เปิดแผน ASIMAR แก้เกมธุรกิจต่อเรือทรุด

เปิดแผน ASIMAR แก้เกมธุรกิจต่อเรือทรุด

ภาพอุตสาหกรรม 'ต่อเรือ & ซ่อมเรือ' ยังไม่สวยหรู เหตุฐานลูกค้าเอกชนหดตัว 'สุรเดช ตัณฑ์ไพบูลย์' ซีอีโอ 'เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์' ปรับทัพใหม่ หันรับงานราชการทดแทน พร้อมรุกตลาดนอกบ้าน ผลักดันพันธกิจฐานะการเงินโต

สถานการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุม กำลังกดดันการเจริญเติบโต 'ธุรกิจด้านการต่อเรือและซ่อมเรือ' เติบโตไม่มีเสถียรภาพ หลังลูกค้าภาคเอกชน 'หดหาย' ไม่มีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ต่อเรือใหม่ หรือ แม้แต่มูลค่าซ่อมเรือต่อลำลดลง สะท้อนตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว...!!  

สอดคล้องกับภาพรวมของอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือในเมืองไทย ในปี 2560 ตลาดโดยรวม 'ลดลง' เฉลี่ย 9-10%  และถือเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งตลาดซ่อมเรือในประเทศหดตัวอย่างมาก เนื่องจากปริมาณเรือต่างประเทศเดินทางเข้ามาซ่อมในประเทศลดลง รวมทั้งภาวะซบเซาของธุรกิจการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในทะเล (Off shore vessel) อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  

สะท้อนผ่านผลประกอบการช่วง 3 ปี (2558-2560) 'กำไรสุทธิ' เติบโตอยู่ที่ 90.18 ล้านบาท 48.37 ล้านบาท และ 81.57 ล้านบาท ขณะที่ 'รายได้' อยู่ที่ 766.39 ล้านบาท 614.59 ล้านบาท และ 705.26 ล้านบาท 

ทว่าหาก บมจ.เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ หรือ ASIMAR ยังคงยึดติดอยู่กับกลุ่มลูกค้าเดิมๆ โอกาสการเติบโตยั่งยืนย่อมยากขึ้น จึงต้องเดินแผนรักษาฐานลูกค้ากลุ่มเดิมที่เป็น 'ลูกค้าเอกชน' พร้อมไปกับรุกสู่ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ นั่นคือ 'ลูกค้าราชการ' เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ ผลักดันฐานะทางการเงินให้เติบโต...!!! 

'สุรเดช ตัณฑ์ไพบูลย์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ หรือ ASIMAR เผยก่อนจะร่ายยาวถึงแผนธุรกิจปี 2561 ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ช่วง 2-3 ปีก่อน บริษัทเริ่มโฟกัสเข้ามาจับตลาด 'กลุ่มลูกค้าราชการ' ทั้งในธุรกิจต่อเรือและซ่อมเรือ จากเดิมที่บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าเอกชนเกือบ 100% เนื่องจากลูกค้าเอกชนได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว และราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ 

โดยปี 2561 เป้าหมายงานราชการอยู่ที่ 15-20% จากปีก่อน 10% สาเหตุที่บริษัทเข้ามาเน้นงานราชการมากขึ้น เพราะว่าเศรษฐกิจจะดีหรือชะลอตัว แต่งานราชการก็มีออกมาต่อเนื่อง แม้ว่ามาร์จินจะไม่สูงเหมือนงานเอกชน แต่ได้รับเงินค่าจ้างแน่นอนและตรงเวลามากกว่า   

หากย้อนดูประสบการณ์การทำงานของ 'สุรเดช' เคยทำงานเป็น 'พนักงานขาย' (เซลล์) อยู่ที่ ASIMAR กว่า 2 ปี ก่อนจะผันตัวเองไปทำงานในบริษัทเอกชน และเมื่อ 'วรวรรณ งานทวี' ประธานกรรมการบริหาร ASIMAR ต่อสายตรงไปหาว่าสนใจกลับมาทำงานไหม? ต่อจากนั้นตนเองก็ได้เข้ามาสมัครตามกระบวนการสรรหาทุกขั้นตอน

เขา ถือโอกาสฉายภาพธุรกิจในปี 2561 ให้ฟังว่า วางเป้าหมายเติบโต 'ไม่ต่ำกว่า 10-15%'  ปัจจุบันบริษัทมีโครงสร้างรายได้ 3 ธุรกิจ ประกอบด้วย 'ธุรกิจต่อเรือ-ธุรกิจซ่อมเรือ-ธุรกิจโครงสร้างเหล็ก' คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 35% ,60% และ 5% ตามลำดับ  

โดย 'ธุรกิจต่อเรือ' (Shipbuilding) ในช่วงที่ผ่านมางานเอกชนลดลงต่อเนื่อง เดิมลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทจะเป็นลูกค้าในธุรกิจ Off shore ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน เป็นต้น ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจแท่นขุดเจาะน้ำมัน ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันดิบร่วงต่ำลูกค้ากลุ่มดังกล่าวจึงหายไป ดังนั้น บริษัทหันมาเน้นในกลุ่มลูกค้าราชการในประเทศแทน เพราะว่ามีงานออกมาต่อเนื่อง ซึ่งตอนนี้ลูกค้าหลักๆ จะเป็น 'การท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท.' โดยที่ผ่านมาบริษัทมีการต่อเรือให้กับ กทท. อาทิ เรือลากจูงขนาดกำลังฉุดไม่น้อยกว่า 30  เมตริกตัน , เรือลากจูงขนาดกำลังฉุดไม่น้อยกว่า 40 เมตริกตัน เป็นต้น 

'ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากหันมาเน้นลูกค้าราชการมากขึ้น ทำให้ลูกค้าเอกชนในและต่างประเทศน้อยลง โดยเฉพาะตอนนี้เรามีลูกค้าราชการเกือบ 100% แล้ว'  

'ซีอีโอ' บอกต่อว่า ครึ่งปีหลังอยู่ระหว่างการยื่นประมูลงานต่อเรือราชการจำนวน 2 ลำ มูลค่า 170 ล้านบาท คาดว่าจะรู้ผลไตรมาส 3 ปี 2561 และอยู่ระหว่างเสนอราคางานเอกชนมูลค่างานราว 100 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งขีดความสามารถในการรับงานต่อเรือบริษัทสามารถรับงานต่อเรือมูลค่าตั้งแต่ 300 ล้านบาทขึ้นไปได้ 

สำหรับงานเอกชน ล่าสุดบริษัทเซ็นสัญญากับบริษัท ซีทรานเฟอร์รี่ จำกัด ให้ดำเนินการต่อเรือเฟอร์รี่โดยสารและบรรทุกรถยนต์ จำนวน 1 ลำ ความยาวตลอดลำ 83 เมตร ความกว้าง 14 เมตร มูลค่า 168 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มต่อเรือได้ราวไตรมาส 4 ปี 2561  และใช้เวลาต่อเรือ 18 เดือน 

'ปกติอุตสาหกรรมต่อเรือตลาดไม่เติบโต โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวผู้ประกอบการจะไม่ค่อยต่อเรือใหม่ แต่จะใช้วิธีซ่อมเรือเก่าทดแทน สถานการณ์เป็นลักษณะนี้มาร่วมๆ 3 ปีแล้ว แต่เราก็หันไปรับงานราชการแทน'  

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมบ้างแล้ว สะท้อนผ่านไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเริ่มขยับดีขึ้นมาอยู่ราว 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ลูกค้าเริ่มมีแผนที่จะ 'ปลุกเรือ' ยิ่งเรือ Off shore ออกมาใช้งานมากขึ้น จากเดิมที่จอดเรือทิ้งไว้เฉยๆ 

'สถานการณ์ก็จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวมากขึ้น เห็นภาพจากเรือที่จอดนิ่งก็จะถูกนำออกมาใช้งานมากขึ้น และคาดว่าอีกราว 1 ปี น่าจะเริ่มมีออเดอร์สั่งต่อเรือลำใหม่ๆ เข้ามา หากราคาน้ำมันขยับมาอยู่ระดับ 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล'     

'ธุรกิจซ่อมเรือ' (Ship Repair) ในปีนี้สถานการณ์เริ่มฟื้นตัว โดยคาดว่าปีนี้เติบโต 15% จากลูกค้ามีความมั่นใจในคุณภาพและส่งมอบตรงต่อเวลา ทำให้บริษัทจะมีฐานลูกค้าประจำที่ส่งเรือมาซ่อมอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับบริษัทไม่ต้องไปแข่งขันเรื่องราคากับผู้ประกอบการรายอื่นๆ อย่างในปีนี้ บริษัทมีลูกค้าที่ไม่เคยใช้บริการซ่อมเรือกับบริษัทก็มาทดลองใช้บริการกับบริษัทและติดใจการทำงานของบริษัท ทำให้บริษัทมีฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้นด้วย 

สำหรับงานซ่อมเรือเอกชน เขาบอกว่า ตลาดมีการเติบโตตลอดแม้เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี เพราะว่าตามกฎหมายผู้ประกอบการต้องซ่อมเรือตามที่กฎหมายบังคับ เพียงแต่ว่าช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวเอกชนมีเงินน้อยมูลค่าการซ่อมเรือต่อลำก็จะลดลง หากเศรษฐกิจดีๆ มูลค่าซ่อมเรือต่อลำสูง ยกตัวอย่าง ถ้าซ่อมเรือธรรมดามูลค่าต่อลำอยู่ที่ 2 ล้านบาท แต่หากซ่อมมากจะอยู่ที่ 10-15 ล้านบาทต่อลำ เป็นต้น 

'ท่าเรือแหลมฉบังคึกคัก ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่าอุตสาหกรรมขนส่งเริ่มฟื้นตัว สะท้อนผ่านการใช้เรือถี่ขึ้น'      

และอีกช่องทางคือบริษัทเข้าไปเจาะตลาดลูกค้าราชการ หลังจากไปสร้างฐานลูกค้าราชการในธุรกิจต่อเรือ ก็พ่วงธุรกิจซ่อมเรือเข้าไปด้วย  

'การกลับมารับงานราชการมีข้อดีคือได้รับเงินชัวร์ แม้ว่ามาร์จินไม่สูงเท่าเอกชน แต่ว่ามีงานเข้ามาต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี'

และ 'ธุรกิจโครงสร้างเหล็ก' ถือเป็นธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเสริมธุรกิจหลัก และเป็นการแสวงหาโอกาสในตลาดใหม่ที่ใช้ความสามารถหลักขององค์กร (Diversification) อาทิ งานโครงสร้างเหล็กในงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐ เช่น งานอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ งานก่อสร้างระบบขนส่งทางรางรถไฟฟ้าสายต่างๆ งานโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ปัจจุบันงานโครงสร้างเหล็กที่บริษัทดำเนินการอยู่คือ โครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา มูลค่างาน 27 ล้านบาท โดยรับงานต่อจาก บมจ. เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง หรือ PLE ให้ดำเนินการเหมางานโครงเหล็ก โดยมีระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ซึ่งบริษัทเริ่มทยอยรับรู้รายได้เข้ามาแล้ว คาดว่าไตรมาส 3 ปี 2561 จะรับรู้รายได้ทั้งหมด 

ขณะที่ ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเข้าไปเสนอราคางานโครงสร้างเหล็กโครงการรถไฟฟ้าด้วย รวมทั้งงานโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสุวรรณภูมิ เฟส 2 คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปอีก 1-2 เดือน มูลค่าสัญญาแรก 30-50 ล้านบาท 

'ปัจจุบันเราพยายามหางานโครงสร้างเหล็กเข้ามาเป็นรายได้เสริมให้ภาพรวมธุรกิจมีการเติบโตมากขึ้น'  

ท้ายสุด 'สุรเดช' ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมแล้ว สะท้อนภาพจากนั่งทำงานอยู่เห็นภาพความถี่ของเรือที่วิ่งเข้าวิ่งออกท่าเรือมากขึ้น ซึ่งเห็นความเคลื่อนไหวตรงนี้ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว และสอดคล้องกับตัวเลขส่งออกเมืองไทยที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 

เล็งซื้อ ‘อู่ซ่อมเรือ’ เมียนมาเสริมรายได้ 

'สุรเดช ตัณฑ์ไพบูลย์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ASIMAR บอกว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาขยายกำลังการผลิตเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ คาดว่าใช้เงินลงทุน 200 ล้านบาท โดยโอกาสความเป็นไปได้จะเป็นการซื้ออู่ซ่อมเรือ อย่างอู่ลอยที่ตอนนี้มีอยู่ 2 อู่ คาดว่าจะซื้อเพิ่มอีก 1 อู่ ซึ่งกำลังศึกษาความเป็นไปได้ถึงความเหมาะสมก่อน เพราะว่าบริษัทเพิ่มลงทุนซื้อสินทรัพย์ที่จังหวัดสุราษฎร์ไป 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในต่างประเทศบริษัทเข้าไปศึกษาพื้นที่ในประเทศเมียนมา เพราะว่าเป็นประเทศที่กำลังมีธุรกิจแท่นขุดเจาะน้ำมันเกิดขึ้นใหม่ ฉะนั้น จะมีผู้ประกอบการนำเรือ Off shore เข้าไปทำงานจำนวนมาก ซึ่งบริษัทกำลังดูโอกาสและความเป็นไปได้ของตลาดจะมีมากน้อยแค่ไหน  รวมทั้งงานต่อเรือในต่างประเทศ โดยเราศึกษาตลาดต่อเรือราชการในต่างประเทศ เพราะว่างานเอกชนยังเงียบๆ ซึ่งในบางโครงการเปิดให้บริษัทในต่างประเทศเข้าไปประมูลได้ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีการต่อเรือให้กับราชการของประเทศกัมพูชา  

เขา บอกต่อว่า ในปีนี้บริษัทยังขยายตลาดในธุรกิจซ่อมเรือเข้าไปในต่างประเทศด้วย อาทิ เกาหลี ,มาเลเซีย ,อินโดนีเซีย และ ไต้หวัน ซึ่งบริษัทจับกลุ่มลูกค้าที่เส้นทางขนส่งเข้าในประเทศไทย โดยนำสินค้าเข้ามาส่งก่อนกลับก็นำเรือมาซ่อมกับบริษัทก่อน ปัจจุบันมีเรือสัญชาติเกาหลี และไต้หวัน เข้ามาซ่อมแล้ว และลูกค้าสิงคโปร์ ที่มีการซ่อมเรือ Off shore   

สำหรับ ปีที่แล้วมีลูกค้าต่างชาติมาซ่อมเรือแล้ว 5 ลำ ในปีนี้ตั้งเป้ามีลูกค้า 6-7 ลำ โดยมีมูลค่างานตั้งแต่ 5-15 ล้านบาท ใช้เวลาซ่อมประมาณ 10-15 วัน ซึ่งมูลค่าซ่อมเรือต่อลำลูกค้าต่างชาติจะสูงกว่าในประเทศประมาณ 5%

'นโยบายของเราซ่อมให้เร็วที่สุด เสร็จแล้วต้องรีบไป เพราะพื้นที่เรามีจำกัด'