'ทีเส็บ'กระตุ้นรับรู้‘ไมซ์’เน้นเข้าถึงพื้นที่-ประชาชนเพิ่ม

'ทีเส็บ'กระตุ้นรับรู้‘ไมซ์’เน้นเข้าถึงพื้นที่-ประชาชนเพิ่ม

แม้ว่าอุตสาหกรรมไมซ์ จะสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 1.79 แสนล้านบาท/ปี และจัดเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วที่สุด แต่ปัญหาหลักที่ผ่านมาคือ การรับรู้ยังอยู่ในวงจำกัด ส่งผลต่อเนื่องทำให้ไม่มีผู้สนใจเข้ามาทำงานในระบบ และเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานต่อเนื่อง

จิรุตถ์ อิศรางกูร  อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันที่รัฐบาลกำลังต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจให้ทั่วถึง ทำให้ ทีเส็บ เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่วางบทบาทเป็นผู้ช่วยขับเคลื่อนได้ผ่านอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งตามแผนกลยุทธ์หลักที่เริ่มดำเนินการเมื่อปลายปีที่แล้ว คือ การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพิ่มสายงานพัฒนาและนวัตกรรม เพื่อดูแลส่งเสริมความเข้าใจและการทำงานแบบ "ลงลึกถึงพื้น" หรือ Area Based มากขึ้น

หนึ่งในหัวใจการทำงานดังกล่าวคือ เพื่อเสริมความรู้และความพร้อมที่แข็งแกร่งให้กับ "ระดับภูมิภาค" รองรับการจัดงานและกิจกรรมของไมซ์มากยิ่งขึ้น

"ตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา มีการปรับโครงสร้างใหม่ ซึ่งมีการเพิ่มสายงานด้านนวัตกรรม ดูแลด้าน Marketing Intelligence ซึ่งจะเข้าไปดูแล Area Based หรือพื้นที่รายรอบไมซ์ ซิตี้ 5 เมืองหลักที่มีอยู่แล้ว เพื่อทำให้ท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็งในการรับตลาดไมซ์มากขึ้นต่อไปนี้ โดยจัดสรรงบประมาณลงไปด้วย ซึ่งต่อไปจะทำให้เห็นการทำงานเชิงรุกจากระดับพื้นที่ มีศักยภาพการจัดงานในระดับที่เป็นมาตรฐานสากล"

นอกจากนั้นได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) จัดตั้งศูนย์ศึกษาเครือข่ายไมซ์ภูมิภาค ร่วมกันกับ 5 สถาบันการศึกษา ครอบคลุม 5 ภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับศักยภาพไมซ์ที่จะเติบโตจากพื้นที่ต่างๆ แทนที่จะรอการขยายตัวจากศูนย์กลาง โดย 5 สถาบันภายใต้ชื่อ "ไมซ์ อะคาเดมี คลัสเตอร์" จะเข้ามาเป็นแกนกลางของแต่ละภูมิภาค ประกอบด้วย ม.ขอนแก่น, ม.ศิลปากร, มอ.หาดใหญ่, วิทยาลัยดุสิตธานี และม.เชียงใหม่ ส่งต่อองค์ความรู้ให้กับ 62 มหาวิทยาลัย และ 44 อาชีวศึกษาทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน เริ่มทำงานคู่ขนานด้านการสร้างความเข้าใจให้กับคนทั่วไปให้เข้าถึงคำว่า "ไมซ์" มากขึ้น ด้วยการผลิตสื่อหนังสือที่เข้าใจง่าย เพื่อแจกจ่ายให้สถาบันการศึกษา หรือคนที่สนใจ ให้เห็นโอกาสเข้าสู่อาชีพ ช่วยผลักดันการเติบโตต่อไป ภายใต้ชื่อหนังสือ "MICE ไม่ได้แปลว่าหนู" ซึ่งจะมีรูปแบบการเล่าที่เข้าใจง่าย ไม่เน้นความเป็นวิชาการมากเกินไป

ทั้งนี้ ระหว่างการเปิดตัวหนังสือ ซึ่งมีการจัดเสวนาภายใต้หัวข้อ "สมาร์ท ไมซ์ สมาร์ท เมาท์" เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมไมซ์ จากเบิ้องหลังทำงานระดับนานาชาติต่างๆ ก่อนจะเป็นงานที่ประสบความสำเร็จในการนำรายได้เข้าประเทศนั้น

ศุภวรรณ ตีระรัตน์ รักษาการรองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม ทีเส็บ กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมไมซ์ขยายตัวไปทั่วภูมิภาค หลังจากที่ไทยก้าวเป็นผู้นำในอาเซียน ด้วยการจัดงานกว่า 174 งาน มากกว่าสิงคโปร์ที่มีเพียง 151 งาน แต่ที่ผ่านมายังขาดความเข้าใจในระดับประชาชน โดยเฉพาะความเข้าใจผิดเรื่องนิยาม "ไมซ์" ที่คำแปลไปสอดคล้องกับความหมายอื่น

ดังนั้น จึงตั้งเป้าให้การผลิตสื่อครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทีเส็บทำหนังสือออกมา เข้าถึงกลุ่มคนทั่วไปได้ง่ายขึ้น สร้างแรงบันดาลใจในการเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโอกาสในการจ้างงาน ที่มีความกังวลจากเด็กรุ่นใหม่ทั่วไปมากว่าจะเรียนจบมาแล้วจะตกงาน ทั้งๆ ที่ธุรกิจไมซ์ยังขาดแคลน และเป็นอาชีพที่จะไม่มีทางตกงานได้เลยในภาวะนี้ เนื่องจากภาวะ "ขาขึ้น" ที่ยังต้องการแรงงานมาเสริมทัพเสมอ

ด้าน เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจไมซ์สามารถสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งให้กับหลายประเทศมาแล้ว เช่น เยอรมนี ซึ่งมีการจัดงานเอ็กซโปขนาดใหญ่ ขับเคลื่อนธุรกิจทั้งประเทศในหลากหลายด้าน

ดังนั้น หากไทยต้องการจะเติบโตในด้านการจัดงานต่างๆ มีข้อเสนอแนะว่า ต้องมองการสร้างสรรค์งานอีเวนต์ของตัวเองในระดับเวิลด์คลาสที่เข้มแข็งขึ้นมาเอง เพราะไทยมีศักยภาพในการเป็นเจ้าภาพอีเวนท์รายการใหญ่ตัวเองจากการอาศัยรากฐานที่ตัวเองมีอยู่ โดยไม่ต้องใช้กลยุทธ์การประมูลสิทธิ์รายการใหญ่ที่มีลิขสิทธิ์จากต่างประเทศเสมอไป

เพียงแต่ภาครัฐต้องเปลี่ยน "วิธีคิด" ด้วยการมองเป้าหมายระยะยาวให้เห็นว่ากิจกรรมไมซ์จะดึงดูดเศรษฐกิจเข้ามาได้อย่างไรบ้าง เช่นที่ผ่านมา อินเด็กซ์ เข้าไปหารือกับฮอยอัน เมืองในเวียดนาม เพื่อจัดงาน Light Festival ซึ่งแม้ว่าเมืองจะไม่มีงบประมาณให้ แต่อำนวยความสะดวกด้านพื้นฐาน เช่น จราจร, การดูแลความสะอาด ให้เต็มที่ และไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายต่อบริษัทผู้จัดงาน เพราะเห็นศักยภาพในการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา และเห็นความคุ้มค่าที่จะแลกเปลี่ยนมาแทนเม็ดเงิด

ขณะที่หน่วยงานในไทยส่วนมาก จะคิดค่าใช้จ่ายเป็นตัวตั้งเกือบทุกหน่วยงาน เป็นการมองผลประโยชน์ระยะสั้นแทนเป้าหมายระยะไกล ดังนั้น การจัดงานในหลายรายการจึงยังมีความท้าทายให้แก้ไขต่อเนื่อง

"ไทยมีความสามารถในการทำอีเวนต์หรือเฟสติวัลระดับโลก โดยไม่ต้องไปประมูลสิทธิ์อย่างเดียว เช่น งานเคาท์ดาวน์ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ปัจจุบันซีเอ็นเอ็นยกเป็นอันดับ 3 ของกิจกรรมนับถอยหลังรับปีใหม่ที่คนต้องการเข้าร่วมมากที่สุด แต่ทั้งนี้ หากจะทำขึ้นมา ต้องมีมาตรฐานและได้รับความร่วมมือจากในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง เช่น งานจัดงานแสงสีในต่างจังหวัด แต่ไม่มีการจำหน่ายบัตรล่วงหน้า ขายแต่เฉพาะหน้างาน เมื่อคนเดินทางไปถึงกลับเข้าไม่ได้ ก็จะเกิดความผิดหวัง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นต้องมีความรู้ เข้าใจ และเตรียมตัวให้ดี ปรับวิธีคิดใหม่" เกรียงไกร กล่าว