แอร์บัสส่ง'เอ350-1000'ชิงดีมานด์ตลาดบินไกล

แอร์บัสส่ง'เอ350-1000'ชิงดีมานด์ตลาดบินไกล

แอร์บัสส่งเครื่องบินลำตัวกว้างชิงดีมานด์ตลาดการบิน 8,700 ลำ ใน 20 ปีข้างหน้า ชูรุ่นใหม่ “เอ 350-900” ประหยัดต้นทุน 25% เทียบคู่แข่ง ชี้จุดเปลี่ยนเกมโลว์คอสท์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้บินระยะไกลคุ้มกว่า

นางสาวมาครี ลาโล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ เอ 350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี แอร์บัส กล่าวว่า ได้นำเครื่องบินรุ่นใหม่แอร์บัส เอ 350-1000 มากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก เพื่อทำการบินสาธิตและจัดแสดง ก่อนหน้านี้ได้นำไปแสดงที่สิงคโปร์แอร์โชว์เพื่อเป็นการเปิดตลาดในเอเชียแปซิฟิก หลังจากได้นำเสนอสู่ลูกค้ากลุ่มสายการบินและมียอดสั่งซื้อแล้ว 169 รายการ จาก 11 สายการบิน 

โดยมีกาตาร์แอร์เวย์สเตรียมส่งมอบรายแรกด้วยยอดสั่งซื้อเฉพาะรุ่นนี้ 76 ลำ ส่วนสายการบินอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิก อาทิ คาเธย์แปซิฟิก 46 ลำ ซึ่งจะส่งมอบปลายปีนี้เช่นกัน รวมทั้ง เอเชียน่าแอร์ไลนส์ 30 ลำ เจแปนแอร์ไลนส์ 31 ลำ

“มั่นใจว่าประสบความสำเร็จในการนำเสนอเครื่องบินรุ่นนี้ทดแทนในตลาดเนื่องจากแนวโน้มของความต้องการเครื่องบินพาณิชย์ทั่วโลกยังมีในอัตราสูงต่อเนื่อง”

จากการประเมินความต้องการทั้งหมด 35,000 หมื่นลำ ในอีก 20 ปี ข้างหน้า มีส่วนแบ่งเป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง หรือ แบบทางเดินคู่ถึง 8,700 ลำ โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิกมีความต้องการสูงสุดคิดเป็น 50% ของความต้องการดังกล่าว หรือ 3,897 ลำ รองรับการจราจรทางอากาศที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 5.6% ต่อปี ในรอบ 20 ปีจากนี้ มากกว่ายุโรปที่เติบโตเฉลี่ย 3.4% และอเมริกาเหนือ 2.6%

นอกจากนั้น วางเป้าหมายให้เอ 350-1000 แข่งขันชิงตลาดกับคู่แข่งอันดับต้นในรุ่นเดียวกัน คือ โบอิง 777-300 อีอาร์ และโบอิง 777 เอ็กซ์ โดยมีจุดเด่นเรื่องการประหยัดต้นทุนกว่า 25% ทั้งด้านการเผาไหม้เชื้อเพลิง การซ่อมบำรุงและการบิน และเครื่องช่วยเดินอากาศ  คาดการณ์ว่าปัจจุบันการใช้เครื่องบินแบบลำตัวกว้างของทุกสายการบินทั่วโลกแอร์บัสมีส่วนแบ่งการตลาดราว 50% เท่ากับโบอิง และตั้งใจจะรักษาสัดส่วนดังกล่าวในระยะยาว

นางสาวมาครี กล่าวด้วยว่า  คุณสมบัติดังกล่าวจะทำให้เครื่องบินรุ่นนี้เป็นตัวเปลี่ยนเกมสำหรับธุรกิจสายการบินโลว์คอสท์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะจะสามารถเพิ่มความสามารถในการบินระยะไกลได้แบบคุ้มค่ามากขึ้น จากที่ผ่านมาสายการบินโลว์คอสท์ในเอเชียอาจมีอุปสรรคเรื่องการเปิดเส้นทางบินไกลไม่สำเร็จ เนื่องจากยังไม่มีเครื่องบินที่ดำเนินการได้คุ้มต้นทุนระยะยาวไว้รองรับ

ขณะเดียวกัน จุดเด่นเมื่อเทียบกับรุ่นเดียวกันในตระกูล เอ 350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี ได้แก่ เอ 350-900 ที่นำสู่ตลาดมาก่อนยังสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 40 ที่นั่งหรือ 366 ต่อ 325 ที่นั่ง แต่ข้อดีคือสายการบินสามารถใช้ใบรับรองแบบอากาศยานสำหรับทำการบินแบบเดียวกันและอะไหล่ที่ใช้ร่วมกันได้ 95% รวมถึงใช้ใบอนุญาตการทำการบินของนักบินแบบเดียวกัน

“เครื่องบินรุ่นนี้เป็นเครื่องบินระยะไกลอย่างแท้จริงด้วยพิสัยการบิน 8,000ไมล์ทะเล (14,800กิโลเมตร) ตั้งแต่เริ่มให้บริการจึงสามารถทำการบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปยุโรปหรือ อเมริกาเหนือ โดยไม่ต้องแวะพักและมีการผสมผสานที่สามารถตอบสนองการบินเต็มรูปแบบและโลว์คอสท์ก็ได้  ที่ผ่านมามีสายการบินเฟรนช์บลูในยุโรปสั่งซื้อเพื่อใช้บริการในเส้นทางบินระยะไกลมาแล้ว”

ทั้งนี้ เครื่องบินตระกูล เอ 350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี เป็นตระกูลที่ประสบความสำเร็จในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยมี “14 สายการบิน” ทำการสั่งซื้อเครื่องบินไปแล้ว 287 ลำ คิดเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของยอดสั่งซื้อทั่วโลกที่มีอยู่ 854 ลำ 

ส่วนการบินไทยมีเครื่องบินรุ่น เอ 350-900 ที่ปฏิบัติการการบินอยู่ 8 ลำ จากการสั่งซื้อรวม 12 ลำส่วนสิงคโปร์แอร์ไลนส์ เป็นสายการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สั่งซื้อเครื่องในตระกูลนี้มากที่สุด จำนวน 67 ลำ