‘ฟาร์มแม่นยำ’ เกษตรมิติใหม่บนเอไอ-บิ๊กดาต้า

‘ฟาร์มแม่นยำ’ เกษตรมิติใหม่บนเอไอ-บิ๊กดาต้า

1 ใน 3 ของตลาดแรงงานไทยอยู่ในภาคเกษตร ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นรายย่อย แม้แรงงานในภาคดังกล่าวจะมีอยู่จำนวนมากแต่กลับมีสัดส่วนในจีดีพีเพียง 10% ซึ่งสะท้อนได้ถึงผลิตภาพในการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ ก่อให้เกิดปัญหาความยากจนตามมาเป็นลูกโซ่

จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์ป๋วย อึ้งภากรณ์ระบุว่า การส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรจะช่วยเพิ่มผลิตภาพของการผลิตได้ในระยะยาว

อเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค เล่าว่า ริเริ่มโครงการ “dtac Smart Farmer” เพื่อติดอาวุธให้เกษตรกรไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จนปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 10 โดยให้บริการตั้งแต่การให้ข้อมูลด้านการเกษตรผ่านหลากหลายช่องทาง แอพพลิเคชั่นมือถือ การอบรมการตลาดออนไลน์ และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที)

ล่าสุด ดีแทค ได้ร่วมมือกับ “รีคัลท์” สตาร์ตอัพในโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท และบริษัท รักบ้านเกิด พัฒนาบริการ “ฟาร์มแม่นยำ” ซึ่งเป็นบริการให้ข้อมูลปัจจัยเพาะปลูกทางการเกษตรเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการ ทั้งพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ ติดตามสุขภาพพืช และข้อมูลวางแผนเพาะปลูกพืช

ความร่วมมือดังกล่าว ดีแทคและรักบ้านเกิดอาศัยจุดเเข็งทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและเครือข่ายเกษตรกรที่มีอยู่ทั่วประเทศในการทำการตลาด ขณะที่รีคัลท์รับผิดชอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยอาศัยจุดเเข็งด้านองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลสถานีฐานจากทั่วโลก ทำการวิเคราะห์และแปรผลโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอ็มไอทีสหรัฐ

“ความร่วมมือที่เกิดขึ้น เป็นนิมิตหมายสำคัญในการติดอาวุธให้เกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีจำนวนกว่า 12 ล้านคนในประเทศไทย คาดหวังว่าจะเปลี่ยนภูมิทัศน์และการรับรู้ของเกษตรกรไทยให้ทันสมัย หลุดพ้นจากปัญหาความยากจน”

ชู 3 จุดเด่นช่วยเกษตรกร

อุกฤษ อุณหเลขกะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท รีคัลท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า รีคัลท์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลสภาพอากาศจากสถานีฐานทั่วโลก เช่น GFS, Met Office, ECMWF และ Environment Canada แล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยแมทชีนเลิร์นนิง ประมวล และแปรผล ตลอดจนวิเคราะห์ข้อมูลทั้งสภาพอากาศและสุขภาพพืชเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำข้อมูลมาจัดการและวางแผนการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต ลดต้น โดยคำนึงถึงปัจจัยการเพาะปลูกที่สำคัญ

ทั้งนี้ บริการฟาร์มแม่นยำจะให้ข้อมูลแก่เกษตรกร 3 ด้าน ได้แก่ 1.พยากรณ์อากาศ โดยจะแสดงผลเจาะจงในพื้นที่ที่ต้องการรายชั่วโมง ทั้งอุณหภูมิ โอกาสในการเกิดฝน และปริมาณฝนในพื้นที่ที่ต้องการด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ทั้งยังสามารถพยากรณ์อากาศได้ล่วงหน้า 7 วัน โดยมีความแม่นยำระดับรายแปลงมากที่สุดในประเทศไทย

2.ภาพถ่ายดาวเทียม ช่วยให้เกษตรกรมองเห็นพื้นที่เพาะปลูกของตัวเองแบบภาพรวมจากอากาศ เพื่อช่วยหาความผิดปกติและปัญหาสุขภาพของพืชได้ โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียม EU-Sentinel และ NASA-Landset ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาพืชได้ทันการณ์

3.ช่วยเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกในแต่ละรอบการเก็บเกี่ยว โดยนำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่าย ตามข้อมูลทางวิชาการจากอาจารย์คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจและมีการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน สามารถครอบคลุมพืชถึง 7 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และทุเรียน

ใช้เทคโนโลยีลดต้นทุน

นิธิภัทร์ ทองอ่อน ทายาทรุ่นที่ 2 แห่งสวนทุเรียนลุงแกละ จ.ระยอง กล่าวว่า ทุเรียนเป็นพืชที่ชอบน้ำแต่ไม่แฉะ ดังนั้นสภาพอากาศจึงมีความสำคัญต่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดนี้เป็นอย่างมาก ยิ่งปัจจุบันที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เกิดพายุฤดูร้อนถี่ขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยวพอดี ทำให้ผลผลิตเสียหายได้หากไม่มีข้อมูลที่แม่นยำเพียงพอในการวางแผนการเพาะปลูก

ดังนั้น บริการฟาร์มแม่นยำจึงตอบโจทย์เกษตรกรเป็นอย่างมาก ทำให้สามารถวางแผนล่วงหน้า หรือป้องกันเมื่อสภาพอากาศไม่ปกติ เช่น เกิดพายุฤดูร้อน ขณะที่ภาพถ่ายดาวเทียมจะทำให้ชาวสวนชาวไร่สามารถติดตามสุขภาพพืชได้อย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องลงไปตรวจสอบพื้นที่สวนเอง หากแสดงผลเป็นสีแดงในพื้นที่ใด ก็จะเป็นสัญญาณเตือนว่า เกษตรกรจะต้องลงไปตรวจสอบในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งอาจเกิดจากโรคแมลง หรือขาดสารอาหาร ทำให้แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

สวนทุเรียนลุงแกละ มีเนื้อที่ 60 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียน 90% อีก 10% เป็นมังคุด ลองกอง ลางสาด เพื่อการกระจายความเสี่ยง รายได้หลักจึงมาจากทุเรียนซึ่งในหนึ่งรอบปลูกหรือเวลาประมาณ 1 ปี สามารถสร้างผลผลิตได้ถึง 30-40 ตันต่อปี โดยในฤดูกาลทุเรียนเมื่อกลางปีที่ผ่านมา มีราคาหน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 85 บาท ผลผลิตราว 90% จะถูกส่งให้กับแผงที่ทำสัญญากัน ส่วนอีก 10% ผ่านช่องทางออนไลน์ของตนเอง

“สวนทุเรียนขนาด 60 ไร่ ใช้แรงงานเพียง 2 คนเท่านั้น ก็คือพ่อ(ลุงแกละ) และผม การดูแลสวนพื้นที่ขนาดนี้ด้วยแรงงานเพียง 2 คนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทำให้เราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้แรงงานน้อยลง เวลาลดลงและต้นทุนก็น้อยลงตามมา แต่รายได้เพิ่มขึ้น ผมใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการโน้มน้าวกว่าพ่อจะเปิดใจต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ” นิธิภัทร์กล่าว

ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพ Farmer Info และเข้าไปที่บริการ “ฟาร์มแม่นยำ” ได้ฟรี 60 วัน จากนั้นเก็บค่าบริการเริ่มต้น 30 บาทต่อเดือน