ปทุมธานี ต่อยอดพืชผักสู่เครื่องสำอาง

ปทุมธานี ต่อยอดพืชผักสู่เครื่องสำอาง

“ปทุมธานี” นำสารออกฤทธิ์จากใบบัวหลวง ปลีกล้วยหอมทอง ใบฝรั่งแป้นสีทอง พัฒนาเป็น ผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อสุขภาพและความงาม20 รายการหวังสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร

“ปทุมธานี” นำผลผลิตอัตลักษณ์ของจังหวัด ประกอบด้วย สกัดสารออกฤทธิ์จากใบบัวหลวง ปลีกล้วยหอมทอง ใบฝรั่งแป้นสีทอง พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อสุขภาพและความงาม 20 รายการ หวังสร้างรายได้เพิ่มอย่างน้อย 50 % ให้กับเกษตรกรและเอสเอ็มอีในพื้นที่ 90 ราย บนพื้นฐานงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.)

ยกตัวอย่างเช่น ยาสีฟัน สเปรย์ลดกลิ่นปาก ครีมรักษาฝ้าและริ้วรอย ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย น้ำยาอนามัยสตรีจุดซ่อนเร้นจากฝรั่งแป้นสีทอง, เซรั่มบำรุงผิว ผลิตภัณฑ์กันแดด โทนเนอร์ มาร์คบำรุงผิวหน้าจากบัวหลวง และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ผลิตภัณฑ์ถนอมมือและเล็บ ผลิตภัณฑ์บำรุงข้อศอกผลิตภัณฑ์ รักษาส้นเท้าแตก ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าแบบตบจากกล้วยหอมทอง

เสริมอัตลักษณ์เมืองสามโคก

สายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ปทุมธานีเป็นแหล่งผลิตและกระจายสินค้าเกษตรใหญ่ที่สุดของประเทศ มีโรงงานอุตสาหกรรมด้านเครื่องสำอางและการแปรรูปไม่น้อยกว่า 100 โรง ที่ผ่านมาผู้ประกอบการพบปัญหาวัตถุดิบไม่ได้มาตรฐาน ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาแพง

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี จึงจัดทำโครงการและสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำพืชผักที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด ได้แก่ ใบบัวหลวง ปลีกล้วยหอมทองและใบฝรั่งแป้นสีทอง มาพัฒนาเป็นสารสกัดและนำไปใช้เป็นสารออกฤทธิ์หลักในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับให้สินค้าเกษตร ตลอดจนต่อยอดให้มีการผลิตที่ตอบสนองความต้องการตลาดโลก สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. รับโจทย์วิจัยดังกล่าว พร้อมงบสนับสนุน 2.8 ล้านบาทเพื่อทำการศึกษาค้นคว้ากระทั่งได้เป็นผลิตภัณฑ์ ต้นแบบ ประกอบด้วย เครื่องสำอางจากบัวหลวง 5 รายการ เครื่องสำอางจากกล้วยหอมทอง 8 รายการและเครื่องสำอาง จากใบฝรั่งแป้นสีทอง 7 รายการ

“ถือเป็นความสำเร็จในการนำพืชที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดมาเพิ่มมูลค่าด้วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านทางผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ90 ราย ซึ่งเข้าร่วมโครงการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจาก วว. ให้สามารถนำไปประกอบเป็นธุรกิจได้ นับเป็นการบูรณาการความร่วมมืออย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ให้สามารถต่อยอดงานวิจัยให้เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หมุนเวียนให้เกิดขึ้น โดยสามารถเพิ่มรายได้อย่างน้อย 50% ” สายันต์ กล่าว

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมความงามมีความสำคัญและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมูลค่าของตลาดสินค้าความงามทั่วโลกเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4.5% ซึ่งเป็นผลมาจากผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องภาพลักษณ์และการดูแลสุขภาพไทยเป็นประเทศที่หนึ่งที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าความงามเป็นอันดับต้นๆในอาเซียน และยังเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งในตลาดความงามที่ใหญ่ในอาเซียนจากข้อมูลระบุว่า เป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมอันดับ 1 เป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางอันดับที่ 17 และยังเป็นผู้ส่งออกสกินแคร์อันดับที่ 12 อีกด้วย

สินค้าเกษตรสู่อุตฯความงาม

ณัฐฐิฐา ทองธรรมชาติ กรรมการผู้จัดการบริษัท โบทานิคส์ ไลฟ์ จำกัด กล่าวว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ มีแผนการที่จะต่อยอดด้วยการพัฒนา ผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้น 20 รายการ จากสารสกัดใบบัวหลวง ปลีกล้วยหอมทอง และใบฝรั่งแป้นสีทอง ภายใต้แบรนด์ของบริษัท โดยเริ่มนำร่องจากการผลิตยาสี ฟันจากใบฝรั่งและส่งจำหน่ายในประเทศจีนผ่านตัวแทน ปรากฏว่า ได้รับการตอบรับที่ดีจากลอตแรก 5,000 หลอดขยับไป 40,000 หลอด และ 2 ล้านหลอด

ในอนาคตกำลังขยายตลาดไปยังตะวันออกกลางและวางจำหน่ายในประเทศ ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไปในกลุ่มยาสีฟันจากธรรมชาติ ต่อไปจะขยายการ ผลิตครบทั้ง 20 รายการ คาดว่าภายในระยะเวลา 1 ปีจะรายได้เพิ่มขึ้น 30% จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังเปิดรับจ้างผลิตให้กับผู้ประกอบ การที่สนใจผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับการใช้ผลิตจากสารเคมี โดยใช้นาโนเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ และที่สำคัญ ปลอดภัยกับผู้บริโภค

“การนำงานวิจัยเข้ามาช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการซื้อสินค้า และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถเชิงธุรกิจ ของผู้ประกอบการและผลผลิตทางการเกษตรให้มีมาตรฐาน สามารถแข่งขัน ตลาดในประเทศและต่างประเทศ สร้างการรับรู้อัตลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานี ให้เป็นที่รู้จัก ทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย” ณัฐฐิฐา กล่าว