ธุรกิจท่องเที่ยวโลกชี้เทรนด์ปี 61 "ขาขึ้น"

ธุรกิจท่องเที่ยวโลกชี้เทรนด์ปี 61 "ขาขึ้น"

ผลวิจัย “เวิลด์ ทราเวล มาร์เก็ต อินดัสทรี รีพอร์ต” ซึ่งสำรวจผู้ประกอบการท่องเที่ยวนานาชาติ 1,622 คน เชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเติบโตต่อเนื่อง ในปี 2561 ด้วยสัดส่วนกว่า 74%

ในจำนวนนี้คนที่เห็นว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญมีราว 18% และคนที่เห็นว่าจะเติบโตเล็กน้อยมีกว่า 56%  มีเพียง 1% เท่านั้นที่ระบุว่าจะมีการถดถอยอย่างมีนัยสำคัญส่วนคนที่คิดเห็นเป็นกลางว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มีสัดส่วน 14% อีก 11% เชื่อว่าจะถดถอยเล็กน้อย

ตัวชี้วัดความมั่นใจคือ “ยอดจอง” ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดย 80% ระบุว่ามีการจองเพิ่มขึ้นซึ่งเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วตัวเลขนี้อยู่ที่ 67% เท่านั้น ซึ่งบรรยากาศการซื้อขายด้านท่องเที่ยวที่คึกคักขึ้นนั้นสังเกตได้จากการจัดงานเวิลด์ทราเวลมาร์เก็ตปลายปีที่ผ่านมา คาดการณ์การสร้างรายได้สะพัดต่อการท่องเที่ยวทั่วโลก 3,000 ล้านยูโร ประมาณ 1.17 แสนล้านบาท และมี 2 ประเทศที่ทำธุรกรรมการซื้อขายจากงานนี้ได้มากที่สุด คือ อิตาลี และกรีซ ตลาดท่องเที่ยวใหญ่ของยุโรป

ส่วน ผลวิจัยจาก จีบีทีเอ ฟาวเดชั่น และ คาร์ลสัน วากอนลิท ทราเวล ยังคาดการณ์การขึ้นราคาในปี 2561 นี้ด้วยว่า จะเริ่มเห็นการปรับทิศขาขึ้นสูงเกือบ 4% โดยเฉลี่ยแบ่งเป็นสายการบินมีแนวโน้มขึ้นราคาตั๋วโดยสาร 3.5% ส่วนธุรกิจโรงแรมจะขึ้นราคาอีก 3.7% ต่างจากระบบขนส่งภาคพื้นดินต่างๆ เช่น แท็กซี่ รถไฟ รถบัส อาจขึ้นราคาได้เพียง 0.6% เท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยกว่าเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ราว 3%

การปรับขึ้นราคาสะท้อนให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและความต้องการด้านท่องเที่ยวที่ยังเติบโตสูง ขณะที่ธุรกิจนำเที่ยวรายใหญ่ของโลก “ทุยกรุ๊ป” คาดการณ์ว่าตลอดปีที่ผ่านมาจะมีกำไรเติบโต 10%  แม้จะมีผลกระทบจากเฮอร์ริเคน 2 ครั้งในฝั่งอเมริกา ซึ่งหนึ่งในพื้นที่ๆ ช่วยส่งเสริมให้รายได้เติบโตราว 7% และลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่า 3% คือ “ไทย” ร่วมกับจุดหมายอื่นๆ อาทิ ไซปรัส และประเทศในแถบแอฟริกาเหนือ

ด้านความเคลื่อนไหวของตลาดสหราชอาณาจักรที่เป็นตลาดสำคัญของไทยด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะสูงถึง 9.76 แสนคนในปีที่ผ่านมานั้นมีแนวโน้มที่ต้องจับตามองดังนี้

นักท่องเที่ยวตื่นตัวคุ้มครองสิทธิ์

ขณะที่แนวโน้มตลาดสำคัญอย่าง “สหราชอาณาจักร” มีเทรนด์ที่ต้องจับตามองคือนักท่องเที่ยวจะหันมาสนใจกับการปกป้องสิทธิ์ด้านการเงินของตัวเองสำหรับการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้นจากกรณีที่สายการบินโมนาร์ชปิดกิจการฉับพลันในเดือน ต.ค.2560 ส่งผลให้ยอดจองล่วงหน้ากว่า 3 แสนรายการ ต้องถูกยกเลิกรวมถึงเหตุการณ์ที่ไรอันแอร์ยกเลิกเที่ยวบินกว่า 1.8 หมื่นเที่ยว กระทบต่อผู้โดยสารกว่า 4 แสนคนทันที

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักร 9 ใน 10 คน ระบุว่า ตระหนักถึงการใช้แผนปกป้องการเงินมากขึ้นในกรณีที่ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถเดินทางได้ตามที่วางแผนไว้และมีถึง 74% ที่จะตัดสินใจเลือกบริการที่เครื่องหมายคุ้มครองผู้บริโภคของ ABTA (สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวของสหราชอาณาจักร) และ ATOL Protection (Air Travel Organiser’s Licence) ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่ระบุให้ทุกบริษัทนำเที่ยวที่ขายแพ็คเกจหรือการเดินทางโดยเครื่องบินเข้าร่วมในแผนการคุ้มครองนี้ โดยมีกรมการบินเป็นผู้บริหารกองทุนประกันเรียกเก็บจากบริษัทนำเที่ยวจากทุกการจำหน่ายแพ็คเกจตั๋วเครื่องบินให้แก่ลูกค้าแต่ละรายๆ ละ 2.5 ปอนด์ ราว 110 บาท

เทรนด์เที่ยว‘ตามรอยละคร’มาแรง

นอกจากนั้น กระแสความนิยมในการเดินทางด้วยการตัดสินใจที่อิงจากละครหรือภาพยนตร์ที่มีฉากสถานที่สวยงามมีแนวโน้มสูงขึ้นมากในปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องถึงปีนี้ โดย 1 ใน 10 ของนักท่องเที่ยวระบุว่า เริ่มเลือกจุดหมายจากที่เห็นในจอทีวีหรือภาพยนตร์ซึ่งหากคิดจากสัดส่วนนักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักรเดินทางไปต่างประเทศ 45 ล้านคนต่อปี จะพบว่ามีถึง 4.5 ล้านคนที่ตัดสินใจตามรอยหนังและละคร

ขณะเดียวกันความโด่งดังของซีรีส์หลายเรื่องเป็นผลประโยชน์ให้องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวใช้โอกาสนี้ส่งเสริมจุดหมายท่องเที่ยวเช่น Games of Thrones  ที่ใช้ฉากการถ่ายทำหลากหลายในไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ โครเอเชีย สเปน โมร็อกโก และมอลต้า ทำให้สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวโครเอเชียและการท่องเที่ยวไอร์แลนด์นำมาโปรโมทเป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยวที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของซีรีส์ เรื่องนี้ให้เดินทางมาชมฉากหลังในการถ่ายทำที่ปรากฏในละคร

หวั่น’เบร็กซิท’กระทบท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการท่องเที่ยวในภาพรวมจะมีแนวโน้มสดใสแต่ยังมีความกังวลใจของตลาดเอาท์บาวด์จากสหราชอาณาจักรว่าการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) จะทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับเที่ยวต่างประเทศสูงขึ้น เพราะนับตั้งแต่การลงประชามติออกมาค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลงทันที เมื่อเทียบกับดอลลาร์และยูโรทำให้การเดินทางไปเที่ยวในหลายจุดหมายมีราคาสูงขึ้นทันทีจากความต่างของค่าเงินก่อนการลงประชามติ

นอกจากนั้นกว่า 54% ของนักท่องเที่ยว 1,000 คน ที่ทำการสำรวจในครั้งนี้ยอมรับว่ายังกังวลว่าสถานการณ์ค่าเงินจะเลวร้ายลงไปกว่าที่เป็นอยู่แล้วและอีก 52% กังวลว่าการใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยวในวันหยุดพักผ่อนจะแพงขึ้นเช่นเดียวกับ 45% ที่ชี้ชัดไปว่าเป็นห่วงราคาตั๋วเครื่องบินจะปรับสูงขึ้น