'มีชัย' ไม่เสนอนายกฯ ยื่นตีความร่างกฎหมาย ส.ส.

'มีชัย' ไม่เสนอนายกฯ ยื่นตีความร่างกฎหมาย ส.ส.

"มีชัย" ไม่เสนอ "นายกฯ" ยื่นตีความร่างกฎหมาย ส.ส. เหตุเกินภารกิจ เชื่อกาคะแนนแทนคนพิการ ไม่กระทบล้มเลือกตั้ง ประเมินร่างพ.ร.ป.ส.ว. อาจไม่ตีตกทั้งฉบับ

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 61 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ตนจะไม่ส่งข้อเสนอแนะหรือความเห็นเพิ่มเติมต่อร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หลังจากที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งเรื่องให้นายกฯ พิจารณาดำเนินการตามกระบวนการประกาศใช้กฎหมาย ตามที่เคยทำความเห็นไปยัง สนช. ให้พิจารณาส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย 2 ประเด็น คือ การตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง, ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองหากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุ และการลงคะแนนแทนผู้พิการ ทุพพลภาพ หรือคนชรา เพราะเกินภารกิจของกรธ.

นายมีชัย กล่าวอีกว่า ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าหากไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วอาจเป็นเหตุกระทบต่อการเลือกตั้งในอนาคต ที่ทำให้การเลือกตั้งต้องล้มไปทั้งหมด เหตุเพราะลงคะแนนแทนผู้พิการนั้นไม่ใช่การเลือกตั้งแบบโดยตรงและลับ ตนมองว่าจะไม่ไปถึงขั้นนั้น เพราะการลงคะแนนแทนคนพิการอาจเป็นเฉพาะบางหน่วยเลือกตั้งเท่านั้น เว้นแต่พบว่ามีหลายหน่วยที่ลงคะแนนแทน แล้วภายหลังมีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าวิธีลงคะแนนแทนนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นโดยตรงและลับ

นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่สนช. ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตนไม่ทราบเนื้อหาของหนังสือว่าเขียนเช่นไร เพราะหากเขียนให้ชัดเจนเฉพาะบทบัญญัติในบทเฉพาะกาล จะไม่ถือว่าไม่กระทบกับสาระสำคัญ ทำให้ร่างพ.ร.ป. ใช้ความในบทหลักได้ และดำเนินตามกระบวนการประกาศใช้กฎหมายได้ ทั้งนี้ต้องรอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่า หากวินิจฉัยความว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ สาระที่วินิจฉัยนั้นถือว่ากระทบกับสาระสำคัญหรือไม่ ทั้งนี้หากผลวินิจฉัยทำให้ร่างพ.ร.ป.ส.ว. ต้องตกไป หน้าที่แก้ไขยังเป็นของกรธ.

"ตามรัฐธรรมนูญความของกฎหมายลูกที่กระทบกับสาระสำคัญและขัดรัฐธรรมนูญจะทำให้ร่างกฎหมายตกไปทั้งฉบับ แต่กรณีดังกล่าวหากยื่นศาลเฉพาะความในบทเฉพาะกาล จะตัดส่วนดังกล่าวออกไปและทำตามขั้นตอนประกาศใช้กฎหมายได้ แต่ผมมองว่าบทหลักที่ใช้นั้นเพื่อให้ได้ ส.ว. 200 คน แต่บทเฉพาะกาลเขียน คือวิธีให้ได้มาซึ่ง ส.ว. จำนวน 50 คนและต้องใช้บังคับคราวแรกของการได้ส.ว. ประเด็นนี้ผมมองว่ามีทางออก คือ ให้กฎหมายประกาศใช้ แล้วคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมกับ คณะรัฐมนตรี เสนอแก้ไขให้สอดคล้องกับการการได้มาซึ่ง ส.ว. ในคราวแรก" นายมีชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถึงข้อเสนอสนช. ให้นักการเมืองทำสัตยาบรรณเลื่อนเลือกตั้งเพื่อแลกกับการยื่นตีความร่างพ.ร.ป.ส.ส. นายมีชัย กล่าวว่า ทำแบบนั้นไม่ได้ และเชื่อว่านักการเมืองคงไม่ยอมทำ