'อภิสิทธิ์' ชี้การศึกษาไทยไม่พัฒนา

'อภิสิทธิ์' ชี้การศึกษาไทยไม่พัฒนา

“อภิสิทธิ์” ชี้การศึกษาไทยไม่พัฒนา เพราะเปลี่ยนนโยบายตามรัฐบาล ยันหาก ปชป. มีโอกาส จะแก้ไขเรื่องนี้ลำดับแรก

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 61 ที่โรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ทิศทางการศึกษาไทยในยุค 4.0" ว่า ไทยแลนด์ 4.0 เป็นการเตือนเราทุกคนว่าไม่สามารถที่จะเติบโตได้หากยังใช้ปัจจัยแบบเดิมอย่างที่ผ่านมาทั้งภาคบริการ อุตสาหกรรม การเกษตร โดยการจุดประกายไทยแลนด์ 4.0 เป็นสิ่งที่ดีและมีความสำคัญ แต่ตนยังไม่มั่นใจว่านโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสอดรับกับเป้าหมาย 4.0 จริงหรือไม่ โดยปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เป้าหมายไม่สำเร็จ ก็คือกฎหมายที่ไม่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ขอยกตัวอย่างสิ่งที่ผมกำลังจะประสบก็คือตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ เป็นต้นไป พรรคการเมืองจะต้องดำเนินการจัดทำรายชื่อสมาชิกพรรคให้เป็นปัจจุบันตามข้อกำหนดของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งต้องดำเนินการเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษร ไม่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้มากนัก ดังนั้นจึงควรต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงปรับหลักคิดในการออกกฎระเบียบต่างๆ ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ในขณะเดียวกันต้องมีการพัฒนาศักยภาพกำลังคน บุคลากร เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยว่าจะได้ทักษะฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องวางพื้นฐานตั้งแต่การศึกษาการ พัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ขณะเดียวกันครูผู้สอนต้องมีความพร้อมในการเปลี่ยนวิธีคิดและกระบวนการคิดในการให้ความรู้กับนักเรียนให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ในปัจจุบันด้วย ทั้งนี้ฝ่ายการเมืองจะต้องไม่กำหนดนโยบายในทางปฏิบัติให้กับสถาบันการศึกษามากจนเกินไป เนื่องจากที่ผ่านมาการพัฒนาการศึกษาจะสะดุดลงเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ดังนั้นหากฝ่ายบริหารสามารถวางแนวทางในการนำกระบวนการศึกษามาร่วมกับชุมชนและท้องถิ่นได้ ก็จะช่วยให้การศึกษาเกิดการพัฒนาได้เร็วมากขึ้น เพราะหากต้องรอกระทรวงศึกษาธิการและส่วนกลางกำหนดนโยบาย การปรับเปลี่ยนทางการศึกษาก็จะทำได้ยากขึ้น

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีนโยบายการคืนครูให้นักเรียน ซึ่งไม่ได้มีการสานต่ออย่างจริงจัง การจะคาดหวังให้โรงเรียนปรับเปรียบวิธีการเรียนรู้ แต่กลับไม่เปิดให้ครูได้มีโอกาสพัฒนาและทุ่มเทให้การเรียนการสอน การพัฒนาการด้านการศึกษาจึงเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับการศึกษา ดังนั้นหากมีโอกาสเข้าไปทำงานก็จะกำหนดเรื่องการศึกษาเป็นลำดับแรกๆ