สาหร่ายฯ โมเดล‘ทำน้อยได้มาก’

สาหร่ายฯ  โมเดล‘ทำน้อยได้มาก’

นวัตกรรมเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบระบบปิดสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับ “ชาวเล ซีเกรป” ด้วยการดึงเกษตรกรเข้าร่วมเป็นเครือข่ายพร้อมต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

นวัตกรรมเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบระบบปิดที่ควบคุมสภาพแวดล้อม 100% ช่วยสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับ “ชาวเล ซีเกรป” ด้วยการดึงเกษตรกรเข้าร่วมเป็นเครือข่ายผลิตสินค้าป้อนตลาดได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเตรียมขยายสู่ผลิตภัณฑ์อาหาร ตั้งเป้าภายใน 3-5 ปีเข้าตลาดหลักทรัพย์

ระบบบ่อปิด-น้ำทะเลเทียม

รุจฌ์ พวงวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ชาวเล ซีเกรป จำกัด กล่าวว่า จากพื้นฐานธุรกิจครอบครัวที่ทำฟาร์มกุ้ง จึงมีองค์ความรู้และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กระทั่งปี 2559 ธุรกิจเริ่มขาดทุน คุณพ่อจึงชวนเพื่อนมาลองเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม จากการสำรวจพบว่า มีการเลี้ยงกันอยู่หลายแบบทั้งในบ่อดิน บ่อปิด กระชัง แต่ระบบบ่อปิดไม่เป็นที่นิยมเพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง

จากการทดลองเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น 3 รูปแบบทั้งบ่อดิน บ่อปิดและกระชัง พบว่า บ่อดินมีข้อดีตรงที่สามารถสร้างผลผลิตได้มากแต่มีกลิ่นคาว จึงตัดสินใจเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบบ่อปิด โดยนำความรู้จากการเลี้ยงกุ้งมาประยุกต์ในการเลี้ยงสาหร่าย พร้อมทั้งพัฒนาเครื่องฟอกทำความสะอาดสาหร่ายขึ้นมาใช้

ล่าสุดขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการพัฒนาบ่อเพาะเลี้ยงที่ติดตั้งระบบอัตโนมัติ พร้อมทั้งทำการศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของสาหร่าย จากปกติที่ต้องใช้เวลาเลี้ยง 2 เดือนแต่ระบบใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาใช้เวลา 1 เดือน โดยการเพิ่มสารอาหารและปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของสาหร่ายด้วยการควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ

“3 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีผลการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหาร โรงแรมรวมทั้งตลาดต่างประเทศ ในราคากิโลกรัมละ 500 บาทสูงกว่าตลาดที่จำหน่ายกิโลกรัมละ 120-270 บาท แต่จากข้อจำกัดในการผลิตสาหร่ายพวงองุ่นที่ผลิตได้เดือนละ 3,000 กิโลกรัม ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด จึงคิดขยายกำลังการผลิตทั้งแบบที่ลงทุนเองและกระจายให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย โดยใช้ระบบการเพาะเลี้ยงของบริษัท

กำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำไว้ 3 แสนบาท 8 บ่อ จะสามารถคืนทุนได้ภายใน 6 เดือน ทางบริษัทจะเป็นผู้หาตลาดและรับซื้อ และที่สำคัญระบบปิดที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถเพาะเลี้ยงที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องติดทะเล เพราะใช้น้ำทะเลเทียม”

ต่อยอดเครื่องสำอาง-อาหาร

นอกจากนี้ในส่วนสาหร่ายพวงองุ่นที่ตกเกรด บริษัทจะนำไปใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ลดริ้วรอย ลดการทำลายคอลลาเจนชั้นผิว คาดว่าจะสามารถวางจำหน่ายปลายปีนี้ ส่วนในอนาคตจะแตกไลน์ไปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาตลาดโดยใช้แบรนด์แตกต่างกันเพื่อความชัดเจนในการทำตลาด ขณะเดียวกันบางส่วนของที่ตกเกรดจะนำไปใช้เป็นปุ๋ยเพื่อเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นต่อไป

ทั้งนี้ ระบบการผลิตของบริษัทเน้นเป็นออร์แกนิค สร้างความมั่นใจกับคู่ค้าและผู้บริโภคถึงคุณภาพ ความสะอาดและปลอดภัย ปัจจุบันบริษัทมีรายได้ 15 ล้านบาทต่อปี สัดส่วนรายได้มาจากตลาดในประเทศ 80% ที่เหลืออีก 20% เป็นตลาดต่างประเทศ

ในปีหน้าสัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนเป็นตลาดต่างประเทศ 60% ในประเทศ 40% ทั้งนี้เนื่องจากในปีนี้บริษัทเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น ล่าสุดได้เซ็นสัญญาส่งสาหร่ายพวงองุ่นไป ซานเจียง ประเทศจีน และซูเปอร์มาร์เก็ตมาเลเซีย 12 แห่ง คาดว่า 3-5 ปีต่อจากนี้จะมียอดขายอย่างน้อย 300 ล้านบาทและสามารถเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

“เป้าหมายของเราคือ การเป็นผู้นำในการผลิตและจำหน่ายสาหร่ายแบบครบวงจร ไม่เฉพาะแค่สาหร่ายพวงองุ่นเท่านั้น เพราะประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะเลี้ยงสาหร่าย ถือเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ (อ้างอิงจากกรมประมง) ที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เพาะเลี้ยงได้เป็นกอบเป็นกำ ด้วยรสชาติและสรรพคุณเฉพาะตัวของสาหร่ายจึงได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพ ในอนาคตจะดึงกลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชุนเข้ามาร่วมด้วยและทำเป็นศูนย์การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวด้วย” รุจฌ์ กล่าว