ออเจ้า! 'ละคร'สร้างแบรนด์ประเทศไทย เจาะลึก CLMV ส่งออกสินค้าวัฒนธรรม

ออเจ้า! 'ละคร'สร้างแบรนด์ประเทศไทย เจาะลึก CLMV ส่งออกสินค้าวัฒนธรรม

จัดถกเศรษฐกิจไทยไปอาเซียน : เจาะลึก CLMV เขตเศรษฐกิจพิเศษ และสินค้าวัฒนธรรมไทย ยกตัวอย่าง "บุพเพสันนิวาส" สร้าง "แบรนด์ประเทศไทย" (Brand Thailand) 

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว.กล่าวถึงกระแสละครไทย ในงานสัมมนา “เศรษฐกิจไทยไปอาเซียน : เจาะลึก CLMV เขตเศรษฐกิจพิเศษ และสินค้าวัฒนธรรมไทย” ว่า กระแสละคร“บุพเพสันนิวาส” ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ ทั้งจากความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของชาติไทยโดยการแต่งกายด้วยชุดไทย และ การท่องเที่ยวโบราณสถานสำคัญๆในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเกิดเป็น “กระแสไทยนิยม”ตามแนวคิด Soft Power แนวคิดที่สร้างอิทธิพลให้กับประเทศต่างๆในภูมิภาค

“ไม่ใช่แค่คนไทยที่ติดตามละครไทย แต่ประเทศในกลุ่มประเทศCLMV หรือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ต่างก็นิยมละครของไทยเช่นกัน ทั้งการรับชมจากสถานีโทรทัศน์ไทย และ สื่อออนไลน์รวมถึง จีน และเกาหลี ที่เคยเป็นผู้ส่งต่อวัฒนธรรมของชาติผ่านภาพยนตร์ให้กับคนไทยมาเป็นผู้รับนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ และกำหนดนโยบาย ผ่านองค์ความรู้ ข้อมูล จากการศึกษาวิจัย ตามยุทธศาสตร์ สกว.ด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อชิงความได้เปรียบทางด้านเศรษฐกิจและสินค้าวัฒนธรรมของไทย”ศ.นพ.สุทธิพันธ์ กล่าว

ออเจ้า! \'ละคร\'สร้างแบรนด์ประเทศไทย เจาะลึก CLMV ส่งออกสินค้าวัฒนธรรม

ด้าน รศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ประสารงานโครงการ “จับตาอาเซียน” ASEAN Watchสกว.กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ งานวิจัย นโยบาย Soft Power ต่ออาเซียนของญี่ปุ่น จีน และ เกาหลีใต้ : นัยและบทเรียนสำหรับประเทศไทย ซึ่งตนเป็นผู้ดำเนินการศึกษา และ การบริโภคละครโทรทัศน์ไทยในกลุ่มอาเซียน : ศึกษากรณีในประเทศเมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม โดย ผศ.ดร.อัมพร จิรัฐติกร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย พบการสร้าง “แบรนด์ประเทศไทย”(Brand Thailand) ซึ่งหมายถึง ความเป็นองค์รวมของสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ตลอดจนสินค้า และ บริการทางวัฒนธรรม ตลอดจนสินค้าอุปโภค บริโภค ที่สื่อถึงประเทศไทย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซื่อเสียง ความนิยม และ บารมีให้กับประเทศได้มากขึ้น ดังที่ประเทศเกาหลีประสบความสำเร็จมาแล้ว

ส่วนละคร และภาพยนตร์ ที่ได้รับความนิยม ในกลุ่มประเทศCLMV จีน และเกาหลี มีความหลากยกตัวอย่าง ภาพยนตร์เรื่อง ฮอร์โมนฉลาดเกมส์โกง พี่มากพระโขนง วนิดา ทองดีฟันขาว และล่าสุด บุพเพสันนิวาส ซึ่งมีการแปรเนื้อหา เป็น ภาษาจีน และเวียดนาม รวมถึง การเรียนภาษาไทย เพื่อชมผ่านออนไลน์ พร้อมกับคนไทย ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงโอกาสและความสามารถของคนไทย ต่อการสร้างประโยชน์ ชื่อเสียงให้กับประเทศ

ทั้งนี้ตน มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และ ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับประเทศไทย คือ 1.  การปรับทัศนคติของคนไทยต่อประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่ ตั้งคำถามว่า ประเทศไทยมีดีอะไร ทั้งที่เรามีดี เป็นจุดขายให้กับต่างชาติ 2. การสร้างยุทธศาสตร์แบรนด์ประเทศไทย โดยภาครัฐตระหนักว่า สื่อบันเทิงเป็นสินค้าที่สำคัญของประเทศ พร้อมสนับสนุนในทุกด้าน ควบคู่การประสารความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และ สถาบันการศึกษา ทั้งในส่วนของการลงทุน พัฒนา และ ศึกษาวิจัย 3. การสร้าง international / global brand ของสินค้า และ บริการไทย เนื่องจากการสร้างนวัตกรรมมีหลายลักษณะ และหลายคนยังไม่ทราบว่า การพัฒนา หรือ คิดค้นการโฆษณา ก็เป็นนวัตกรรมเช่นกัน

นอกจากข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และ ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติที่เป็นประโยชน์แก่การกำหนดนโยบายของรัฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังกล่าวย้ำถึงความสำคัญของการรักษา “ความเป็นไทย” ทั้งการ ยิ้ม ไหว้ ทักทาย ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเป็นมิตรประจำชาติไทย ที่ต่างชาติประทับใจ และกล่าวถึง ทิ้งท้ายเอาไว้ด้วย