ถอดบทเรียน ‘สแน็คเห็ด’

ถอดบทเรียน ‘สแน็คเห็ด’

สแน็คน้องใหม่แบรนด์ “หัวเห็ด” ชูจุดเด่นในความเป็นพืชสากลที่ทั่วโลกรู้จักและคุ้นเคยมาแปรรูปด้วยวิธีการอบแห้งรุกตลาดต่างประเทศ

“เห็ดอบกรอบ” ของกินเล่นจากวัตถุดิบที่คนทั่วโลกคุ้นเคยจะเข้ามาได้รับความนิยมแทนที่ “มันฝรั่งทอดกรอบ” เป็นความท้าทายของสแน็คน้องใหม่แบรนด์ “หัวเห็ด” ชูจุดเด่นในความเป็นพืชสากลที่ทั่วโลกรู้จักและคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็น คนญี่ปุ่น คนจีนรวมไปถึงผู้บริโภคในแถบตะวันตก รวมถึงเรื่องคุณภาพและคุณประโยชน์บวกกับรสชาติที่หลากหลาย

ปัจจุบันโรงงานมีกำลังการผลิต 8,000-10,000 ซองต่อวัน ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 100 ล้านบาทและปีต่อๆ ไปจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากการจำหน่ายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ผ่านดีลเลอร์ที่มีศักยภาพ ตลอดจนการร่วมโรดโชว์และออกงานเทรดแฟร์ต่างๆ

สินค้าลักชัวรี่สู่โอท็อป

“เศรษฐกาล เศรษฐภากรณ์” อดีตผู้บริหารระดับภูมิภาคสวารอฟสกี้ ถึงจุดอิ่มตัวกับการเป็นมนุษย์เงินเดือนจึงหันมาเป็นผู้ประกอบการ โดยเริ่มต้นด้วยการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมาจำหน่าย แต่ไม่สามารถควบคุมทั้งคุณภาพ และเวลา จึงค้นหาธุรกิจใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ที่สำคัญสามารถควบคุมคุณภาพมาตรฐาน จึงหันมาโฟกัสที่ธุรกิจอาหาร

“ประเทศไทยมีศักยภาพด้านอาหาร ประกอบกับทิศทางภาครัฐก็ให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นครัวโลก จึงตัดสินใจผลิตขนมขบเคี้ยวจากเห็ด เนื่องจากมองเห็นโอกาสจากกระแสความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ ขณะที่เห็ดเป็นวัตถุดิบที่ตอบโจทย์มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับขนมขบเคี้ยวจากมันฝรั่ง สาหร่าย และถั่ว” เศรษฐกาล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท มายาณกานต์ จำกัด กล่าว

เห็ดสะท้อนความเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพที่ชัดเจน ยิ่งเมื่อนำมาทำเป็นขนมขบเคี้ยวก็สามารถกระจายไปได้ทั่วโลกในราคาที่ผู้บริโภคยอมรับได้ จึงเริ่มต้นด้วยสแน็คจากเห็ดเข็มทองและเห็ดนางฟ้าจากฟาร์มปลอดสาร มาแปรรูปด้วยวิธีการอบแห้งไม่ใส่ผงชูรส เห็ดสดทุกๆ 1 กิโลกรัมเมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เห็ดอบกรอบ จะเหลือน้ำหนักประมาณ 6 ขีดเท่านั้น

ข้อจำกัดของวัตถุดิบเห็ด เมื่อผ่านกระบวนการแปรรูปแล้ว น้ำหนักจะน้อยลงไม่เหมือนแป้งขึ้นรูปหรือถั่วที่น้ำหนักไม่หายไป ประกอบกับความเป็นสินค้าเกษตรจึงมีปัจจัยต้นทุนราคาผันผวน ทำให้ราคาขายของเห็ดแต่ละชนิดไม่เท่ากัน เช่นเดียวราคาถั่วแต่ละประเภทจะไม่เท่ากัน

“การทำงานต้องเรียนรู้และมีปัญหาอุปสรรคตลอด ต้องเผชิญหน้าและหาทางแก้ เพราะเส้นทางการทำธุรกิจแตกต่างจากเดิมที่เป็นสินค้าลักชัวรี่ ไม่มีวันหมดอายุ ยิ่งเก็บนานมูลค่าเพิ่มขึ้น ผลิตวันนี้อีก 3 ปีขายก็ยังกำไร แต่อาหารมีวันหมดอายุ ผลิตออกมาแล้วต้องขายให้ทันเวลาก่อนหมดอายุ จึงต้องทำกิจกรรมกระตุ้นยอดขายเพื่อให้สินค้าออกจากชั้นวางสินค้าให้เร็ว ทำให้ต้องจัดกิจกรรมผ่านไอจีนักแสดง สปอนเซอร์ตามมหาวิทยาลัย ออกบูธ ทำพีอาร์ เพื่อสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด จึงต้องเรียนรู้ใหม่ทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ”

3 เคล็ดลับความสำเร็จ

แม้ว่าที่ผ่านมาเขาจะมีความเชี่ยวชาญทางการตลาด แต่ไม่ใช่เครื่องการันตีความสำเร็จในการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญคือความมุ่งมั่นและใส่ใจที่จะเรียนรู้ สิ่งไหนที่ไม่รู้ก็จะทำการศึกษาและหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยให้คำปรึกษา เช่น นักวิจัยด้านอาหารถึงกรรมวิธีการพัฒนาเห็ดเป็นผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการยื่นขอมาตรฐานการผลิตที่ดี (GMP) และตราสัญลักษณ์ฮาลาล เพื่อร่นระยะเวลาในการลองผิดลองถูก

เศรษฐกาล กล่าวถึงเหตุผลที่ลงทุนกว่า 10 ล้านบาทตั้งโรงงานและซื้อเครื่องจักรแทนการจ้างผลิต เนื่องจากสามารถบริหารจัดการและควบคุมราคาในระดับที่ผู้บริโภคยอมรับได้ ต่างจากการจ้างผลิตที่เป็นต้นทุนให้สินค้ามีราคาแพง คาดว่าจะใช้เวลาคืนทุน 3-5 ปี โดยตั้งเป้ายอดขาย 80-100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายในการขยายฐานตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ

“ผู้ที่กำลังเข้ามาเป็นผู้ประกอบการจะต้องเริ่มจาก 1.รอบรู้ในเรื่องการบริหารจัดการ ต้นทุน งบการเงิน และจัดการในเรื่องของกฎกติกาทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชน 2. รู้จริงในรายละเอียด เช่น กติกาของภาครัฐและเอกชนที่เป็นอุปสรรคในการผลิตหรือการบริหารจัดการ 3. รู้จักแก้ปัญหา ยกตัวอย่าง หากการแข่งขันดุเดือดก็พร้อมจะมุ่งผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง ญี่ปุ่นและยุโรป ที่สนใจสินค้าเพื่อสุขภาพเป็นทุนเดิม หรือปรับเปลี่ยนไลน์การผลิตไปผลิตสินค้าอื่นเข้ามาเสริม รวมถึงรสชาติใหม่”