วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (7 ส.ค.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (7 ส.ค.61)

ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น ตลาดกังวลอุปทานลด หลังซาอุฯ ลดกำลังการผลิต

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความกังวลของตลาดที่มีต่ออุปทานน้ำมันดิบโลก หลังโอเปคเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียในเดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ 10.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปรับตัวลดลงราว 200,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

+ นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่าการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียและรัสเซียเพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปนั้นทำได้อย่างจำกัด ประกอบกับผลจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันอุปทานโลก

+/- สหรัฐฯ เรียกร้องนานาชาติให้ความร่วมมือในการคว่ำบาตรและหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมดจากอิหร่าน แต่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากยุโรปและจีนยังคงไม่เห็นด้วยต่อมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว ซึ่งน้ำมันดิบส่วนใหญ่ของอิหร่านถูกส่งออกไปยังจีนและอินเดีย และส่งออกไปยังยุโรปราวร้อยละ 20

+ Baker Hughes รายงานการลดจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ลงเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 สัปดาห์ โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 3 ส.ค. 61 ปรับตัวลดลง 2 แท่น มาอยู่ที่ 859 แท่น

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในภูมิภาคที่อยู่ในระดับดีและมีการส่งออกน้ำมันเบนซินเพื่อเก็งกำไรไปยังภูมิภาคตะวันตก

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยมีปัจจัยหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำจากออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ตลาดยังถูกกดดันจากการส่งออกน้ำมันดีเซลในภูมิภาค

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

          ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 65-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

          ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 70-75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นหลังแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Syncrude ในแคนาดา กำลังการผลิต 360,000 บาร์เรลต่อวัน มีแนวโน้มกลับมาผลิตได้ตามปกติในเดือน ส.ค.
  • การร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคได้ปรับลดลงกว่าร้อยละ 5 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 111 ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังทั้งสองกลุ่มผู้ผลิตตัดสินใจปรับเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมโอเปคที่ผ่านมา
  • ปริมาณการผลิตและส่งออกของลิเบียมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้น หลังท่าเรือขนส่งน้ำมันดิบ Zueitina และ Hariga กลับมาดำเนินการตามปกติ นอกจากนี้ ท่าเรือ Ras Lanuf และ Es Sider สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้แล้วด้วย แม้ว่าจะอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงถังเก็บน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง Sharara ยังคงหายไปกว่า 160,000 บาร์เรลต่อวัน หลังเกิดเหตุลักพาตัวคนงานโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

----------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

         โทร.02-797-2999