ตลาดนัดหลบไป เฟซไลฟ์มาแล้ว!

ตลาดนัดหลบไป เฟซไลฟ์มาแล้ว!

เมื่อเรามาถึงจุดที่การช้อปต้องฟาดฟันสนั่นเน็ต จองให้ทัน โอนให้ไว (เน็ต)ใครอ่อนแอ..ก็แพ้ไป

เบอร์ 35 สีเทา งานผ้าไหม เหลือคู่สุดท้ายแล้ว ใครชอบกด ‘CF ผ้าไหม’ ได้เลยค่ะ

วันนี้.. ของใหม่เพิ่งลง สวยๆ ทั้งนั้นเลย

แบบนี้ เหลือคู่เดียว ใครอยากได้ รีบกด CF เลยเด้อ

ขอคนพร้อมโอนนะคะ ใครไม่พร้อม ดูชิลๆ ขำๆ เชียร์เพื่อนไปนะ ฯลฯ

ลีลาการขายและรหัสจองที่ ‘หมิว’ แม่ค้าหน้าใหม่ใช้สื่อสารกับลูกค้าระหว่างเปิดหน้าร้านขายกันสดๆ บนเฟซบุ๊ค โดยหลังจากตกงานมาไม่กี่เดือน หมิวก็เริ่มจับทางทำกินแบบใหม่ คือ ไลฟ์ขายของบนเฟซบุ๊คซึ่งฮิตมากในบ้านเราตอนนี้ 

สองชั่วโมงของการไลฟ์ในวันหยุด มียอดคนดูเรียลไทม์หลักร้อย เธอทำยอดขายรองเท้าไปแล้วไม่ต่ำกว่า 40 คู่ ปิดจ๊อบรอบบ่ายไปแบบชิลๆ 

  • แม่ค้าหน้าใหม่

“จริงๆ ไม่ได้คิดจะมาทำตรงนี้นะ เมื่อก่อนเคยลองเอาเสื้อผ้ามาไลฟ์ขายแล้วแต่เจ๊ง ก็เลยไปทำงานประจำ ทีนี้ เพิ่งออกจากงานมา ไม่มีอะไรทำ ไปหาซื้อรองเท้าจะใส่เอง แต่เขาขายส่ง ต้องซื้อยกโหล ก็เลยเอาที่เหลือมาไลฟ์ขาย ปรากฏว่า ขายหมดเลย คู่ที่จะเก็บไว้ใส่ก็ขายไปด้วย” หมิว เล่าพร้อมเสียงหัวเราะถึงจุดเริ่มต้นการไลฟ์ขายรองเท้าที่เพิ่งจะเริ่มทำได้ราวๆ 2 เดือน แต่ไปได้ดีจนน่าตกใจ

“ตอนขายเสื้อ ขอเงินแม่มาลงทุนเป็นหมื่น เสื้อยังกองเต็มบ้านเลยทุกวันนี้ ขายไม่ออก แต่เที่ยวนี้ หนูลงทุนครั้งแรก 800 บาท (รองเท้าที่จะซื้อมาใส่เองแต่ถูกบังคับให้เหมาโหล) ขายหมด ก็เอากำไรมาต่อทุนเรื่อยๆ จนตอนนี้ ต้องไปรับของใหม่ทุกวันเลยค่ะ” หมิวเล่า

หลังจากปิดร้านรอบบ่าย เธอจะจัดการแพ็คของเตรียมส่งในวันรุ่นขึ้น จากนั้นก็ออกไปรับรองเท้าจากค้าส่งเจ้าประจำ เพื่อเอากลับมาเปิดร้านอีกทีรอบดึกราวๆ ห้าทุ่ม 

“เมื่อก่อน ตอนเริ่มขายใหม่ๆ จะขายสามรอบ คือ รอบเช้า 6-7 โมงเช้า ตอนคนกำลังไปทำงาน แล้วก็ไลฟ์อีกทีใกล้ๆ เที่ยง เสร็จแล้วก็รอบเย็น ตอนหลังเลิกงานไล่ไปจนดึกเลย

ถ้าเป็นคืนวันศุกร์เสาร์ บางทีไลฟ์จนตีสองตีสาม เพราะวันรุ่งขึ้นคนไม่ต้องตื่นเช้า แต่เดี๋ยวนี้ เริ่มมีลูกค้าติดแล้ว ก็ไลฟ์วันละหนสองหน หรือแล้วแต่ความสะดวกของเรา แต่จะแจ้งเวลาล่วงหน้า ว่าจะขายกี่โมง ลูกค้าประจำเขาก็จะมารอนะ”

แม้จะเริ่มขายไม่ถึงสองเดือน แต่เธอก็สามารถทำรายได้แซงเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันที่ทำงานประจำไปไกลโข ด้วยกำไรเกือบเท่าตัว ต้นทุนค่าเช่าร้านก็ไม่มี ค่าส่งก็คิดต่างหากกับลูกค้า ส่วนค่าเน็ต เอาจริงๆ หลายค่ายโอเปอเรเตอร์มีโปรฯไลฟ์ฟรีด้วยซ้ำ

“วันที่พีคๆ เคยต้องแพ็คของวันเดียว 80 กว่ากล่อง แล้วบางกล่องคือหลายคู่ แต่หนูก็ยังไม่เคยทำบัญชีจดเป็นเรื่องเป็นราวเลยว่า วันนึงขายได้เงินเท่าไหร่ พอเงินโอนเข้ามาก็ใช้ออกไป นี่ก็ว่า จะต้องทำบัญชีแล้วค่ะ”

ถ้าให้ย้อนหลังกลับไป สาเหตุที่เลิกเป็นมนุษย์เงินเดือนก็เพราะงานหนัก แต่ที่เจอตอนนี้คือหนักกว่า (ฮา) 

“บางวันไลฟ์ต่อเนื่อง 4 ชั่วโมงเลยพี่.. เหนื่อยมาก แล้วลูกค้าบางคนก็ถามเยอะนะ มาทุกวัน ถามทุกวัน แต่ไม่เคยซื้อเลย แล้วก็มีพวก F แล้วไม่โอนเงิน หายไปก็มี” แม่ค้าหน้าใหม่แอบบ่น

ส่วน F ที่หมิวพูดถึงนั้นย่อมาจาก CF ที่เหล่านักช้อปออนไลน์เป็นที่รู้กันว่า หมายถึง Confirm หรือจองซื้อสินค้าชิ้นนั้นๆ แต่ตอนหลัง CF ยังยาวไป เลยย่อเหลือแค่ F เสียเลย

  •  ของพร้อม คนพร้อม เงินล่ะ ?

สำหรับ ‘จา’ จรรยา ฉิมมาแก้ว หนึ่งในสาวนักช้อปที่เหมือนโดนมนต์สะกดให้เกาะหน้าจอ พิมพ์ F รอไว้พร้อมจอง แถมบางครั้งไม่ได้ดูแค่จอเดียว แต่เปิดมันพร้อมๆ กัน ทั้งจอคอมพ์ และ มือถือ เพื่อดูไลฟ์ขายของหลายร้านพร้อมๆ กัน

“ก็ร้านที่เราตามอยู่ เขาขายพร้อมกันน่ะค่ะ” เธอให้เหตุผลพร้อมรอยยิ้ม

จาเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคย CF แล้วทิ้งจอง เพราะไปเจอของอีกร้านนึงที่อยากได้ หรือ ถูกใจมากกว่า “ก็มีงบจำกัดน่ะเนอะ จะซื้อทุกอย่างก็จะเกินไป เลยต้องตัดใจค่ะ แต่ก็ไม่ได้ทำแบบนี้บ่อยๆ นะ” เธอออกตัว เพราะในความจริง รู้กันดีว่า คนกลุ่มที่ชอบเข้ามาดู มาแย่งจองตัดหน้าคนอื่น กลับบ้านมีความสุข แต่ไม่โอนก็เยอะ ซึ่งแม่ค้าก็มีทั้งสายปลง และที่ประจานกลับก็มี

“หนูไม่ประจานค่ะ แต่จำ หรือบางคนมางี่เง่าใส่ก็แบบ.. ร้านหนูขายรองเท้าไง ปกติไลฟ์ก็เห็นแต่เท้า ตอนใส่โชว์ เอาจริงๆ นะ บางทีหน้านี่มองบนใส่ แต่ก็พยายามเก็บเสียง ไม่ให้ออกอาการ” แม่ค้าหน้าใหม่อย่างหมิวร่วมแชร์ประสบการณ์เวลาเจอลูกค้าที่จองแล้วไม่โอนบ่อยๆ หรือถามเยอะแต่ไม่ซื้อ

ฝั่งลูกค้าอย่าง "จา" เธอยอมรับว่า ติดการดูขายของในเฟซบุ๊คไลฟ์มาก ทั้งๆ ที่เดิมที ตัวเองไม่เคยซื้อของออนไลน์มาก่อน เพราะคิดว่า ยุ่งยาก แต่พอเปิดมาเจอการขายของผ่านไลฟ์ ก็เริ่มดู และสนุกไปกับลีลาการขายของของแม่ค้า ที่ส่วนใหญ่จะหน้าตาดี พูดเก่ง ดูเพลิน แล้วพอเห็นคนแย่งกันซื้อ แข่งกันคอนเฟิร์ม ก็เลยเริ่มรู้สึกอยากจะแย่งกับเขาบ้าง 

“ตื่นเช้ามา เปิดมือถือก็ดูเลยค่ะ ติดมา 4-5 เดือนแล้ว เวลาดู ก็พิมพ์ F รอไว้เลย สนุกกับการซื้อมาก แล้วก็ดูเยอะ จนตอนหลังระบบของเฟซบุ๊ค (อัลกอริธึ่ม) เขารู้ว่า เราชอบดู ก็เลยกลายเป็นเด้งขึ้นมาแต่ไลฟ์ จนแทบไม่ได้เห็นฟีดเพื่อน”

พฤติกรรมการช้อปของจา เธอบอกว่า ปกติเข้าไปดู คือ จะมีโจทย์อยู่แล้วว่าอยากได้อะไร เช่น จะหาเดรสใส่ไปงาน ก็จะไล่ดูไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอของที่อยากได้ 

“แต่ส่วนใหญ่ จะไปได้ของอย่างอื่นแทนค่ะ (หัวเราะ) ล่าสุดนี่เลย.. เจอเสื้อกันหนาวชอบมาก แต่ไม่ได้มีแผนจะไปเที่ยวไหนหรอก ซื้อมาเก็บไว้ก่อน ตอนไหนจะไป ก็ไม่ต้องไปหาซื้อไง” เธอให้เหตุผล

จาบอกว่า นอกจากความสนุกในการดูและช้อปแล้ว อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอติดการช้อปผ่านเฟซไลฟ์ ก็ด้วยราคาที่ถูกกว่าตลาดนัด ตัดสินใจซื้อง่าย แล้วแม่ค้า(สวยๆ) ก็จะลองชุดให้ดูว่า ใส่แล้วเป็นอย่างไร “เอาจริงๆ บางทีซื้อมาก็ใส่ไม่สวยเหมือนเค้านะคะ(ฮา)”

  • ความบันเทิงของนักช้อป

สำหรับจาแล้ว ถึงบางชุดซื้อมาจะเฟล ใส่แล้วไม่สวยบ้าง ไม่พอดีบ้าง แต่จาก็ไม่ได้คิดมากอะไร เพราะของที่ซื้อหลักร้อยต้นๆ จึงไม่ได้เจ็บกระเป๋าสตางค์เท่าไหร่ แต่สำหรับ ธีระวัฒน์ ประกอบบุญ นักช้อปสายสตรีทที่เน้นตามหาสนีคเกอร์รุ่นเด็ดๆ ลิมิเต็ด เอดิชั่น หรือกระเป๋าแบรนด์เนมให้แฟนสาว 

“เข้ามาดูทุกวันครับ อย่างร้านที่ซื้อกันบ่อยๆ นี่ยอมรับเลยว่า ดูเพลิน เพราะน้องคนขายเขาเป็นพริตตี้มาก่อน ก็จะขายเก่ง พูดเก่ง แต่งตัวเซ็กซี่ บางที เบอร์ที่ผมใส่เขาไม่มี ก็ยังดูต่อ เพราะเพลินดี” วัฒน์ยอมรับ และบอกว่า เฉลี่ยตนเองซื้อรองเท้าจากเฟซบุ๊คไลฟ์ประมาณ 3-4 คู่ต่อหนึ่งเดือน สนนราคาก็ราวๆ 5-6 พันบาท

“ปกติจะหารองเท้ารุ่นแปลกๆ ที่เป็นลิมิเต็ดฯ ซึ่งมือหนึ่งไม่มีขายแล้ว ก็ต้องดูรองเท้ามือสองแทน อย่างผมสะสมแอร์แม็กซ์ก็จะตามหารุ่นเก่าๆ แล้วคิดว่า ราคามันก็สมเหตุสมผล กับการเป็นรองเท้ามือสอง แพงที่สุดที่เคยซื้อ คือ อาดิดาส รุ่น Hulk จากอเวนเจอร์ส ได้มาราคา 14,000 ก็ไม่เสียดายเงินนะ เพราะมันหายากจริงๆ”

จากคู่แรกที่ซื้อคือ ไนกี้จอร์แดน ราคา 1,290 บาท เมื่อไต่ระดับการช้อปมาขึ้นจนถึงหลักหมื่น เขาบอกว่า เรื่องความเชื่อมั่น คือเหตุผลสำคัญในการตัดสินใจ เพราะทั้งของที่ซื้อราคาหลักพันไปจนถึงหลักหมื่น จึงต้องเลือกซื้อกับร้านค้าที่ไว้ใจได้ หรือเคยซื้อกันบ่อยๆ

“การไลฟ์ขายของมันมีข้อดี หนึ่งคือ เราเห็นว่า เขามีของจริงๆ ไม่ใช่เอารูปที่ไหนไม่รู้มาโชว์ แต่แม่ค้าที่ไลฟ์เขาจะให้ข้อมูลครบถ้วน ตั้งแต่รุ่นอะไร ปีไหน แล้วก็เอาของมาไล่ให้ดูแต่ละจุดเลย เช่น พื้นสึกมั้ย ซับในเป็นยังไง เก็บส้นรึเปล่า ทำสีมั้ย หรือเป็นงานออริจินัล” เขาเล่า และบอกว่า ส่วนใหญ่จะซื้อแบบเดิมๆ ที่ไม่ได้ผ่านการซ่อมมาก่อน สภาพแค่ไหนก็แค่นั้น

ความสนุกอีกอย่างของการช้อปผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ ธีระวัฒน์มองว่า เรื่องกติกาการร่วมสนุกที่แม่ค้าพ่อค้าตั้งขึ้นมาก็มีผล เช่น จัดโปรโมชั่น แจกของ แจกแว่นตา หรือไอโฟนเอ็กซ์ ก็มีแจกให้เห็นกัน โดยตัวเองก็เคยได้ของรางวัลเป็นรองเท้ากับเขาด้วย

นอกจากนี้ก็ยังมีกติกาให้ช้อปสนุกขึ้นเช่น ตั้งกฎว่า ใคร F เป็นคนที่ 9 ได้ของ ซึ่งปกติ คือ ใครจองก่อนได้ก่อนใช่มั้ย แต่บางที รายย่อยจะไม่ทันพวกร้านค้าที่เข้ามาซื้อไปขายต่อ ซึ่งเขาจะจองหมดเลย แม่ค้าก็เลยตั้งกฎพวกนี้มา เพื่อให้ลูกค้าทั่วไปได้มีสิทธิซื้อด้วย

  • น้ำขึ้น ต้องรีบตัก

ไม่เพียงเป็นคนซื้อเท่านั้น ในฐานะเจ้าของรองเท้าสนีคเกอร์ร่วมร้อยคู่ ก็ต้องมีปล่อยของออกไปบ้าง โดยช่องทางที่เขาเลือกก็คือเฟซบุ๊คไลฟ์เช่นกัน

“เราก็ต้องไปสมัครเข้ากลุ่มขายของพวกนี้ก่อน ก็ส่งบัตรประชาชนให้เขาตรวจสอบ แล้วพอเขาอนุมัติก็จะออกบัตรไอดีให้เราใบนึง แล้วเวลาจะไปขายในกลุ่มนั้น ก็จะต้องแปะรูปบัตรที่ได้มาเข้าไป แล้วก็ต้องทำตามกติกาของกลุ่มนั้นๆ เช่น บอกเงื่อนไขการซื้อให้ครบ แจ้งราคา ไม่หมกเม็ด ก็ขายได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมาย เพราะเป็นรองเท้าใส่เอง ก็จะมีไซส์เดิมๆ เวลาจะขาย ก็จะแจ้งล่วงหน้า ว่า เรามีรองเท้าเบอร์ไหน จะขายกี่โมงๆ ก็มาโพสต์บอกไว้” ธีระวัฒน์ เล่า

ในความเห็นของเขา คิดว่า ช่องทางการขายผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ในช่วงนี้ยังแรงมาก แต่คิดว่า ไม่น่าจะอยู่ได้นาน เดี๋ยวจะต้องซาลงไป

“ที่มันแรงมากตอนนี้ก็เพราะเฟซบุ๊ค เขายังไม่ได้เข้ามาจัดการกับการไลฟ์ (จำกัดการมองเห็นสำหรับการใช้เฟซบุ๊คเพื่อธุรกิจ) ซึ่งถ้าขายในเพจเฉยๆ คนจะไม่ค่อยเห็นแล้ว นอกจากเราจะซื้อบูสต์ แต่ถ้าเราไลฟ์ โดยเฉพาะไลฟ์จากเฟซส่วนตัว ที่ไม่ใช่เพจ โอกาสที่คนจะเห็นเราเยอะมาก แล้วยังบวกกับกติกาของแม่ค้า ที่ให้กดแชร์ไลฟ์ด้วย ถึงจะมีสิทธิซื้อได้ ทำให้การไลฟ์มีโอกาสที่คนจะเห็นได้มากกว่าการแปะรูปขายเฉยๆ ในหน้าเพจ” กวาง หนึ่งในแม่ค้าอีกคนวิเคราะห์ให้ฟัง

ในเรื่องนี้ หมิว เองก็เห็นด้วย และรู้ว่า วันนึงการขายของผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ก็ต้องจากไป 

“หนูก็ต้องรีบตักตวงน่ะค่ะ  คิดว่า น่าจะปีสองปีนี้แหละ เดี๋ยวมันก็น่าจะซาไป ตอนนี้ขายดี ก็ต้องรีบทำเงิน” หมิว บอก

สอดคล้องกันกับฝั่งลูกค้าที่เคยติดหนึบอย่าง จา ที่บอกว่า ตอนนี้เริ่มช้อปอย่างมีสติมากขึ้น และของที่ซื้อมาเก็บไว้ก็เยอะมากแล้ว จนตอนหลังความอยากได้ก็น้อยลง

“ยังดูไลฟ์อยู่นะคะ ดูเป็นความบันเทิง แต่ไม่ได้บ้าซื้อเยอะอย่างแต่ก่อนแล้ว อย่างวันนี้ก็ดูทั้งวันเลยนะ แต่ไม่ได้ของที่ถูกใจ” จากล่าวตบท้าย