ชี้ 'ล่าสัตว์เพื่อบันเทิง' เป็นพฤติกรรมผิดปกติ เชื่อคนมีปม

ชี้ 'ล่าสัตว์เพื่อบันเทิง' เป็นพฤติกรรมผิดปกติ เชื่อคนมีปม

"นักจิตวิทยา" จุฬาฯ ชี้ "ล่าสัตว์เพื่อบันเทิง" เป็นพฤติกรรมผิดปกติ เชื่อคนมีปม-เหมือนใจกล้าฆ่าสัตว์แต่กลัว ขาดความมั่นคงทางจิตใจ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาเรื่อง สัตว์โลกที่ถูกคุกคาม วาระที่รอการแก้ไข โดยวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมมนุษย์ที่ชอบการล่าในมิติเชิงจิตวิทยาและปรัชญาสังคม ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ บอกว่าผลกระทบจากการล่าสัตว์ที่อยู่ส่วนบนของห่วงโซ่อาหารทำให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ กรณีเสือดำ ซึ่งนับเป็นสัตว์ผู้ล่าที่อยู่สูงสุดบนห่วงโซ่อาหาร แม้ตายไป 1 ตัวด้วยเหตุที่ไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้จำนวนประชากรของสัตว์ที่ถูกล่ามีจำนวนมากขึ้น ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่

ขณะที่รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าการล่าเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์มาแต่ในอดีต ที่ล่าสัตว์เพื่อปะทังชีวิต ต่อมามีการทำปศุสัตว์การล่าสัตว์จึงลดลง แต่การล่าสัตว์เพื่อความบันเทิง ยังไม่สามารถหาเคสเพื่อทำการศึกษาเพื่ออธิบายพฤติกรรมในทางจิตได้ แต่เบื้องหลังของคนที่ชอบฆ่าเป็นคนมีจิตใจโหดร้าย หากเทียบเคียงกับกรณีฆาตกรที่เคยมีการศึกษาพฤติกรรมทางจิตวิทยา พบว่าปมหลังเป็นคนที่ขาดความมั่นคงทางจิตใจ ต้องการควบคุมสิ่งต่างๆ เพื่อกลบเกลื่อนความรู้สึก แม้จะเป็นคนที่สามารถลงมือฆ่าได้ แต่จริงๆแล้วเป็นคนกลัวตาย กลัวความสูญเสีย และมองไม่เห็นคุณค่าของคนอื่น แต่เวลาอยู่ในสังคมจะไม่แสดงออกในพฤติกรรมเหล่านี้