ชงงบสนับสนุน‘2หมื่นล้าน’ลุยแผนฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว

ชงงบสนับสนุน‘2หมื่นล้าน’ลุยแผนฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว

ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศจำนวนมาก ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยวชำรุดทรุดโทรม

รัฐบาลจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะพัฒนาฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจึงได้มอบหมายให้ “กรมการท่องเที่ยว” พิจารณาเสนอโครงการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ ตามนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  ที่ต้องการกระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง คัดกรองส่งนักท่องเที่ยวเข้าชุมชน และเร่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่ถูกใช้มานานจนต้องซ่อมสร้างอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่นอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ กรมการท่องเที่ยว ได้ขานรับนโยบายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อยู่ระหว่างเร่งพิจารณาโครงการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ  เบื้องต้นมีโครงการที่หน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศยื่นคำขอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนกว่า 20,000 ล้านบาท โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

อนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า   ขณะนี้กรมการท่องเที่ยวอยู่ระหว่างพิจารณาคำของบประมาณโครงการต่างๆ เบื้องต้นมีทั้งหมด 2,639 โครงการ แบ่งเป็นเมืองรอง 55 จังหวัด 1,843 โครงการ และเมืองหลัก 22 จังหวัด 796 โครงการ

สำหรับพื้นที่เป้าหมายกรมการท่องเที่ยวจะพิจารณาคัดเลือกจากพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม แหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวมาก (แหล่งที่มีศักยภาพสูง) โดยเน้นพื้นที่เมืองท่องเที่ยวรอง ส่วนเมืองหลักจะเน้นชานเมืองหรือชุมชนนอกเมือง รวมถึงเมืองที่อยู่รอบๆ สนามบินหลัก ขณะเดียวกันจะพิจารณาฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวเดิมที่มีความชำรุดทรุดโทรมด้วย

“โครงการขนาดเล็กไม่เกิน 5 ล้านบาท ที่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี (Quick Win) หรือโครงการประเภทปรับปรุงซ่อมแซมที่ไม่ใช่การก่อสร้างใหม่หรือขนาดใหญ่และการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรองรับคนทั้งมวล หรือ Universal Design จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรก”

โดยมีตัวอย่างแนวคิดหรือลักษณะโครงการ เช่น การสร้างแหล่งกำเนิดสินค้าโอทอปให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาตลาดที่มีอยู่เดิมให้เป็นตลาดเพื่อการท่องเที่ยว การพัฒนาย่านดาวน์ทาวน์หรือเซ็นเตอร์พอยท์ของเมือง การปรับปรุงภูมิทัศน์ ป้ายบอกทาง ป้ายสื่อความหมายและการปรับปรุงซ่อมแซมแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่ม เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เป็นต้น

ทั้งนี้ แนวทางการเร่งรัดจัดทำงบประมาณพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ กรมการท่องเที่ยวได้มีการจัดตั้ง “คณะทำงานเฉพาะกิจ” เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมในการจัดทำโครงการ และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด 76 จังหวัด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมศิลปากร กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมชลประทาน กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้คณะผู้บริหารสังกัดกรมการท่องเที่ยวจัดทำโครงการเพิ่มเติม เช่น การสนับสนุนการดำเนินงานของ “Lifeguard” ตามชายหาดสำคัญ การวางทุ่นเพื่อการจัดการชายหาด การวางทุ่นสำหรับจอดเรืออนุรักษ์ปะการัง การจัดทำเส้นทางรถสาธารณะเข้าแหล่งท่องเที่ยว การอบรมบุคลากรภาคการท่องเที่ยว การจัดทำทางลาดในแหล่งท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ การจัดทำห้องน้ำที่ได้มาตรฐานห้องน้ำสะอาดเพื่อการท่องเที่ยว (WC OK) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวรุกขมรดก การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 108 องค์พระปฏิมา หุ่นยนต์เก็บขยะชายหาด และการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว