'ฉัตรชัย' มอบนโยบายพัฒนาภาคใต้ 4 ด้านหลัก

'ฉัตรชัย' มอบนโยบายพัฒนาภาคใต้ 4 ด้านหลัก

"ฉัตรชัย" มอบนโยบายพัฒนาภาคใต้ชายแดนแบบบูรณาการ กระตุ้น ระดมสมอง จัดทำแผนงานโครงการ 4 ด้านหลัก เผย "นายกฯ" สั่งการหน่วยราชการในพื้นที่ต้องให้ความสำคัญ

เมื่อวันที่ 8 ส.ค.61 ที่ จ.สงขลา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคใต้และภาคใต้ชายแดนแบบบูรณาการ ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสในการกำหนดทิศทางนโยบายรัฐบาล เป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน รวมทั้งเป็นโอกาสในการร่วมกันคิดแผนงานโครงการ เพื่อจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการประจำปี 2563 และต่อๆ ไป โดยร่วมกันในรูปแบบประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนบรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาภาคใต้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า การดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีแรกของการใช้กลไกการบริหารงานเชิงพื้นที่ ประกอบกับมีข้อจำกัดระยะเวลาที่ต้องปฏิบัติตามปฏิทินงบประมาณ ทำให้เกิดปัญหาในหลายด้าน ดังนั้น การขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่ ทั้งกระทรวง กรม และส่วนราชการ ควรนำเป้าหมายและประเด็นการพัฒนาภายใต้แผนพัฒนาภาค มาประกอบการพิจารณาจัดทำแผนของหน่วยงาน การดำเนินโครงการควรกำหนดเจ้าภาพหลักที่ชัดเจน มีการติดตาม และประเมินผลการดำเนินงาน โดยจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ควรใช้แผนพัฒนาภาคเป็นกรอบในการจัดทำ

"การพัฒนาภาคใต้ รัฐบาลมีแผนในการดำเนินหลักๆ คือ 1. การท่องเที่ยว 2. ภาคเกษตร 3.การบริหารจัดการน้ำ และ 4.เรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การเตรียมแผนงานโครงการ สำหรับจัดทำแผนปฏิบัติการภาค จังหวัดและกลุ่มจังหวัด ประจำปี 2563 ขอให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญแผนงานโครงการ ที่สอดคล้องแนวทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาภาคใต้และภาคใต้ชายแดน และสัมฤทธิ์ผลสามารถตอบโจทย์วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของแผนพัฒนาจังหวัด โดยจัดลำดับความสำคัญโครงการ คำนึงถึงศักยภาพ ความจำเป็นเร่งด่วน และจุดเน้นตามแนวทางการพัฒนา อาทิ ด้านการเกษตร มีการทำเกษตรผสมผสาน เกษตรปลอดภัย ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร ด้านบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ การพัฒนาและบริหารจัดการให้เพียงพอกับเกษตร อุปโภคบริโภค และป้องกันอุทกภัย เป็นต้น" นายกฯ กล่าว

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มีข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งส่วนราชการในพื้นที่ ต้องให้ความสำคัญ และนำมาประกอบการจัดทำรายละเอียดกิจกรรมในแผนงานโครงการและงบประมาณ อาทิ การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยคำนึงถึงการจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ การประยุกต์ใช้รูปแบบโครงการแก้มลิง การพัฒนาระบบและปรับปรุงระบบเฝ้าระวังแจ้งเตือน การทำแผนรับมืออุทกภัย แผนเผชิญเหตุ ขณะเดียวกันยังมีเรื่องการแก้ไขปัญหาประมง การลดความเหลื่อมล้ำ และการแก้ไขปัญหายางพารา ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่รัฐต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มน้ำดำรงชีพอยู่ได้ เนื่องจากเรื่องราคาเราไม่สามารถกำหนดได้เอง ตลอดจน การสร้างการรับรู้และให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน เป็นต้น