กมธ.ภาษีที่ดินขอต่อเวลา2เดือน ชี้หลายประเด็นยังไม่ได้ข้อสรุป

กมธ.ภาษีที่ดินขอต่อเวลา2เดือน ชี้หลายประเด็นยังไม่ได้ข้อสรุป

คณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน เตรียมเสนอ สนช.ขอยืดเวลาพิจารณากฎหมายอีก 2 เดือน ชี้หลายประเด็นยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งการยกเว้นภาษีสนามกีฬา ที่ดินรัฐวิสาหกิจ

พล.ท. ชาญชัย ภู่ทอง โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในวันที่ 21 มี.ค.2561 มีนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นประธานการประชุมจะพิจารณาลงมติเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขอต่ออายุการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อีก 2 เดือน หลังจากเคยขอต่ออายุมาแล้ว 5 ครั้ง และครั้งล่าสุดจะครบกำหนดในวันที่ 25 มี.ค.นี้ ซึ่งนายวิสุทธิ์ ประเมินว่าการขอต่อเวลาครั้งนี้อาจใช้เวลาทำงานไม่ถึง 2 เดือน แต่จะเสนอ สนช.ขอต่อไว้ก่อน 2 เดือน

พล.ท.ชาญชัย กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมาธิการฯ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ตกลงจะขอต่ออายุการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ เพราะมีหลายประเทศที่ยังไม่ได้ข้อสรุปและต้องทำรายละเอียดเพิ่มโดยคณะทำงาน 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรมธนารักษ์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและคณะกรรมาธิการฯ
สำหรับประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป คือ การยกเว้นหรือบรรเทาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับ สวนสนุก สวนสัตว์และสนามกีฬา เช่น สนามกอล์ฟ และยังมีประเด็นเบี้ยปรับ-เงินเพิ่ม ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยในร่าง พ.ร.บ.กำหนดไว้ที่ 1 เท่าของภาษีที่ไม่ชำระ แต่มีการแสดงความเห็นว่าเป็นอัตราที่สูง โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและคณะกรรมการกฤษฎีกาจะไปดูรายละเอียดประเด็นนี้

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับที่ดินของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งยังรวบรวมข้อมูลที่ดินและทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจไม่ครบ โดย สศค.กำลังประสานกับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งให้สรุปข้อมูลและผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

พล.ท.ชาญชัย กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมาธิการฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายได้เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อมาติดตามความคืบหน้าการยกร่างกฎหมาย รวมทั้งให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาร่างกฎหมายด้วยความรอบคอบ

นายอภิชาติ ประสิทธิ์ฤทธิ์ กรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญ รัฐวิสาหกิจมาให้ข้อมูล โดยรัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีที่ดินมาก เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ กลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบมากจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีที่ดินในเขตเมืองมาก เช่น รฟท. ปตท. โดยรัฐวิสาหกิจกลุ่มนี้อาจเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสูงกว่าภาษีเดิมที่เคยเสีย ซึ่ง ปตท.ปัจจุบันเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินที่เป็นปั๊มน้ำมัน โรงกลั่นและอาคารสำนักงาน และชี้แจงว่ากรณีภาระภาษีที่ดินใหม่สูงขึ้นอาจส่งผลต่อต้นทุนดำเนินงาน และอาจทำให้ราคาน้ำมันหรือก๊าซที่จำหน่ายให้ผู้บริโภค

นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีการเสนอให้ยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการสาธารณูปโภค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ฟ.ท.มีที่ดินทั้งหมด 234,976 ไร่ โดยใช้ที่ดิน 85%หรือเกือบ 2 แสนไร่ในการเดินรถ และที่เหลืออีก 15%หรือประมาณ 3.6 หมื่นไร่ ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการเดินรถ โดยที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ปล่อยให้เอกชนเช่าที่ดินบางส่วนในเชิงพาณิชย์ โดยปัจจุบันมีสัญญาเช่ากว่า 5,000-6,000 ฉบับ ขณะเดียวกันเตรียมเปิดประมูลโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มรายได้ให้องค์กร เช่น สถานีกลางบางซื่อ 305 ไร่