หนี้เยอะ ชีวิตแย่ คนบ้านอมลอง...แก้ได้

หนี้เยอะ ชีวิตแย่ คนบ้านอมลอง...แก้ได้

ถ้าจะปลดหนี้ด้วยเกษตรผสมผสาน แค่นั้นยังไม่พอ แล้วอะไรคือ ปัจจัยความสำเร็จ

..........................

“เมื่อก่อนที่นี่ปลูกสตรอว์เบอร์รี ระยะแรกก็ปลูกได้ผลดี ได้เงินดี แต่ต้นทุนสารเคมีสูง... ” ครูบาจ๊อก–พระวีระยุทธ์ อภิวีโร วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม ที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนบ้านอมลอง ต.แม่สาบ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟัง

ว่ากันว่า ชีวิตบนดอยกับการปลูกสตรอว์เบอร์รีสีแดงสด ไม่ได้ง่ายอย่างที่คนในชุมชนฝัน แม้ปีแรกๆ จะได้ผลผลิตดี มีเงินซื้อรถยนต์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่ที่สุดแล้ว ต้นทุนการใช้สารเคมีเหล่านี้ก็ย้อนกลับมาทำลายวิถีชีวิตและพื้นดิน

ยิ่งเพิ่มพื้นที่ในการปลูกมากเท่าไหร่ก็ต้องใส่ปุ๋ยเคมีมากเท่านั้น และขยายการทำลายพื้นดินมากขึ้นเรื่อยๆ และยังเพิ่มภาระให้เกษตรกร ทั้งเรื่องต้นทุนและปุ๋ย รวมถึงการจ้างแรงงานต่างด้าว ทำให้หนี้สินพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นบนดอยสูงหลายแห่งในอ.สะเมิง ไม่ต่างจากบ้านอมลอง ต.แม่สาบ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านเป็นหนี้ เพราะการปลูกสตรอว์เบอร์รีเหมือนๆ กัน

วิกฤติของหมู่บ้านแห่งนี้  ทำให้คนในชุมชนคิดว่าชีวิตคงหนีไม่พ้นความยากจน จนเมื่อมี พระสรยุทธ ชยปัญโญ หรือพระอาจารย์โต้ง เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม, พระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ (ปัจจุบันไปช่วยงานที่ศูนย์ปฎิบัติธรรมมาบเอื้องเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ) และครูบาจ๊อก -พระวีระยุทธ์ อภิวีโร พระนักพัฒนาที่เข้ามาในชุมชนได้ช่วยกันพัฒนาหมู่บ้าน โดยใช้ทั้งความรู้ทางโลกและทางธรรม นำแนวคิดทั้งเรื่องเกษตรผสมผสาน การดูแลเรื่องดิน ป่า น้ำ และหลักบวรของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงวิธีบริหารจัดการมาใช้

1.

แม้สตรอว์เบอร์รีบนดอยจะให้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ตามด้วยหนี้สินมากมายในการลงทุนลงแรง ครูบาจ๊อกเล่าว่า เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง เกษตรกรก็ต้องไปกู้เงินธนาคาร เพื่อไปจ้างแรงงานต่างด้าวมาปลูกสตรอว์เบอร์รี แม้จะปลูกแค่สี่เดือน แต่ก็ต้องทำทั้งปี และสตรอว์เบอร์รีก็เป็นที่ต้องการของพ่อค้าคนกลาง ไม่ว่าจะปลูกเท่าไหร่ก็รับซื้อทั้งหมด โดยแลกกับการกู้เงิน

“นายทุนลงทุนให้ชาวบ้านก่อน แต่มีดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้พวกเขาที่เป็นหนี้ธนาคารอยู่แล้ว เป็นหนี้นายทุนที่ปากคลองตลาดเพิ่มอีก“

เรื่องเล่าเหล่านี้ ไม่ต่างจากหลายหมู่บ้านในประเทศไทย นั่นก็คือ ชาวบ้านมีหนี้สินเพิ่มขึ้นทุกปี

ครูบาจ๊อกเล่าต่อว่า หากชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ไม่ดี ก็ไม่มีใครสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติหรอก

“ที่นี่เวลาเกิดไฟป่า น้ำแล้ง ก็ไม่มีใครสนใจ เราเลยเริ่มชวนชาวบ้านมาร่วมบูรณะวัด”     

 เพื่อให้เห็นทุกคนเห็นว่า วัดและชุมชนเป็นหนึ่งเดียวกัน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ครูบาจ๊อกเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาชุมชนตั้งแต่ยังไม่เป็นภิกษุสงฆ์

ก่อนที่ครูบาจ๊อกจะอยู่ในเพศบรรพชิต เขาสนใจเรื่องการพัฒนาชุมชน เคยร่ำเรียนจากปราชญ์ชาวบ้าน ศึกษาเรียนรู้เรื่องการเกษตรหลายแห่ง ทั้งปฐมอโศก ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี และเคยเป็นครูดอย รวมถึงเคยเรียนที่สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ก่อนหน้านี้เป็นนักวิจัยท้องถิ่น แต่งานวิจัยทำในพื้นที่เดิมไม่ได้ จึงไปเรียนต่อด้านการพัฒนาชุมชน และมาเป็นครูดอย”

​จากครูดอยที่เห็นปัญหาและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และสนใจเรื่องการศึกษาที่เหมาะสมกับท้องถิ่น จึงลงมือพัฒนาชุมชนด้วยตัวเอง

      “วัดกับชุมชนจะทำกิจกรรมร่วมกันอยู่ 3-4 เรื่อง คือ 1 ป่าต้นน้ำ 2 เกษตรอินทรีย์ 3 พลังงานทดแทน และ 4 การศึกษาพอเพียง” ครูบาจ๊อก  เล่า

2

เพราะความเข้าใจเรื่องการพัฒนาชุมชนที่มีอยู่เป็นทุนเดิม ครูบาจ๊อกจึงร่วมกับชาวบ้านค้นหาสิ่งที่เหมาะกับพื้นที่และชุมชน โดยเชื่อมโยงกับญาติโยมนอกชุมชนในการนำผลผลิตลงจากดอย

“ใช้เวลาปีหนึ่ง เราไปเรียนรู้หลายที่ เน้นเรื่องศาสตร์พึ่งพิงตนเอง เราก็นำมาประยุกต์ใช้ ตอนนั้นลุงดอนถวายที่ดินสามไร่ เพื่อทำเป็นศูนย์ปฎิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ (บวร.) เราก็ลงมือทำกับชาวบ้าน"

ตั้งแต่ปี 2551 พระนักพัฒนาท่านนี้ทำให้ดูว่า ถ้าไม่มีต้นไม้ ก็ปลูกต้นไม้ ไม่มีน้ำ ก็สร้างฝาย ไม่มีที่เก็บกักน้ำใช้ ไม่มีน้ำดื่ม ก็สร้างแอ่งน้ำและระบบกรองน้ำ ด้วยเงินทุนที่ญาติโยมบริจาค แม้จะไม่มากนัก แต่อาศัยการประยุกต์องค์ความรู้ที่มีอยู่

“แหล่งนำ้ที่ใช้ในหมู่บ้าน มีทั้งน้ำใช้และน้ำดื่ม ถ้าที่อื่นทำแบบเราใช้เงินเป็นสิบล้าน แต่พวกเราสร้างด้วยเงิน 2-3 ล้านบาท ก็ประยุกต์ให้เหมาะสม” ครูบาจ๊อก เล่าและชี้ไปที่แหล่งกักเก็บน้ำในป่า

“เมื่อเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้มีปัญหาเรื่องไฟป่า ไม่ค่อยมีต้นไม้ ก็ปลูกต้นไม้ไปเรื่อยๆ ปลูกมาสิบกว่าปีแล้ว จากป่าเต็งรังจนเป็นป่าดิบชื้น เขียวชอุ่มทั้งปีในพื้นที่หมื่นกว่าไร่ และเราปลูกข้าวไร่ กล้วย ดอกเก็กฮวยสีขาว หญ้าหวาน ตอนนั้นชาวบ้านก็ไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะปลดหนี้ได้จริง เพราะก่อนหน้านี้เคยมีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนให้ชาวบ้านทำพืชผักออร์แกนิค แต่ไม่ได้ช่วยเรื่องตลาด ทำออกมาเจ๊งหมด”

ใช่ว่า ทำเรื่องเกษตรปลอดสารแล้ว พวกเขาจะปลดหนี้สินได้ทันที ที่สำคัญคือ ต้องแก้ปัญหาได้อย่างครบวงจร เพราะแต่ละชุมชนมีปัญหาที่ซับซ้อนต่างกัน

“ที่นี่ปัญหายากกว่า ซับซ้อนกว่า แรงงานน้อย เพราะส่งลูกหลานไปเรียนในเมืองหมด ตอนนั้นลุงดอนเป็นหนี้สามสี่แสนบาท และชาวบ้านเป็นหนี้กันทุกหลังคาเรือน เพราะชาวบ้านอยากมีเครื่องอำนวยความสะดวกเหมือนคนในเมือง”

ปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้ไม่ต่างจากหลายที่ในประเทศไทย แต่ทำไมพวกเขาปลดล็อคหนี้ได้

     “เมื่อก่อนครูบาเป็นนักเขียนโครงการ ปีแรกๆ ก็ของบได้มาสามสี่ล้าน แต่พอปี 2554 ได้เงินสนับสนุนแค่สามสี่แสน เห็นแบบนี้ ไม่ยั่งยืน ก็เลยคิดว่าเราต้องมีกองทุนเป็นของตัวเอง พึ่งพิงตนเองให้ได้ ก็เลยเกิดขบวนบุญ ทำกิจกรรมเพื่อจุนเจือกิจกรรมใหญ่ในเรื่องการดูแลป่าต้นน้ำ”

 

3

การเรียนรู้เรื่องการพึ่งพิงตนเองในชุมชนเล็กๆ สามสิบสี่สิบคนแบบนี้ ครูบาจ๊อกเริ่มจากการสร้างความศรัทธาและพาไปเรียนรู้นอกชุมชน

“ที่นี่เป็นห้วยแห้ง เริ่มจากทำฝายไปเรื่อยๆ จนมีหลายร้อยฝาย สามปีถึงจะได้ผล ที่อื่นมีนาขั้นบันได ที่นี่มีฝายขั้นบันได และอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งตอนนั้นอาตมาเจอสี่ห้าคดีเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ ทหาร เข้ามาตรวจสอบบ่อยมาก เราก็บอกว่าให้รอดูสิ่งที่เราทำ และเราไม่ทะเลาะกับใคร” ครูบาจ๊อก เล่าถึงจุดเริ่มต้น และพาไปดูฝายที่สร้างจากอิฐ หิน เพื่อชะลอน้ำไว้ใช้ในที่ดินทำกิน

     พวกเขาเริ่มจากการสำรวจพืิ้นที่ ทำฝาย หาแหล่งน้ำ ปลูกต้นไม้ วางระบบปลูกพืช ฯลฯ 3 ปีผ่านไปชุมชนค่อยฟื้นตัว มีผลผลิตโดยไม่ใช้สารเคมี ทั้งกล้วย ข้าว กระเทียม เก็กฮวย ผัก กาแฟ (ปัจจุบันมีร้านกาแฟ และพัฒนาจนเป็นแบรนด์ฮักป่า รวมถึงส่งคนรุ่นใหม่ไปเรียนเป็นบาริสต้า เพื่อเรียนรู้เรื่องกาแฟทั้งระบบ )

"เริ่มจากทำสบู่ แชมพู ยาสระผม เป็นของที่ระลึกให้ญาติโยม และก็บอกคนกรุงเทพฯว่า ถ้าคนที่นี่ปลูกข้าวโพด คุณก็เดือดร้อน ข้าวและกล้วยจึงเป็นผลผลิตที่พวกเขาซื้อกลับไปเวลามาทำบุญและเอาไปช่วยขายด้วย”

ข้าวกะเหรี่ยงที่ไม่เคยมีคนรู้จักเลย พวกเขาสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนส่งออกไปขายให้คนนอกชุมชนได้ และเงินส่วนหนึ่งนำกลับมาพัฒนาชุมชน 

      "เราไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่เอากิจกรรมเป็นตัวตั้ง คนซื้อข้าวไป ก็เป็นสะพานเชื่อมโยงช่วยเหลือชุมชน นับตั้งแต่ปี 2554 ชุมชนสามารถพึ่งพิงตนเองได้ ช่วง 6 ปีที่ผ่านมาสามารถระดมทุนในชุมชนได้ หยุดขอเงินจากภายนอก คนในหมู่บ้านที่เป็นหนี้สองล้านบ้าง หกแสนบ้าง ก็ปลดหนี้ได้” ครูบาจ๊อก เล่า

4

เหมือนเช่นที่กล่าวมา ปัญหาของชุมชนแห่งนี้ดูเหมือนจะแก้ไขยาก แต่พวกเขาก็สามารถปลดหนี้ได้ด้วยการลงมือทำทีละเรื่อง โดยแต่ละส่วนจะมีผู้จัดการรับผิดชอบ

     “เราพัฒนาศักยภาพให้ชาวบ้านเป็นพ่อค้าคนกลางเอง ชาวบ้านยุคใหม่ต้องเป็นผู้ประกอบการได้ โรงสีข้าวที่คุณเห็นก็มีผู้จัดการดูแล” ครูบาจ๊อก เล่า และสาเหตุที่พวกเขาปลดหนี้ได้ เพราะใช้ระบบการลดต้นทุนการผลิต 

"ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่เคยคิดต้นทุนการผลิต ก็เลยบอกพวกเขาว่าถ้าค่าใช้จ่ายอยู่ที่ปุ๋ย เราก็ทำปุ๋ยหมักเอง หากถามว่าผลผลิตที่นี่เป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดไหม ยังไม่เต็มร้อย เพราะก่อนหน้านี้มีสารเคมีปนเปื้อนตอนที่ปลูกสตรอว์เบอร์รี เราจึงทำได้แค่เกษตรปลอดภัย ที่นี่มีระบบประกันราคาข้าวให้ตันละหมื่นสาม นั่นคือปี 2554 เพื่อสู้กับการปลูกข้าวโพด เราประกันราคข้าวก่อนรัฐบาลทำ”

     คิดให้ก้าวไกลว่ารัฐทำ คือสิ่งที่พระนักพัฒนาทำ ส่วนอีกเรื่อง คือแก้ปัญหาให้ถูกจุด บางฤดูกาลปลูกผักเชียงดาและหญ้าหวาน เพราะสามารถปลูกในพื้นที่จำกัดได้ ไม่ต้องใช้น้ำและแรงงานเยอะ 

     “คนหนึ่งปลูกได้แค่ 700 ต้น ปลูกเยอะกินไม่ทัน เก็บไม่ทัน เราก็ต้องเรียนรู้ ถ้าปลูกพืชที่ใช้น้ำเยอะ ก็ไปแย่งน้ำกันอีก”

ครูบาจ๊อบ บอกว่า สำหรับคนที่เข้าโครงการแบบเข้มข้น ปัจจุบันสามารถปลดหนี้ได้หมดแล้ว ส่วนคนที่เข้าโครงการแบบไม่เข้มข้น ก็แค่พออยู่พอกิน และปัจจุบันลูกหลานของคนที่นี่ก็กลับมาอยู่ในชุมชนช่วยพ่อแม่ทำงาน อย่างโรงงานกระเทียมก็มีบริษัทมารับซื้อ เพราะกระเทียมที่นี่เป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากคุณภาพดี

“เพราะที่นี่มีบทเรียน ลองผิดมาก่อน โดยมีพระในวัดเป็นที่ปรึกษา ตอนนี้ 20 หมู่บ้านรอบๆ มาดูงานและเรียนรู้ จะทำตามชุมชนเรา ในอนาคตถ้าเกิดภััยพิบัติ ที่นี่จะเป็นที่พึ่่งพิงได้ เรามีข้าวในสต็อกสามสิบสี่สิบตัน เราสามารถช่วยที่อื่นได้เลย และตอนนีี้เรากำลังคิดเรื่องยุ้งข้าวที่กำจัดมอดได้ แต่ยังไม่สำเร็จ"

 

..............

(((วิธีคิดที่เปลี่ยนชุมชน)))

1. ปลูกป่าในใจคน

2. ดับไฟในใจคน

3. สร้างความพอเพียงในใจคน