำหน่ายในตลาดฟิลิปปินส์ และยอดขายปีนี้เพิ่มขึ้นมามาก คาดว่าบริษัทจะไปตั้งออฟฟิศที่ฟิลิปปินส์เพิ่มเพิ่มยอดขายให้มากขึ้นด้วย 

'เราคงต้องเข้าไปตั้งออฟฟิศที่ฟิลิปปินส์เพื่อทำตลาดให้มากขึ้น เพื่อต้องการเพิ่มยอดขายให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน เนื่องจากตลาดกำลังเติบโต'

ล่าสุด บริษัทได้รับมาตรฐาน The British Retail Consortium (BRC) มาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร (food safety) ของสหราชอาณาจักร ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตอาหารเพื่อส่งขายในสหราชอาณาจักร ได้อีกด้วยอย่างไรก็ตาม คาดว่าช่วงที่เหลือของปีนี้ธุรกิจ EPP จะฟื้นตัวขึ้น จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมทั้งปีหน้ามีการเลือกตั้งเชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวดี 

ขณะที่ แนวโน้มธุรกิจและทิศทางการเติบโตในช่วงครึ่งหลังของงวดปี 61/62 (ต.ค.61-มี.ค.62) ยังคงดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ของบริษัท ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 ของงวดปี 61/62 คาดว่าผลงานจะดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า และช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในเรื่องของราคาน้ำมัน ส่งผลทำให้กำไรสูงขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงก็ส่งผลดีต่อรายได้ที่มาจากการส่งออกของบริษัทฯ ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกถึง 60% ส่วนอีก 40% มาจากการขายภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม บริษัทกำหนดกลยุทธ์ The New S-Curve เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในกลุ่มธุรกิจ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิต เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งบริษัทได้ทยอยนำสินค้านวัตกรรมออกสู่ตลาดแล้ว รวมถึงใช้กลยุทธ์ในการตั้งราคาขายและการบริหารจัดการต้นทุน อีกทั้งมุ่งเน้นการขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น

เขา บอกต่อว่า บริษัทตั้งงบลงทุนปกติในช่วง 3 ปี (งวดปี 61/62 ถึง งวดปี 63/64) ไว้ที่ 650 ล้านบาท แบ่งเป็น งวดปี 61/62 จะใช้ลงทุนในโรงงานระยอง จำนวน 250 ล้านบาท ซึ่งเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และงวดปี 62/63 จะใช้ลงทุนในโรงงานกระจก จำนวน 100 ล้านบาท และงวดปี 63/64 จะใช้ในการทำห้องทำความสะอาด (Clean Room) จำนวน 300 ล้านบาท

รวมทั้ง บริษัทได้ตั้งงบลงทุน จำนวน 500 ล้านบาท เพื่อใช้ในการร่วมทุน (JV) และการซื้อกิจการ (M&A) ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตฉนวนกันความร้อน-เย็น (AEROFLEX) และธุรกิจผลิต-จำหน่ายชิ้นส่วนอุปกรณ์และสินค้าตกแต่งยานยนต์ (AEROKLAS) รวมถึงผลิต-จำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกขึ้นรูป (EPP) แต่ในขณะนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนด้านแหล่งเงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดที่มีอยู่จำนวนมาก และยังมีหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับต่ำ (D/E) 0.3 เท่า รวมถึงยังมีวงเงินหุ้นกู้อีก 2,000 ล้านบาท

ท้ายสุด 'ภวัฒน์' พูดทิ้งท้ายว่า การที่บริษัทเนื่องจากประสบความสำเร็จและเติบโตได้ด้วยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ เป็นผู้นำทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ มีโรงงานรวมถึงเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมกว่า 100 ประเทศทั่วโลก 

โบรกมองธุรกิจ EPP ฟื้นตัวช้า 

บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี ระบุว่า ปรับลดประมาณการกำไร สะท้อนการฟื้นตัวของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ช้ากว่าคาด ซึ่งกดดันทั้งยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นของ EPG ดังนั้นเพื่อยึดหลักอนุรักษ์นิยม จึงปรับลดประมาณการกำไรปกติตั้งปี 2561/62 ลงเฉลี่ยปีละ 13.3% โดยภายใต้ประมาณการใหม่ ยังคงมองว่ากำไรปกติของ EPG ในช่วง 2H61/62 จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีฐานต่ำในปีก่อน และคาดฟื้นตัวจากไตรมาสต่อไตรมาส

หลังได้แรงหนุนจากพัฒนาการเชิงบวกของทั้ง 3 ธุรกิจหลักดังนี้ 1.ธุรกิจฉนวนยางคาดได้อานิสงค์บวกจากการเร่งตัวขึ้นของภาคการก่อสร้างในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น 2.ธุรกิจอะไหล่ยานยนต์ คาดได้แรงหนุนจาก Synergy ระหว่าง ARK, Flexiglasss และ TJM ที่ดีขึ้น

อีกทั้งบริษัทมีแผนออกสินค้าใหม่ในช่วงปลายปีเข้ามากระตุ้นยอดขายในประเทศ และ 3.ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกบริษัทมีแผนเพิ่มสัดส่วนลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมาร์จินสูงมากขึ้น

รวมทั้งเตรียมเปิดศูนย์กระจายสินค้าเพื่อเข้าถึงลูกค้ารายย่อยโดยตรงเพื่อลดค่าใช้จ่ายผ่านทางพ่อค้าคนกลาง หนุนให้คาดปี 61/62 EPG จะมีกำไรปกติ 1,171 ล้านบาท เติบโต 15.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 

อย่างไรก็ตาม มองระยะยาวธุรกิจยังน่าสนใจ จึงคงแนะนำ 'ซื้อ' คาดเห็นพัฒนาการแบบขั้นบันได นอกจากนี้ราคาหุ้นปัจจุบันยังมี Upside 13.5% จากมูลค่าพื้นฐานใหม่ปี 2561/62 ที่ 8.40 บาท และล่าสุดบริษัทประกาศปันผลจ่ายจากกำไรช่วง 1H61/62 หุ้นละ 0.08 บาท (XD 27 พ.ย. และจ่ายปันผล 7 ธ.ค.)