48 ปีแมวจอมแก่น นิทรรศการโดราเอมอนโตเกียว ความทรงจำไม่เคยจาง

48 ปีแมวจอมแก่น นิทรรศการโดราเอมอนโตเกียว ความทรงจำไม่เคยจาง

ชวนชมนิทรรศการโดราเอมอน โตเกียว 2017 เมื่อศิลปินถ่ายทอดการ์ตูนเป็นศิลปะ โดราเอมอนที่ยังคงเป็นปรากฏการณ์ และทำให้เกิดงานสร้างสรรค์ต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

โดราเอมอนพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1969 ถึงตอนนี้ก็ผ่านมาถึง 48 ปีแล้ว แต่การ์ตูนเรื่องนี้ยังคงเป็นแหล่งของจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์แห่งวัยเด็กอยู่เสมอ  

สำหรับประเทศญี่ปุ่น โดราเอมอนไม่ได้เป็นการ์ตูนเท่านั้น แต่ยังได้รับการยกย่องเป็นวรรณกรรม และมีการนำมาใช้ในการศึกษา ทั้งตำราเรียนสำหรับชั้นประถม และในมหาวิทยาลัยก็มีวิชา “โดราเอมอนศึกษา” วิเคราะห์จากมุมต่างๆ เพื่อศึกษาว่าเพราะอะไรโดราเอมอนจึงประสบความสำเร็จและเป็นที่รักได้ยาวนาน?

คำตอบนี้อาจจะหาได้ในหัวใจของผู้คลั่งไคล้โดราเอมอนอยู่แล้ว และแต่ละคนก็ตอบตัวเองได้ต่างกัน

เราได้เห็นคำตอบส่วนหนึ่งอย่างเป็นรูปธรรมในนิทรรศการโดราเอมอน โตเกียว 2017 (Doraemon Ten Tokyo 2017) ที่โมริ อาร์ต เซ็นเตอร์ แกเลอรี่ ณ ตึกรปปงงิฮิลส์ กรุงโตเกียว ซึ่งเราได้เดินทางไปชมกับทีม LINE Creators Market ซึ่งพาผู้ชนะการประกวดครีเอเตอร์สติ๊กเกอร์ไทยไปกระตุ้นแรงบันดาลใจในการทำงาน ด้วยนิทรรศการใหญ่แห่งปีของโดราเอมอน คาแรคเตอร์ที่ครองใจคนญี่ปุ่น และแฟนๆ ทั่วโลกมายาวนาน

โดราเอมอนจุดกระโดดของมังงะ

นิทรรศการนี้ชวนศิลปินชื่อดังของญี่ปุ่น 28 คน ซึ่งในจำนวนนั้นมีหลายคนที่โด่งดังในระดับนานาชาติ มาสร้างสรรค์ผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการ์ตูนโดราเอมอน ด้วยแนวคิด “Create Your Own Original Doraemon” โจทย์นี้ลึกซึ้งมากกว่านำโดราเอมอนมาเป็นหัวข้อแล้วคิดงาน เพราะโดราเอมอนซึ่งกำเนิดมายาวนานเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของเด็กญี่ปุ่นช่วงนั้น ซึ่งญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคโมเดิร์นเต็มตัว เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า วัฒนธรรมป๊อบเบ่งบานถึงขีดสุด นิทรรศการนี้เน้นย้ำเรื่องอิทธิพลที่มีต่อศิลปินแต่ละคน ด้วยการระบุปีเกิดของศิลปิน ทำให้เรานึกออกว่าพวกเขาเติบโตมากับโดราเอมอนในช่วงอายุเท่าไหร่

IMG-4298_1

งานชิ้นแรกที่สะดุดตาเมื่อเข้ามาเป็นงานของ Takashi MURAKAMI ศิลปินญี่ปุ่นที่มีคอลเลคชั่นกับหลุยส์ วิตตองมาแล้ว งานขนาดใหญ่ Wouldn’t It Be Nice If We Could Do Such a Thing ป๊อบอาร์ตกับดอกไม้ซิกเนอเจอร์ของมูราคามิเบ่งบานไปกับตัวละครและของวิเศษของโดราเอมอน โดยมีคีย์หลักอยู่ที่ประตูสารพัดที่ซึ่งอยู่กลางภาพ มูราคามิคิดว่าเมื่อดูจากจินตนาการที่หลั่งไหลจากผู้เขียนคือ ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ (Fujiko F. Fukio) ออกมาเป็นสารพัดสิ่งที่ว่าด้วยโดราเอมอนนั้น เหมือนกับเขาเป็นกุญแจที่ไขประตูเปิดความลับของพลังสร้างสรรค์นั้นให้ล้นทะลักออกมา โดราเอมอนเป็นเหมือนตัวแทนแห่งยุคก่อตั้งมังงะ การ์ตูนญี่ปุ่นซึ่งมีวัฒนธรรมและวิถีเฉพาะของตัวเอง สามารถเปล่งพลังสร้างรากฐานแข็งแกร่งจนมีชื่อเสียงและแฟนคลับเหนียวแน่นทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่ทำให้โลกจับตา โดราเอมอนคือประตูบานหลักที่นำมังงะไปสู่จุดนั้น และยังข้ามผ่านกาลเวลามาอย่างเข้มแข็งอีกด้วย

โดราเอมอนกับศิลปะหลากสไตล์

ความทรงจำที่แต่ละคนมีต่อโดราเอมอนก็เหมือนโลกเหนือจริงที่ศิลปินสร้างขึ้นมา หลายงานเล่าอย่างตรงไปตรงมา เช่น งานภาพถ่ายการออกเดทกับโดราเอมอน โดราเอมอนที่เป็นส่วนหนึ่งในบ้าน ในชีวิต

PB171266_1

อีกหลายงานผสานฉากจากการ์ตูนหรือภาพยนตร์โดราเอมอนกับมุมมองของศิลปินออกมาเป็นศิลปะแนวต่างๆ ที่ทำให้เราสนุกกับการดูโดราเอมอนด้วยแว่นตาทางศิลปะหลากสไตล์ เช่น การเขียนภาพสไตล์ภาพประกอบแบบจีนสมัยใหม่ การวาดภาพฉากสุดสะพรึงสมจริงด้วยสีชาร์โคล การวาดมังกรสมจริงจนเกล็ดแทบจะหลุดออกมา

PB171274_1

งานแนวลอยตัว 3 มิติก็อลังการน่าสนใจ อย่างงานชุดกระดาษ ที่ Junko KOIKE (เกิดปี 1974) ทำร่วมกับ Yasumasa MORIMURA (เกิดปี 1951) KOIKE ซึ่งถนัดงานกระดาษและทำชุดด้วยสื่อแปลกๆ ออกมาจับมือกับ MORIMURA ศิลปินซึ่งเป็นที่รู้จักด้วยภาพถ่ายตัวเองกับชุดประหลาดสร้างสเตทเมนท์บางอย่าง MORIMURA สวมชุด “อ่านได้” ซึ่งมาจากลายเส้นการ์ตูนโดราเอมอน นำเสนอผ่านมุมขบขันที่หยิบเอาของวิเศษ 2 ชิ้นอย่างประตูสารพัดที่ และไทม์แมชชีนมาใช้ ผู้ชม “อ่าน” ชุดไปตามเรื่องราวดั้งเดิม หรือจะปะติดปะต่อเรื่องใหม่ด้วยจินตนาการส่วนตัวก็ได้

แรงบันดาลใจจากกระเป๋า “มิติ 4”

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการจดสิทธิบัตรด้านงานประดิษฐ์มากเป็นอันดับต้นของโลก

ความเป็นนักประดิษฐ์ของคนญี่ปุ่นส่งอิทธิพลต่อผู้เขียนโดราเอมอน ของวิเศษจากกระเป๋า “มิติที่ 4” ก็ส่งอิทธิพลต่อผู้อ่านเช่นกัน

หลายงานในนิทรรศการพูดถึงมุมมองเชิงวิทยาศาสตร์ที่เล่าผ่านงานศิลปะสื่อผสม (หลายชิ้นไม่อนุญาตให้บันทึกภาพ) เช่น 3D Mapping บนประติมากรรมโดราเอมอน หรือการขึ้นแบบจำลองของวิเศษชิ้นดัง บางงานเล่นกับแสงและความมืด จึงแสดงอยู่ในห้องที่จัดไว้เฉพาะ หลังม่านทึบนั้นมีงานที่ผ่านการคิดมาอย่างดี เพื่อนำเสนอด้วยวิธีการเรียบง่ายให้ผลสั่นสะเทือนรูขุมขน

PB171276

อย่างที่บอกไปว่าในประเทศญี่ปุ่นมีการนำโดราเอมอนมาศึกษาในมุมของวิชาการหลายด้าน เทคโนโลยีก็เป็นอีกแขนงสำคัญ มีการนำของวิเศษไปเป็นตัวตั้งอยู่เสมอ เช่น ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยของศูนย์การทดสอบแห่งชาติปี 2002 ก็มีการนำของวิเศษของโดราเอมอนมาตั้งคำถามในวิชาฟิสิกส์ หรือข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะมูซาชิโนะ ปี 2006 ก็ให้ออกแบบของวิเศษโดราเอมอนใหม่โดยใช้การคำนวณทางเรขาคณิต

IMG-4353

ในบรรดาของวิเศษกว่า 4,500 ประเภทของกระเป๋าโดราเอมอนนั้นส่วนใหญ่จะเหนือจริง แต่ถึงตอนนี้ของวิเศษหลายอย่างก็เป็นจริงขึ้นมาแล้ว อย่าง เครื่องพิมพ์ตัวอักษรตามเสียงพูด หรือ เครื่องพิมพ์ 3 มิติที่พิมพ์ตามแบบได้เป๊ะ หรือกล้องที่ถ่ายภาพแล้วเปลี่ยนเสื้อผ้าได้ เป็นต้น

มุมต่างของโดราเอมอน

เมื่อเป็นงานระดับปรากฏการณ์ ท่ามกลางความชื่นชมก็ยังมีเสียงวิจารณ์ด้านลบ เช่น การ์ตูนเรื่องนี้ส่งอิทธิพลไม่ดีต่อเด็กๆ ตั้งแต่บุคลิกของตัวละครอย่างโนบิตะ ซึ่งเป็นเด็กเกียจคร้าน พึ่งพาแต่ของวิเศษ ความรุนแรงของไจแอนท์ ความขี้อิจฉาของซูเนโอะ เป็นการ์ตูนที่ส่งเสริมให้เด็กๆ ฝันเฟื่องไม่อยู่บนโลกแห่งความจริง รวมถึงมีข้อสังเกตว่าโดราเอมอนโด่งดังในตลาดเอเชีย แต่ไม่เป็นที่นิยมในตลาดอเมริกา เพราะตลาดนั้นชอบซูเปอร์ฮีโร่แนวแข็งแกร่งกล้ามโต พึ่งพาตนเอง (ด้วยพลังวิเศษเหนือธรรมชาติ) มากกว่าพึ่งพาของวิเศษและความช่วยเหลือจากแมวอนาคตก็มี

IMG-4363

ทุกความเห็นย่อมมีการเห็นต่าง อย่างหนังสือเรื่อง “วิถีแห่งโนบิตะ ชัยชนะของคนไม่เอาไหน” ซึ่งชี้ว่าการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กเกียจคร้านอ่อนแอ เพราะที่แท้ของวิเศษและการช่วยเหลือจากโดราเอมอนนั้น ช่วยดึงจุดแข็งในตัวเด็กปวกเปียกอย่างโนบิตะออกมาต่างหาก และช่วยทำให้เด็ก “ธรรมดา” ซึ่งมีจุดด้อยตามธรรมชาติของมนุษย์สามารถค้นหาข้อดีของตัวเองได้ ผ่านแง่คิดที่แฝงอยู่ในภารกิจต่างๆ ของการ์ตูน

PB171265

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แง่มุมจากโดราเอมอนมีเรื่องถกเถียงไม่จบสิ้น จุดประกายให้เกิดความคิดใหม่ๆ ได้เสมอ และนิทรรศการนี้ก็คืออีกหนึ่งหลักฐานที่ยืนยันว่าผลงานที่ดีจะส่งต่อแรงบันดาลใจให้อย่างไม่รู้จบ

- - - -

นิทรรศการ Doraemon Ten Tokyo 2017 จัดแสดงถึงวันที่ 8 มกราคม 2561 ติดตามรายละเอียดได้ที่ thedoraemontentokyo2017.jp