'ดอน' ได้ไปต่อ! ศาลรธน.วินิจฉัย ภรรยาถือหุ้นไม่ถึง 5%

'ดอน' ได้ไปต่อ! ศาลรธน.วินิจฉัย ภรรยาถือหุ้นไม่ถึง 5%

ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยด้วยเสียงข้างมากความเป็นรัฐมนตรีของ “ดอน” ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เหตุคู่สมรสโอนหุ้นให้ลูกชายถูกต้อง ภายในกำหนดเวลา เริ่มนับ 30 วัน หลังจากวันที่รธน.60 มีผลบังคับใช้ ทำให้คงเหลือหุ้นไม่เกิน 5%

เมื่อวันที่ 31 ต.ค.61. เวลา 14.00 น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลรัฐธรรมนูญพร้อมตุลาการรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคําร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5 ) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่

ผลการพิจารณา องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนได้ทําความเห็นส่วนตนเป็น หนังสือ พร้อมทั้งแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และที่ประชุมได้ปรึกษาหารือร่วมกันแล้วลงมติในประเด็น ดังต่อไปนี้ 1 รัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ประกอบมาตรา 187นํามาใช้บังคับแก่ผู้ถูกร้องได้หรือไม่ เพียงใด ศาลโดยมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 264 วรรคสอง บัญญัติยกเว้นมิให้นํามาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) มาใช้บังคับแก่ผู้ถูกร้องเฉพาะ ในส่วนที่เกี่ยวกับการดําเนินการตามมาตรา 184 (1) เท่านั้น มิได้ยกเว้นการพ้นจากตําแหน่ง ตาม มาตรา 187 ดังนั้น จึงต้องนํามาตรา 187 มาใช้บังคับแก่ผู้ถูกร้องและรวมถึงคู่สมรสของผู้ถูกร้องด้วย

สําหรับกรณีของนายดอนนั้น เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีแนวคําวินิจฉัยวางหลักการไว้ว่า การให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ยังคงเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป จะต้องถือเอาวันที่ รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตําแหน่ง ทั้งนี้ เป็นไปตามคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/25544. เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เม.ย.60 วันที่นายดอนได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264ประกอบมาตรา 187 จึงเป็นวันที่ 6 เม.ย.60 ดังนั้น นายดอนต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ซึ่งความ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจํานวนที่ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้น ของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 บัญญัติ

ประเด็นที่2 คู่สมรสของนายดอนได้โอนหุ้นให้บุคคลอื่นถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่ ศาลโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้พิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานแล้วฟังได้ว่า เดิมคู่สมรสของนายดอนถือหุ้นในบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด จํานวน 7,200 หุ้น และในบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที จำกัด จํานวน 3,500 หุ้น ต่อมาวันที่ 10 เม.ย.60 คู่สมรสของนายดอนได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ โอนหุ้นของบริษัทปานะวงศ์จำกัดให้กับนายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย บุตรชาย 4,800 หุ้น คงเหลือหุ้นอยู่ 2,400 หุ้น หรือร้อยละ 4 และโอนหุ้นบริษัทปานะวงศ์รีแอลที่ ให้กับนายเพื่อน 2,700 หุ้น คงเหลือหุ้นอยู่ 800 หุ้นคิดเป็นร้อยละ 4

โดยการโอนหุ้นทั้ง 2 บริษัท มีการทําหนังสือสัญญาโอนหุ้นของ บริษัท ปานะวงศ์ จํากัด ลงวันที่ 27 เม.ย.60 และของบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จํากัด ลงวันที่ 30 เม.ย.60 โดยบริษัททั้งสองจัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น พิจารณาอนุมัติการโอนหุ้นของทั้งสองบริษัทดังกล่าว การโอน หุ้นเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รับฟังได้ว่าคู่สมรสของนายดอนได้โอนหุ้น ให้แก่บุคคลอื่นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ทําให้คงเหลือหุ้นในแต่ละบริษัทไม่เกินร้อยละ 5 ของจํานวนหุ้นที่จําหน่ายได้ตามที่พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี กําหนด ภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ 6 เม.ย.60 จึงเป็นกรณีที่คู่สมรสของนายดอนดําเนินการตามรัฐธรรมนูญถูกต้องแล้ว อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคําวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน จึงไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187