ปิดจ๊อบ สแกนม่านตา 'ต่างด้าว' สมุทรสาคร

ปิดจ๊อบ สแกนม่านตา 'ต่างด้าว' สมุทรสาคร

รมว.แรงงาน ลงพื้นที่สมุทรสาคร แถลงปิดจ๊อบ สแกนม่านตาแรงงานต่างด้าว พอใจทะลุเกินเป้าหมาย จำนวนถึง 169,955 คน

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่สมุทรสาครแถลงปิดจ๊อบสแกนม่านตาแรงงานต่างด้าว (Iris Scan) ในกิจการประมงทะเล แปรรูปสัตว์น้ำและต่อเนื่องประมง เผยขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว อีกทั้งยังจัดเก็บอัตลักษณ์ได้เกินเป้าหมาย

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการที่กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าวโดยการสแกนม่านตา (Iris Scan) ใน 3 ประเภทกิจการ คือ 1. ประมงทะเล 2. แปรรูปสัตว์น้ำ และ 3. ต่อเนื่องประมง ใน 22 จังหวัดชายทะเล ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง ระนอง ปัตตานี ชุมพร ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชลบุรี สงขลา ตรัง ฉะเชิงเทรา สตูล จันทบุรี นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ และพังงา ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2560 ตามคำสั่ง คสช. ที่ 49/2560 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 

ปิดจ๊อบ!! สแกนม่านตา

"ซึ่งเบื้องต้นตั้งเป้าหมายแรงงานต่างด้าวไว้ที่จำนวน 168,538 คน นั้น ขณะนี้ (27 มีนาคม 2561) กรมการจัดหางานสามารถดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์ได้เสร็จสิ้นตามเป้าหมายก่อนเวลาที่กำหนด อีกทั้งยังสามารถจัดเก็บอัตลักษณ์ได้เกินเป้าหมาย คือ 169,955 คน แบ่งเป็นประมงทะเล 57,883 คน และแปรรูปสัตว์น้ำฯ 112,072 คน ซึ่งกระทรวงแรงงานมีแนวทางในการเร่งรัดขับเคลื่อนงานเพื่อให้แล้วเสร็จทันตามกำหนด ดังนี้ " รมว.แรงงานระบุ

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า 1.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานประมง ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด โดยแบ่งโครงสร้างการจัดเป็น 3 ส่วน คือ 1) ส่วนอำนวยการ 2) ส่วนปฏิบัติการ 3) ส่วนสนับสนุน 2.จัดตั้งชุดปฏิบัติการ (กำลังชุดละ 7 นาย) เป็นโมบายทีม 3. กำหนดแผนปฏิบัติ (ACTION PLAN) ของแต่ละชุดปฏิบัติการตามการนัดหมายผู้ประกอบการ 4. กำหนดระเบียบปฏิบัติประจำ การปฏิบัติและรายงานผล

ปิดจ๊อบ!! สแกนม่านตา

5. แผนฉุกเฉิน เช่น เครื่องพัง /ป่วยเจ็บ / อุบัติเหตุ 6. ประชุมกำหนดเป้าหมาย ซักซ้อมทำความเข้าใจกับทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล โดยกรมการจัดหางานเป็นหน่วยงานหลักในการบริการจัดการใช้เครื่องมือการเก็บอัตลักษณ์ทั้ง 30 เครื่อง/ชุดปฏิบัติ ให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งเน้นในพื้นที่เป้าหมายที่มีจำนวนแรงงานมาก 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระยอง ระนอง ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร 

“ผลจากการขับเคลื่อนงานตามแนวทางดังกล่าว ทำให้กระทรวงแรงงานสามารถจัดเก็บอัตลักษณ์แรงงานต่างด้าวภาคประมงฯ ได้เสร็จสิ้นตามเป้าหมายก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2561 โดยจังหวัดสมุทรสาครนี้สามารถดำเนินการได้ทะลุเป้าหมาย เก็บอัตลักษณ์แรงงานต่างด้าวได้ถึง 68,610 คน แบ่งเป็นประมงทะเล 2,572 คน และแปรรูปสัตว์น้ำฯ 66,038 คน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวน 56,638 คน (เป็นภาคประมงทะเล จำนวน 2,568 คน ต่อเนื่องประมงและแปรรูปสัตว์น้ำฯ จำนวน 54,070 คน)” รมว.แรงงาน กล่าว

ปิดจ๊อบ!! สแกนม่านตา

รมว.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามีการจัดเก็บดำเนินการภายในศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ OSS เป็นลักษณะตั้งรับ ต่อมากระทรวงแรงงานได้จัดชุดปฏิบัติการ 12 ชุด โดยได้รับการสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานในจังหวัด และกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนที่ 13 จังหวัดกาญจนบุรี และกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยชุดปฏิบัติการได้เข้าไปดำเนินการในสถานประกอบการอีกทางหนึ่ง ตามแผนการที่ได้กำหนดไว้ร่วมกันกับผู้ประกอบการ สามารถแก้ไขปัญหาได้เรียบร้อยจนเสร็จสิ้นภารกิจ

พล.ต.อ.อดุลย์  กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การพิสูจน์ตัวบุคคลโดยใช้ลายนิ้วมือกับภาพถ่ายกับแรงงานในกิจการประมงทะเลและกิจการแปรรูปสัตว์น้ำอาจมีความคลาดเคลื่อน เพราะแรงงานในเรือใช้มือในการทำงานมาก ลายนิ้วมือก็ไม่ชัดเจน แต่การสแกนม่านตาสามารถพิสูจน์ตัวบุคคลได้ทันที ไม่สามารถบิดเบือนได้ ป้องกัน การสวมรอยตัวบุคคล ทั้งยังแก้ปัญหาการจ้างแรงงาน การเปลี่ยนงานได้อีกด้วย