กราฟฟิตี้ ขยี้สังคม

กราฟฟิตี้ ขยี้สังคม

เมื่อเสียงเรียกร้องด้วยปากไม่ดังพอให้บางคนได้ยิน คนบางกลุ่มจึงอาศัยผลงานศิลป์เป็นเครื่องขยายเสียง

            แรงกดดันในสังคมที่คั่งค้างอยู่ในใจของกลุ่มคนผิวสีในสหรัฐอเมริกาช่วงปลายยุค 60 ถึงต้นยุค 70 ก่อร่างสร้างวัฒนธรรมย่อย (Sub Culture) ที่เรียกว่า กราฟฟิตี้ (Graffiti) เปลี่ยนกำแพงและสถานที่สาธารณะให้กลายเป็นพื้นที่เพื่อป่าวร้องถึงความไม่พอใจ สะท้อนความเหลื่อมล้ำและการกดขี่ ผ่านถ้อยคำรวมถึงภาพต่างๆ ที่กลุ่มคนดังกล่าวต้องการสื่อสาร

            ในโลกของกราฟฟิตี้ไม่จำเป็นต้องมีผืนผ้าใบ ต้องการแค่สีและพื้นที่ (ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม) เพื่อใช้ละเลงชุดความคิดของพวกเขาออกมาเป็นผลงาน เช่น อดีตยุคแรกเริ่มของวัฒนธรรมกราฟฟิตี้ในมหานครนิวยอร์ก ศิลปินมักใช้รถไฟใต้ดินเป็นพื้นที่ปล่อยของ เพราะระบบรถไฟใต้ดินจะพาผลงานของพวกเขาเดินทางไปบอกเล่าถึงสาธารณชนได้มากขึ้น จนถึงวันนี้วัฒนธรรมกราฟฟิตี้ได้เดินทางไปทั่วโลก ทำหน้าที่หลากหลายตั้งแต่เพื่อสะท้อนตัวตน, โชว์ฝีมือ หรือแม้แต่เคลื่อนไหวสังคม

 

  • ‘พ่น’ จากก้นบึ้ง

            แรงจูงใจที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งสร้างงานกราฟฟิตี้เป็นที่สนใจของนักวิชาการด้านต่างๆ เช่น นักมานุษยวิทยา, นักจิตวิทยา, นักสังคมวิทยา ฯลฯ อย่าง มวย - ปิยศักดิ์ เขียวสะอาด ศิลปินกราฟฟิตี้ที่ศึกษาเรื่องกราฟฟิตี้มาไม่น้อยกว่า 7 ปี ก็เป็นคนหนึ่งซึ่งแสวงหาคำตอบ เขาอธิบายว่าเดิมทีคนทำกราฟฟิตี้คือคนผิวสี มีคนผิวขาวปนอยู่บ้าง ซึ่งส่วนมากเป็นชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ถูกเหลียวแลจากสังคม ไม่แม้กระทั่งได้อยู่ในชนชั้นกลาง เมื่อมี ‘แรงกด’ ย่อมมี ‘แรงผลัก’ คนกลุ่มนี้จึงนำสีมาพ่น มาระบาย

            “ยุคนั้นคนออกมาพ่นโดยไม่ได้มีกิมมิก (Gimmick) หรือนัยยะอะไรมาก แต่เป็นการออกมาแสดงการต่อต้าน มาแสดงจุดยืน หลังจากนั้นมีคนพัฒนาโดยเขียนชื่อของตัวเอง เช่น Julio 204 และ Taki 183 ที่พ่นอยู่ทั่วนิวยอร์กในยุคนั้น”

            เพราะในช่วงปี 1970 สหรัฐอเมริกาค่อนข้างเปราะบางทั้งเรื่องสังคม วัฒนธรรม และการเมือง มีคนผิวสีจำนวนมากถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนสวนทางกับการเจริญเติบโตด้านเทคโนโลยี รอยแยกระหว่างชนชั้นห่างไกลมากขึ้นทุกทีๆ กระทั่งคนผิวสีและชนชั้นล่างต้องใช้กราฟฟิตี้เป็นเครื่องมือ ซึ่งต่อมากราฟฟิตี้ถูกใช้ถ่ายทอดประเด็นอื่นๆ มากมาย เช่น ต่อต้านสงคราม เรียกร้องสันติภาพ ฯลฯ

            มวยบอกว่างานแบบนี้ต้นกำเนิดเป็นวัฒนธรรมและการแสดงออกที่เกี่ยวกับสังคมโดยใช้พื้นที่สาธารณะ จุดประสงค์หลักจึงเพื่อสื่อสารสู่สาธารณชน จนเรียกได้ว่า เป็นเสมือนเลือดของคนหนึ่งคน “ไม่ว่าจะพ่นอะไร ต้องมีที่มาหรือภายในที่ต้องการบอกแก่สังคม”

            “ต่างประเทศเขายกให้ศิลปะแบบนี้เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมศิลปะ” มวยบอก

            สำหรับในประเทศไทย กราฟฟิตี้หลั่งไหลเข้ามาเป็นเหมือนของแถมจากวัฒนธรรมเพลงฮิปฮอป (Hip Hop) ศิลปินกราฟฟิตี้คนนี้มองว่าจึงอาจจะหยั่งรากลึกไม่ได้เท่าประเทศอื่นๆ เขานิยามว่ายังเป็นเพียง ‘แฟชั่น’ ซึ่งบางคนเริ่มจากการแต่งตัวแนวสตรีต (Street Wear) บางคนพ่นตามกระแส ในขณะที่ต่างประเทศมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมศิลปินแขนงนี้เป็นจริงเป็นจัง แม้ว่ากราฟฟิตี้จะเข้ามาในไทยไม่น้อยกว่า 20 ปีแล้ว

            “ด้วยความที่คนพ่นยังเป็นคนกลุ่มเดิมๆ คือ กลุ่มคนชอบสเก็ตบอร์ด ชอบเพลงแร๊พ เริ่มต้นจากคนกลุ่มนี้ แล้วทุกวันนี้คนกลุ่มนี้ก็ยังพ่น แต่ในขณะที่วัฒนธรรมการเสพเพลงและสิ่งพวกนี้มันจำกัดวงมากๆ มันส่งผลนะ จึงไม่ได้แปลว่า 20 ปี จะทำให้มันฝังรากลึกได้ ในต่างประเทศเรียกว่า Pro Element คือ กราฟฟิตี้, เพลงฮิปฮอป และเต้นบีบอย มันต้องไปด้วยกัน แต่บ้านเราไปทีละอย่าง พอมองเป็นภาพรวมจึงไม่กว้าง”

            แรงกดดันทางสังคมเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้พลังของกราฟฟิตี้ไทยยังไม่ชัดเจนในแง่การเคลื่อนไหวทางสังคม มวยเปรียบเทียบถึงคนที่มีแรงกดดันว่ามักจะทำอะไรได้มากกว่าและมีพลังกว่า ไม่เหมือนคนที่อยู่อย่างสบายๆ ย่อมไม่มีภาวะกดดันให้ออกมาทำ หรือเรียกร้องอะไรสักอย่างหนึ่ง

            “บ้านเราไม่ได้อยู่ในจุดที่ต้องออกมาเรียกร้องอะไรมากพอ กฎหมายเราก็เบา ชนชั้นเราก็ไม่ได้แบ่งแยกชัดเจน ไม่มีกฎหมายเหยียดผิว ทุกอย่างมันสบายไปหมด การแสดงออกจึงไปในทางสวยงาม จนบางครั้งเราลืมไปว่าเราทำหน้าที่ได้มากกว่าแค่ความสวยงาม”

 

  • เสือดำ on the wall

            ความเป็นไปของสตรีตอาร์ตประเภทกราฟฟิตี้ตลอด 20 ปีมานี้ค่อนข้างนิ่งงัน จนกระทั่งช่วงหลายปีหลังศิลปินแนวนี้ในบ้านเราเริ่มเป็นที่ยอมรับ และผลงานของพวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมศิลปะ หลายผลงานกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองอย่างแนบเนียนมากขึ้น

            ทว่าส่วนมากก็ยังอยู่ในบริบทของความงาม จนถึงตอนนี้ที่ข่าวดังกรณีมหาเศรษฐีล่าสัตว์ป่ากำลังอยู่ในความคลุมเครือ ระหว่างที่สังคมไม่รู้หัวก้อย อีกด้านหนึ่งกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยก็ส่งเสียงอยู่ตลอดว่า “เสือดำต้องไม่ตายฟรี” หรือ “สัตว์ป่าต้องได้รับความยุติธรรม” จนบางคนเรียกสิ่งนั้นว่า ‘กระแสสังคม’

            ในแวดวงกราฟฟิตี้ไทยก็ขานรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และโหมหนักเมื่อภาพกราฟฟิตี้เสือดำและสัญลักษณ์ลำโพงถูกปิดเสียง ผลงานของศิลปินที่ใช้ชื่อว่า Headache Stencil ที่ซอยสุขุมวิท 58 ถูกลบ ทั้งเสียงก่นด่า วิพากษ์วิจารณ์ ลุกลามจนเกิดผลงานกราฟฟิตี้ทำนองเดียวกันอีกทั่วประเทศ

            ปุ้ย - ปิยะวรรณ ตั้งสกุลสถาพร ตัวแทนจากเพจ A Call for Animal Rights Thailand ที่จัดกิจกรรม ‘จับคู่กำแพง + ศิลปิน’ บอกว่าที่จัดกิจกรรมนี้ก็เพื่อต้องการให้การแสดงออกผ่านกราฟฟิตี้เป็นไปอย่างถูกต้อง

            “เราเห็นว่ามีคนอยากพูดผ่านศิลปะ ใช้ศิลปะเป็นตัวสื่อสาร เราจึงอยากให้เจ้าของกำแพง เจ้าของพื้นที่โพสต์แจ้งความต้องการให้ศิลปินมาทำงาน ไม่ว่าจะรั้วหรือกำแพง แล้วให้ศิลปินเข้ามาเลือกว่าอยากทำโลเคชั่นไหน เรามองว่านี่เป็นกระแสสังคมที่ดีผ่านศิลปะ”

            การที่กราฟฟิตี้เสือดำปรากฏขึ้นบนกำแพง บางงานถูกลบในชั่วข้ามคืน ปิยะวรรณมองว่านี่กำลังสะท้อนว่าเจ้าหน้าที่ (หรือคนบางคน) กำลังไม่เข้าใจการสื่อสาร เพราะส่วนมากพื้นที่เหล่านั้นเดิมทีก็มีคนไปพ่นกราฟฟิตี้บ้างพ่นซี้ซั้วบ้างจนเละเทะไปหมด แต่ทันทีที่มีเสือดำ จะมีคนมาลบโดยเกิดความย้อนแย้งที่ว่า พื้นที่กำแพงข้างเคียงยังคงเลอะเทอะเหมือนเดิม...

            หลังจากกิจกรรมนี้ถูกเผยแพร่บอกต่อกัน มีทั้งเจ้าของพื้นที่และศิลปินจำนวนมากสนใจ ตั้ม – ทศพร กลั่นแก้ว หรือ Spanky Studio เป็นศิลปินที่เลือกกำแพงบ้านซึ่งอยู่เยื้องกับอาคารบริษัทของเศรษฐีผู้ตกเป็นข่าว โดยผลงานของตั้มชื่อว่า ‘Justice for Wildlife’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘จิตวิญญาณแห่งป่า’ เขาเล่าถึงแรงบันดาลใจว่าเกิดจากตอนที่เห็นข่าวดังกล่าว เขานึกถึงวินาทีที่เสือดำตัวนี้ถูกยิง เป็นความเจ็บปวด ทรมาน จนต้องร้องคำรามออกมา

            “ตอนนั้นผมคิดว่านี่มันคืออะไร ทั่วโลกกระแสอนุรักษ์กำลังเติบโต ที่ออสเตรเลียแค่ปูย้ายถิ่นฐานเขายังปิดถนนให้ปูเดิน แต่นี่คือคนแบกปืนไรเฟิลไปยิงเสือดำ นี่มันนิยายเพชรพระอุมา มัน Old School มากนะ เฮ้ย! มันไม่ใช่หรือเปล่า แล้วทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นผืนป่ามรดกโลก เจ้าหน้าที่ทำงานกันหนักมาก แต่นี่มันอะไรวะ”

            หลังจากนั้นเขาจึงนำความคิด ความรู้สึก มาสร้างเป็นผลงาน โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า Stencil Graffiti คือ การแกะบล็อกแล้วพ่นทีละชั้นจนเกิดเป็นภาพที่สมบูรณ์ ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาได้ส่งแบบให้เจ้าของกำแพงได้ดูแล้ว โดยลดทอนสีแดงที่สะท้อนถึงเลือดให้เป็นสีเขียว กลายเป็นสะท้อนจิตวิญญาณป่า เมื่อพอใจทั้งสองฝ่ายจึงมาพ่น

            ด้าน เอก – ชัยบูรณ์ บรรลือ ฉายาในวงการกราฟฟิตี้ว่า Joker ที่คร่ำหวอดในวงการนี้มาร่วมสิบปี เขาเป็นอีกคนที่พ่นงานสะท้อนเหตุการณ์ดังกล่าวบริเวณใกล้แอร์พอร์ตลิงค์มักกะสัน โดยมีแรงบันดาลใจจากข่าวคราวที่เกิดขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกัน ทั้งข่าวหวย 30 ล้าน, ข่าวเศรษฐีล่าสัตว์, ข่าวตลาดเถื่อน พร้อมๆ กับที่ได้ดูการ์ตูนเรื่องหนึ่ง จึงนำคาแรกเตอร์ของคนในข่าวกับในการ์ตูนมาผสมผสานกันด้วยชั้นเชิงทางศิลปะอย่างตลกร้าย

            “จริงๆ มีจุดที่ผมสนใจมากกว่าแค่การที่มีศิลปินออกมาทำงานเสือดำ คือ ทำไมเสือดำถึงถูกลบ มันก็คงเหมือนหลายคนที่อยากเลือกตั้งแต่ทำไมอย่างนี้ไม่ได้ อย่างนั้นไม่ได้ แต่ก็แน่นอนครับ รูปแบบการแสดงออกของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ผมทำในรูปแบบของศิลปะแบบนี้ก็เป็นการแสดงออกที่ผมอยากบอก ส่วนการถูกลบก็กลายเป็นคำถามซึ่งเราก็จะทำต่อไป

            ผมมองว่านี่เป็นความท้าทาย ศิลปะเป็นเรื่องที่ดีนะ เมื่อก่อนผมทำใส่ผ้าใบ แต่คนทั่วไปจะเห็นได้ยาก ต้องไปแสดงในหอศิลป์บ้าง สถานที่อื่นบ้าง แต่ตลอดเวลาที่ผมทำกราฟฟิตี้มาผมมีโอกาสได้พูดคุยกับคนที่ผ่านมาเห็นค่อนข้างเยอะ ศิลปะแบบนี้มันทำให้คนเข้ามาถาม ได้แลกเปลี่ยน คนในพื้นที่ก็จะเข้าใจว่ามันไม่ง่ายนะ เขาคิดกันอย่างนี้นะ ถึงจะไม่ใช่ Fine Art (วิจิตรศิลป์) โดยตรง แต่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของศิลปะให้คนได้เข้ามาสัมผัส”

            แน่นอนที่สุดว่าตอนนี้กราฟฟิตี้เสือดำบนกำแพงกำลังคำรามเรียกแขกได้มากทีเดียว

 

  • กราฟฟิตี้ไทย ต้องรับใช้สังคม

            นี่น่าจะเป็นจุดพีคที่สุดครั้งหนึ่งของวงการกราฟฟิตี้ไทยในฐานะกระบอกเสียงสะท้อนสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพียงกระแสหรือการต่อสู้ที่แท้จริง แต่ในมุมมองของศิลปิน ศิลปะกับการเคลื่อนไหวทางสังคมคือของคู่กัน อย่างที่ ตั้ม – ทศพร บอกว่าเขามองกราฟฟิตี้เป็นสื่อหนึ่ง ไม่ใช่แค่ศิลปะ มันจะต้องสื่อสารถึงคนรับสารได้ด้วย

            “เราไม่ได้มองว่าเป็นแค่ศิลปะ แต่มองว่าเป็นสื่อหนึ่ง ถ้าเราไปเขียนตัวหนังสือบางทีคนไม่สนใจ พอเป็นศิลปะด้วยบางคนก็ไม่ได้คิดอะไรหรอก แต่สวยดี แปลกดี เราก็นำจุดสนใจไปที่เรื่องที่อยากเล่า อย่างนี่บางคนก็จะบอกว่ารูปเสือดำ อ๋อ...ที่ถูกยิง คดีเป็นอย่างไรบ้างแล้วนะ มันกระตุ้นได้นิดๆ หน่อยๆ ก็โอเคแล้วครับ

            ปกติผมทำงานโดยไม่คาดหวังอะไร แค่ได้แสดงฝีมือ สนุก แล้วก็จบ พื้นฐานของคนทำสตรีตอาร์ตคืออยากให้คนเห็นงาน ไม่อย่างนั้นก็ไม่มาทำอะไรบนถนนแบบนี้ เราก็คงไปทำในแกลเลอรี่”

            ในความเลอะเทอะที่หลายคนมองเห็น เมื่อลงลึกไปในถึงแก่นย่อมเจอความหมายซ่อนอยู่ มวย เป็นคนหนึ่งซึ่งเคยมองข้ามศิลปะแขนงนี้เพราะความสนใจของเขาคือการเมือง จนกระทั่งได้ไปต่างประเทศแถบยุโรป ความตั้งใจเดินหลงเพื่อดูบ้านดูเมืองพาเขาไปพบกับกราฟฟิตี้ที่เขาอธิบายว่า “มันเต็มตากว่า” ยิ่งดูยิ่งค้นพบ และเกิดคำถามในใจว่า “ทำไมสีสเปรย์ไม่กี่กระป๋องถึงทำได้ขนาดนี้ จนต้องกลับมาศึกษาจนเข้าใจแล้วว่า กราฟฟิตี้ที่เคยอยู่นอกสายตา แท้จริงแล้วไม่ใช่แค่การประกาศศักดาของคนพ่น แต่คือเครื่องมือรับใช้สังคมนี่เอง

            “สุดท้ายคนทำกราฟฟิตี้หรือสตรีตอาร์ตต้องให้แง่คิดหรือสะท้อนอะไรบางอย่างสู่สังคม เพราะพื้นที่ของเราคือพื้นที่ของสังคม พื้นที่สาธารณะ พอทำไปแล้วอย่างน้อยคนที่ทำงานด้านนี้จะต้องตระหนักว่างานของเราจะเป็นหนึ่งกระบอกเสียงได้ ผมคิดว่าสิ่งนี้จะทำให้คนทำกราฟฟิตี้ออกมาแสดงจุดยืนบนกำแพงกันมากขึ้น

            ก่อนหน้านี้ผมว่ายังเงียบๆ อาจเพราะภาวะกดดันไม่มากพอ หรือกลัวอะไรสักอย่าง เรื่องความกลัวในข้อกฎหมายหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็สัมพันธ์กับการที่เราอยู่มาอย่างสบายด้วยนะ เราเคยทนได้ก็ทนไป เรารับสิ่งต่างๆ มาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีใครสักคนมาแสดงออกมาว่าไม่ยอม ซึ่งมีเสียงตอบรับจากประชาชน ก็กระตุ้นให้คนทำกราฟฟิตี้กล้าออกมาแสดงความคิดเห็นมากขึ้น”

          ไม่ว่าถึงที่สุดแล้วกราฟฟิตี้ไทยจะก้าวไปถึงขั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้เลยหรือไม่ หรือจะมาแล้วก็ไปเหมือนรูปเสือดำที่ทยอยถูกลบ แต่ที่เกิดขึ้นแล้วแน่ๆ คือ ศิลปินกราฟฟิตี้จำนวนไม่น้อยที่ไม่ดูดายต่อสถานการณ์บ้านเมือง หรือนี่อาจสะท้อนแล้วว่าบ้านเรากำลังมีความเหลื่อมล้ำจนเกิดแรงผลักดันให้พวกเขาต้องออกมาต่อสู้เพื่ออะไรบางอย่าง