​รัฐวางมาตรการอุ้มเอสเอ็มอี ลดผลกระทบราคาน้ำมันสูง

​รัฐวางมาตรการอุ้มเอสเอ็มอี ลดผลกระทบราคาน้ำมันสูง

รัฐบาลวางแผนช่วยเหลือลดผลกระทบเอสเอ็มอีจากราคาน้ำมันเพิ่ม กำหนดศูนย์ SSRC ทั่ว ปท.รับแจ้งปัญหา ดันสินเชื่อดอกเบี้ย 1% ลดต้นทุนการเงิน

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากราคาน้ำมันปรับขึ้น และมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มสูง ดังนั้น เพื่อจะลดผลกระทบดังกล่าว รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดให้ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Support & Rescue Center : SSRC) ซึ่งมีศูนย์บริการกระจายอยู่กว่า 270 แห่งทั่วประเทศ รวบรวมหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวเนื่องกับการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยไว้ครบถ้วนในจุดเดียว ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) เป็นต้น โดยให้ทำหน้าที่เป็นจุดรับแจ้งปัญหา หรือขอรับความช่วยเหลือจากผลกระทบราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือ และแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ตรงความต้องการมากที่สุด ซึ่งจะมีทั้งมาตรการช่วยเหลือด้านไม่ใช่การเงิน และการเงิน ช่วยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ยกระดับปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีศักยภาพและภูมิคุ้มกันมากกว่าเดิม ช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

สำหรับมาตรการช่วยเหลือที่ไม่ใช่การเงินนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จัดเตรียมชุด 9 มาตรการยกระดับปรับเปลี่ยนเอสเอ็มอีให้มีความสามารถในการแข่งขันก้าวสู่ยุค 4.0 เช่น พัฒนาธุรกิจโดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี ยกระดับการผลิตด้วยระบบออโตเมชั่น สร้างแพลตฟอร์มเชื่อมเครือข่ายสากล เป็นต้น

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ SME Development Bank กล่าวว่า ธนาคารได้รับมอบหมายจากรัฐบาล จัดมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน รูปแบบสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ เพื่อให้เอสเอ็มอีใช้เป็นทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง ลดผลกระทบในภาวะที่ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคลรายเล็ก คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 1% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา 7 ปี ไม่ต้องใช้หลักประกัน เปิดโอกาสให้รายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้ (แม้เคยปรับโครงสร้างหนี้ หรือผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องมาก็ตาม) วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย ให้ชำระแต่ดอกเบี้ยอย่างเดียวปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 3 ปี โดยทุกการกู้ 1 แสนบาท เมื่อเทียบกับการกู้ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป จะประหยัดต้นทุนวันละ 22 บาท อีกทั้ง ไม่ต้องคืนเงินต้นวันละ 43.25 บาท รวมแล้ว ทำให้มีเงินเหลือเพื่อไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจ 65.25 บาทต่อวัน

สำหรับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรแปรรูป ธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนและเชื่อมโยงต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ประกอบการใหม่ หรือธุรกิจผลิต หรือบริการต่างๆ ในชุมชน มีบริการ สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 3% คงที่ 3 ปีแรก ผ่อนนาน 7 ปี วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย ไม่มีหลักประกัน สามารถใช้ บสย.ค้ำประกันฟรี 4 ปีแรก โดยกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนเพียง 460 บาทต่อวันเท่านั้น

ขณะที่ เอสเอ็มอีที่ต้องการยกระดับปรับเปลี่ยนเครื่องจักร อุปกรณ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ระบบออโต้เมชั่น เพื่อลดต้นทุนการผลิตหรือบริการ สามารถใช้บริการ สินเชื่อ "Transformation Loan เสริมแกร่ง" (Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2) อัตราดอกเบี้ยถูกเพียง 4%ต่อปี ตลอดอายุโครงการ 7 ปี วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย เพื่อใช้ลงทุนและหมุนเวียนในกิจการ วงเงิน 10 ล้านบาทแรก สามารถใช้ บสย. ค้ำประกันได้ โดยไม่เสียค่าจดจำนอง และไม่มีค่าซื้อประกันพ่วง

นายสมชาย กล่าวในตอนท้ายว่า มาตรฐานดังกล่าวข้างต้น ทั้งด้านไม่ใช่การเงิน และการเงิน เชื่อว่าจะช่วยลดผลกระทบในเบื้องต้นให้แก่เอสเอ็มอีได้ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานพันธมิตรทั้งหมด จะเฝ้าติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพื่อพร้อมรับมือ สามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้อย่างทันท่วงที