5 เดือนท่องเที่ยวทำเงิน 8 แสนล้านบาท

5 เดือนท่องเที่ยวทำเงิน 8 แสนล้านบาท

ก.การท่องเที่ยวและกีฬาฯ ระบุสถานการณ์ท่องเที่ยวเดือนพ.ค. 61 เผยนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.75 ล้านคน ชี้รายได้ 1.36 แสนล้านบาท จีนครองแชมป์เที่ยวไทย ลั่น 5 เดือนแรกทำเงิน 8 แสนล้านบาท แจงรายได้เมืองท่องเที่ยวรอง ขยายตัว 9.29%

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.61 นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวสรุปสถานการณ์การท่องเที่ยวเดือนพ.ค. 2561 เกี่ยวกับสถานการณ์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สถานการณ์พักแรมที่สำคัญ สถานการณ์ชาวไทยท่องเที่ยวภายในประเทศ และรายได้จากการท่องเที่ยว ดังนี้ ในเดือนพ.ค. 2561 สรุปสถานการณ์ท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวน 2,755,059 คนในจำนวนนี้ เป็นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียจะวันออกมากที่สุด 2,048,830 คน รองลงมาได้แก่ นักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรป เอเชียใต้ อเมริกา โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวขยายตัว 6.35% ตามการขยายตัวของนักท่องเที่ยวเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียใต้ขยายตัวสูงถึง 9.72 %

สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากที่สุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย จีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม สิงคโปร์ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ นอกจากนี้ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวระหว่างเดินทางท่องเที่ยวของประเทศ ก่อให้เกิดรายได้ 136,710.26 ล้านบาท ขยายตัว 9%จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยคลัสเตอร์ที่ทำรายได้สูง ได้แก่ ที่พัก ช็อปปิ้ง อาหารและเรื่องดื่ม

นายพงษ์ภาณุ กล่าวต่อว่าสำหรับนักท่องเที่ยวที่สร้างรายได้สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ จีน 46.61พันล้านบาท มาเลเซีย 7.95 พันล้านบาท อินเดีย 7.46 พันล้านบาท สหรัฐอเมริกา 6.13 พันล้านบาท เกาหลี 5.63 พันล้านบาท รัสเซีย 5.19 พันล้านบาท สหราชอาณาจักร 5.17 พันล้านบาท ออสเตรเลีย 4.84 พันล้านบาท ญี่ปุ่น 4.73 พันล้านบาท และฮ่องกง 3.55 พันล้านบาท ตามลำดับ สถานการณ์สถานพักแรมที่สำคัญ เม.ย. 2561 พบว่า อัตราการเข้าพัก 76.5% อัตราการจองของเดือน(ก.ค.2561) 31.9% และสัดส่วนรายได้จากการจัดประชุม 31.2%

“โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวน 16,456,470 คน ขยายตัว 12.62% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และสร้างรายได้รวม 867,460.77 ล้านบาท ขยายตัว 16.11% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่สถานการณ์ท่องเที่ยวของคนไทยเที่ยวไทย เม.ย.ปี 2561 มีชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศจำนวน 14.41 ล้านคน ขยายตัว 5.34 % จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวของชาวไทย คาดว่าก่อให้เกิดรายได้ 89,279.88 ล้านบาท ขยายตัว9.77%จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา”นายพงษ์ภาณุ กล่าว

นายพงษ์ภาณุ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวเมืองท่องเที่ยวหลักเดือนม.ค.-เม.ย. 61 พบว่าชาวไทยในเมืองท่องที่ยวหลัก 46.43 ล้านคน 3 อันดับแรกได้แก่ จ.กรุงเทพฯ นครราชสีมา และชลบุรี ส่วน 3 จังหวัดที่มีการขยายตัวสูงสุด ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และพังงา ส่วนรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 275,350.25 ล้านบาท โดย 3 จังหวัดที่มีรายได้สูงสุด ดังนี้ กรุงเทพ ฯ 116,524 ล้านบาท เชียงใหม่ 24,049 ล้านบาท ภูเก็ต 22,080 ล้านบาท และ 3 จังหวัดที่มีการขยายตัวสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา

สำหรับสถานการณ์เมืองท่องเที่ยวรอง ตั้งแต่เดือนม.ค.-เม.ย.61 พบว่า จำนวนชาวไทยในเมืองท่องเที่ยวรอง 28.74 ล้านคน 3 จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนสูงสุด คือ นครศรีธรรมราช พิษณุโลก และเชียงราย ส่วนที่มีการขยายตัวสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี บุรีรัมย์ และชุมพร สำหรับรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยในเมืองท่องเที่ยวรอง รายได้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เชียงราย 7,628 ล้านบาท นครศรีธรรมราช 5,562 ล้านบาท และสตูล 4,904 ล้านบาท ขยายตัวสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ราชบุรี บุรีรัมย์ และจันทบุรี สรุป 4 เดือนแรก จำนวนผู้ไปเยือนเมืองท่องเที่ยวรอง ขยายตัว5.17 % ใกล้เคียงกับเมืองท่องเที่ยวหลัก และรายได้ในเมืองท่องเที่ยวรองขยายตัว 9.29% สูงกว่าแนวโน้มปกติ 3% ซึ่งการขยายตัวที่สูงขึ้น แสดงให้เห็นว่านโยบายการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาลเริ่มเห็นผลชัดเจนมากขึ้น

“เรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนละ 3 ล้านกว่าคน แต่มาเดือนพ.ค.นี้เหลือประมาณ 2 ล้าน 7 แสนคน ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล และปัจจัยอื่นๆ เช่น เรื่องฟุตบอลโลก เดือนถือศีลอด ทำให้มีผลต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวในเดือนพ.ค. แต่ทั้งปี น่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ คือ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยประมาณ 37-38 ล้านคน และทำรายได้ประมาณ 2 ล้านล้านบาท และส่วนไทยเที่ยวไทย ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ทำให้มีรายได้ทั้งหมด 3 ล้านล้านบาท ตามที่ตั้งเป้าไว้ สำหรับนโยบายเมืองรองที่รัฐบาลให้การสนับสนุนนั้น อัตราการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไปยังเมืองรอง เริ่มเห็นชดมากขึ้น อย่าง จ.ลพบุรี บุรีรัมย์ เป็นต้น” นายพงษ์ภาณุ กล่าว

นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมกับการท่องเที่ยวนั้นเป็นปัญหาที่อยู่คู่กัน เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมย่อมเกิดขึ้นตามมา ช่วงที่ผ่านมาในหลายจังหวัดมีปัญหานักท่องเที่ยวมาก อย่าง ภูเก็ต ทำให้มีปัญหาเรื่องน้ำเสีย และระบบบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะในเทศบาลเมืองป่าตองไม่สามารถรองรับน้ำเสียได้ ทางทส.ได้มีการหารือกับทางจ.ภูเก็ต และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขยายระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีปัญหาขยะมูลฝอย ที่ประเทศไทยมีมากกว่า 27 ล้านตัน ซึ่งได้บริหารจัดการแก้ปัญหาได้เพียงครึ่งหนึ่ง และตอนนี้ทั่วโลกให้ความสนใจเรื่องขยะพลาสติก พบว่าไทยมีขยะพลาสติกติดอันดับ 6 ของโลก ดังนั้น ปัจจุบันต้องร่วมกันรณรงค์แก้ไขปัญหา ลดใช้ถุงพลาสติก

“ขณะนี้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างก.การท่องเที่ยวและกีฬา และทส. เพื่อแก้ปัญหาการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน โดยจะมีการวางมาตรการป้องกัน แก้ปัญหาขยะในพื้นที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งขณะนี้ ทส.ได้มีการรณรงค์เลิก ลด และใช้นวัตกรรมในการจัดการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ของทส. ได้มีการเลิกใช้ถุงพลาสติก และในพื้นที่รับผิดชอบ อาทิ อุทยานแห่งชาติต่างๆ สวนสัตว์ อุทยานแห่งชาติทางทะเล ได้มีการประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติก และหากพื้นที่ไหนจำเป็นต้องใช้จริงๆ จะต้องนำขยะคืนถิ่น คือจะต้องนำขยะกลับมายังฝั่งเพื่อนำมาจัดการกำจัดได้อย่างถูกต้อง รวมถึงบางพื้นที่ได้ปิดให้บริการ เพื่อจัดการปัญหาในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะ หรือฟื้นฟูปะการัง เช่น อุทยานแห่งชาติพีพี ปิดอ่าวมาหยาเริ่ม 1มิ.ย.ถึง 30 ก.ย.2561 เป็นต้น ส่วนสิ่งแวดล้อมทางอากาศ ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขปัญหาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และพื้นที่ต่างๆ จนขณะนี้ปัญหาหมอกควัน ในพื้นที่หลัก อย่าง จ.เชียงใหม่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงราย สามารถแก้ปัญหาหมอกควันลดลง 20% อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อม ต่างๆ มีการฟื้นตัว และปรับให้ดีขึ้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่อไป