สั่งศึกษาภัณฑ์จัดทำแผนดูแลร้าน เล็งลดรายจ่าย

สั่งศึกษาภัณฑ์จัดทำแผนดูแลร้าน เล็งลดรายจ่าย

องค์การค้าฯ สั่งคณะผู้จัดการร้านศึกษาภัณฑ์ จัดทำแผนดูแลร้านหารือใน 26 ต.ค. ก่อนนำเสนอบอร์ดสกสค. 29 ต.ค.นี้ เล็งลดรายจ่ายศึกษาภัณฑ์ ลดการทำโอที เปิดร้านศึกษาภัณฑ์ขาย 2 กะ เดินหน้าส่งเสริมการตลาด เพิ่มสินค้าให้หลากหลายมากขึ้น

นายวีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยถึงแผนการพัฒนาร้านศึกษาภัณฑ์หลังออกมาประกาศจะไม่ยุบร้านศึกษาภัณฑ์ว่า ขณะนี้องค์การค้าฯ จำเป็นที่จะต้องสร้างรายได้เพิ่ม โดยอาจต้องเปิดกิจการใหม่ เช่น อีบุ๊ค ขายของออนไลน์ และอาจต้องขยายเวลาในการเปิดร้านศึกษาภัณฑ์บางแห่งซึ่งจะพิจารณาจากทำเลที่ตั้ง จากข้อมูลปัจจุบันร้านศึกษาภัณฑ์ จำนวน 10 ร้าน มียอดขาย กว่า 600 ล้าน ขาดทุนเพียงแสนกว่าบาท ซึ่งเรื่องนี้ ได้หารือและมอบการบ้านให้คณะผู้จัดการร้านศึกษาภัณฑ์ ไปดำเนินการทำแผนในการดูแลของแต่ละร้านมาหารือในวันที่ 26 ต.ค.นี้ ก่อนที่จะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. วันที่ 29 ต.ค.โดยได้รายงานให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) รับทราบแล้ว


“ผมมีหน้าที่ทำให้ร้านศึกษาภัณฑ์ที่เคยขาดทุนได้กำไรในปีหน้า และทุกฝ่ายก็ยินดีที่จะช่วย เชื่อมั่นว่าสามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้และปีหน้าจะต้องมีกำไรอย่างแน่นอน ส่วนของการลดรายจ่ายนั้นคิดว่าองค์การค้าจำเป็นที่จะต้องลดการทำโอที แต่ถ้ามีการเปิดร้านศึกษาภัณฑ์ขาย 2 กะ สามารถทำได้เพราะมีคนอยู่แล้ว แต่ถ้าปิดแล้วอยู่เฉยๆก็จะยิ่งขาดทุน ดังนั้น จะเอาคนที่เราต้องจ่ายเงินเดือนอยู่แล้วมาเสริมกะ แต่จะไม่ให้ทำโอที รวมถึงจะเดินหน้าส่งเสริมเรื่องการตลาด เพิ่มสินค้าร้านศึกษาภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยการเพิ่มช่องทางการฝากขายแต่จะไม่นำเงินสดไปซื้อของเข้ามา รวมถึงให้แต่ละพื้นที่สำรวจว่ามีสินค้าประเภทไหนบ้าง ที่ร้านศึกษาภัณฑ์ยังไม่เคยขาย และเป็นที่ต้องการของลูกค้า องค์การค้าจะใช้งบฯบางส่วนมาตรงเพิ่มจุดนี้แทน” นายวีระกุลกล่าว


ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้าการตรวจสอบทรัพย์สินขององค์การค้าฯนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่เบื้องต้นมีทรัพย์สินมูลค่าไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท อาทิ ราคาที่ดินบริเวณลาดพร้าว จำนวน 47 ไร่ มีมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาทแล้ว องค์การค้าฯ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน และรมว.ศธ.ให้นโยบายว่า ให้แยกทรัพย์สินที่เป็นขององค์การค้าฯ ออกจาก สกสค.และนำมาแปรสภาพในเป็นทุน เพื่อจัดการแก้ปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ โดยการแปรสภาพรูปแบบไหนนั้น ต้องได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการองค์การค้าฯ ด้วย ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องมีการประเมินทรัพย์สินตามหลักที่ถูกต้อง จากนั้นต้องนำเหตุผลความคุ้มค่ามาชี้แจงในคณะกรรมการองค์การค้าฯ ส่วนเรื่องที่สหภาพแรงงานองค์การค้าจะเสนอให้ รมว.ศธ.ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดพิมพ์หนังสือล่าช้า ยังไม่ทราบเรื่องนี้.