ราคาน้ำมันดิบปิดร่วง66เซนต์

ราคาน้ำมันดิบปิดร่วง66เซนต์

แต่หากพิจารณาความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันตลอดทั้งสัปดาห์ถือว่าปรับตัวขึ้น ขานรับกระแสข่าวที่ว่าสหรัฐเล็งคว่ำบาตรอิหร่าน

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนมิ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาดไนเม็กซ์ ปรับตัวลง 66 เซนต์ ปิดที่ 70.70 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ร่วงลง ปิดตลาดที่ราคา 77.04 ดอลลาร์/บาร์เรล

ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 4 ไตรมาส ซึ่งจะเป็นช่วงขาขึ้นของราคาน้ำมันที่ยาวนานที่สุดในรอบกว่า 10 ปี โดยได้แรงหนุนจากจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเมื่อวันอังคาร ซึ่งจะปูทางให้สหรัฐทำการคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่หลังจากนี้ 180 วัน นอกจากว่าสหรัฐ จะมีการบรรลุข้อตกลงใหม่ภายในช่วงเวลาดังกล่าว

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สหรัฐจะประกาศคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่านจำนวน 200,000-1,000,000 บาร์เรล/วัน โดยตลาดจะเริ่มได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรดังกล่าวตั้งแต่ปีหน้า แต่ถึงแม้ว่ามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน แต่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียก็ได้ให้คำมั่นว่าจะรักษาเสถียรภาพในตลาดน้ำมันต่อไป เพื่อประโยชน์ของผู้ผลิตและผู้บริโภค และเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจทั่วโลก

ขณะนี้ อิหร่านนับเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก โดยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) โดยอิหร่านส่งออกน้ำมันมากกว่า 2.6 ล้านบาร์เรล/วัน หลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลงในปี 2558 กับกลุ่มประเทศ P5+1 ซึ่งได้แก่ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐ และเยอรมนี ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้ P5+1 ผ่อนปรนการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน เพื่อแลกกับการที่อิหร่านระงับการพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการที่สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (อีไอเอ) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินต่างก็ปรับตัวลงในสัปดาห์ที่แล้ว โดยสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลง 2.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 2.2 ล้านบาร์เรลเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การผลิตน้ำมันของสหรัฐที่พุ่งขึ้นเป็นปัจจัยกดดันตลาด โดยการผลิตได้เพิ่มขึ้น 27% นับตั้งแต่กลางปี 2559 สู่ระดับ 10.70 ล้านบาร์เรล/วัน ส่งผลให้สหรัฐเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากรัสเซีย ซึ่งผลิตน้ำมันเกือบ 11 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่อีไอเอ คาดว่าการผลิตน้ำมันของสหรัฐจะพุ่งขึ้นแตะ 12 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า