ถังดับเพลิงอัตโนมัติ สกัดรถแก๊สระเบิด

ถังดับเพลิงอัตโนมัติ สกัดรถแก๊สระเบิด

ถังดับเพลิงอัตโนมัติ ตอบโจทย์ปัญหารถเชื้อเพลิงแก๊สที่ติดไฟง่ายกลไกหลักของเทคโนโลยีอยู่ที่สายพลาสติก ซึ่งทำหน้าที่เซนเซอร์ตรวจจับความร้อน

ถังดับเพลิงดับไฟได้อัตโนมัติ เทคโนโลยีตอบโจทย์ปัญหารถเชื้อเพลิงแก๊สที่ติดไฟง่ายเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียทั้งรถโดยสารสาธารณะและรถส่วนบุคคล กลไกหลักของเทคโนโลยีอยู่ที่สายพลาสติก ซึ่งทำหน้าที่เซนเซอร์ตรวจจับความร้อน หากร้อนถึงระดับกำหนดจะปลดปล่อยสารดับเพลิงทันที ยังยั้งการลุกลามของเพลิงในระยะเวลาอันสั้น

นวัตกรรมวัสดุลิ้งก์ความร้อน

ไพโรจน์ อยู่บุรี ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมและการขาย บริษัท โอดีเอส จำกัด กล่าวว่า ในตลาดยังขาดอุปกรณ์ดับเพลิงสำหรับรถยนต์ ห้องเก็บเชื้อเพลิงที่มีความเสี่ยงและตู้ควบคุมไฟฟ้า ซึ่งปกติจะติดตั้งถังดับเพลิงไว้ หากเกิดเหตุในช่วงเวลาที่มีคนอยู่ก็สามารถใช้งานได้ทันที

“ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อไร โอกาสเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง เราจึงมองหาอุปกรณ์ที่เข้ามาตอบโจทย์โดยใช้งานง่าย ราคาไม่แพง สามารถดับเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ”

จากการสำรวจพบว่า ผลิตภัณฑ์แบรนด์ Nitibou จากประเทศญี่ปุ่นสามารถตอบโจทย์ความต้องการของบริษัท โดยมีสายติดกับถังดับเพลิงซึ่งทำจากวัสดุที่มีส่วนผสมที่พอดีกับอุณหภูมิที่ 92 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้สายแตกแล้วปลดปล่อยสารดับเพลิงที่บรรจุไว้จะออกมาทันทีภายในเวลาไม่เกิน10 วินาที ส่วนตัวสายพลาสติกสามารถพาดไปตามอุปกรณ์ที่ต้องการป้องกันเพลิงไหม้ได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ

ระบบประกอบด้วย ถังเคมี วาล์ว สายท่อที่นำสารเคมีดับเพลิงและทำหน้าที่เป็นเซนเซอร์ด้วย สารเคมีที่ใช้ดับเพลิงซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า โดยมีให้เลือกหลายชนิด อาทิ ผงเคมีแห้งเหมาะกับเพลิงที่เกิดจากไม้ กระดาษ น้ำมัน ไฟฟ้าซ๊อต, น้ำยาโฟมไม่เหมาะกับเพลิงที่เกิดจากไฟฟ้า, น้ำยาเหลวระเหยเหมาะที่ใช้กับเพลิงทุกประเภท ซึ่งราคาแพงที่สุด

“คุณสมบัติของสารดับเพลิงแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ราคาก็แตกต่างกัน ซึ่งนวัตกรรมนี้สามารถใช้กับสารเคมีดับเพลิงทุกชนิดที่บรรจุใส่ถังได้”

ส่วนแนวทางการทำตลาดในประเทศไทยจะแตกต่างจากญี่ปุ่น หากเป็นลูกค้าทั่วไปจะเป็นอุปกรณ์ที่สามารถนำไปประกอบติดตั้งเองได้ แค่ยึดนอตและเดินสายตามคำแนะนำ เช่น บ้านพักอาศัยควรติดตั้งตู้ควบคุมไฟฟ้า ห้องครัว

ส่วนในรถยนต์เชื้อเพลิงแก๊สซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักแนะนำติดตั้งที่ห้องเครื่อง รถเมล์ห้องเครื่องด้านหลัง ถ้าเป็นรถที่ติดแก๊สเดินสายคู่มากับตัวท่อแก๊ส หากเกิดเพลิงไหม้จะสามารถดับได้ทันที

เทคโนโลยีทางเลือก

อย่างไรก็ตาม หากมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ให้รถเมล์ รถตู้ทุกคันต้องติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง ไพโรจน์ คาดว่าทำให้ยอดขายเติบโตหลัก10 ล้านบาท จากปัจจุบันบังคับให้ติดถังดับเพลิงแบบหูหิ้วเท่านั้น ยังไม่ใช่แบบอัตโนมัติ แต่ในอนาคตโอกาสที่ภาครัฐจะนำมาบังคับใช้มีสูง เนื่องจากที่ผ่านมาเวลาที่เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ ไม่สามารถดับเพลิงได้ในจุดเกิดเหตุหรือจุดต้นเพลิง เช่น ห้องเครื่องที่มักเป็นต้นเพลิง ฉะนั้น การติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติจึงเป็นทางเลือกที่ไม่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

ปัจจุบันคู่แข่งในตลาดจะเป็นนวัตกรรมของคนไทยซึ่งอยู่ในรูปแบบลูกบอล หากเทียบต่อพื้นที่ของแบบสายท่อจะถูกกว่าและจุดเด่นคือ สามารถเดินสายไปได้ทั่วถึงครอบคลุมพื้นที่ได้ดีกว่า ไม่จำเป็นต้องติดตั้งหลายจุด ส่วนราคาตั้งแต่ 5,000-12,000 บาท สำหรับอายุงานของสายหรือท่อ 8 ปี ตัวถังตามมาตรฐาน 5 ปี ควรเปลี่ยนสารเคมี แต่ควรตรวจสอบอุปกรณ์ทุกปี คาดว่าปีแรก จะมีผู้สนใจติดตั้ง 3,000-4,000 ราย โดยจะเน้นการออกงานแสดงสินค้า เพื่อเปิดตัวและสื่อสารผ่านทางโซเชียลมีเดีย

“ในอนาคตเรานำสายท่อมาต่อยอดในการผลิตชุดดับเพลิงเฉพาะกลุ่ม เช่น สำหรับเซิร์ฟเวอร์ โดยนำนวัตกรรมสายท่อที่เป็นเสมือนตัวเซนเซอร์ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้แต่ละเซกเมนต์ที่แตกต่างกัน โดยนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับความต้องการในตลาด” ไพโรจน์ กล่าว