PTTEP & BANPU คืนฟอร์มหุ้นบลูชิพ?

PTTEP & BANPU คืนฟอร์มหุ้นบลูชิพ?

“ขาลง”สินค้าโภคภัณฑ์ สารพันปัญหาถาโถม กดความสวยหุ้น PTTEP & BANPU สองหุ้นบลูชิพที่ครั้งหนึ่งเคย“เสน่ห์แรง” ทว่าวันนี้กลับคลายมนต์ขลัง ลุ้นอดีตหุ้นสวยจะกลับมา โดนใจขาหุ้นได้หรือไม่? ไปฟังนักวิเคราะห์ถกอนาคต

หากเอ่ยถึง หุ้นเด่นในดวงใจ” ของเหล่านักลงทุนย้อนหลังไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นต้องมี หุ้น ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP และ หุ้น บ้านปู หรือ BANPU หุ้นขาประจำที่ต้องติดอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของบรรดานักลงทุน ผู้พิสมัยการลงทุนด้วยกลยุทธ์หุ้นพื้นฐานดี” (Blue-chip) เพราะที่ผ่านมาถือว่าเป็นหุ้นที่เต็มไปด้วยสตอรี่ มีอัตราการเติบโตที่ดี

ทว่า พักหลังสถานการณ์หุ้น PTTEP และ BANPU กลับไม่เป็นเช่นนั้น จากทิศทางขาลงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities)  ตามอุปสงค์ (Demand) หรือความต้องการตามสภาวะเศรษฐกิจ และอุปทาน (Supply) หรือความสามารถในการผลิต ซึ่งมีผลต่อการกำหนด“ราคาต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์”

โดยหุ้น PTTEP  มีปัจจัยกดดันสำคัญคือ ราคาน้ำมันดิบโลก ส่วนหุ้น BANPU มีปัจจัยกระทบคือ ราคาถ่านหินในตลาดโลก

สะท้อนจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป) ของหุ้น PTTEP ปรับตัวลดลงจากในอดีต โดยปี 2556 บริษัทมีมาร์เก็ตแคปในระดับ 661,002.57 ล้านบาท เหลือ 364,246.16 ล้านบาท ใน 6 เดือนแรกปี 2560 เท่ากับว่ามาร์เก็ตแคปหายไปรวม 296,756 ล้านบาท เป็นไปในทิศทางเดียวกับผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2557-2559) พบว่าทั้งรายได้-กำไรสุทธิลดลงต่อเนื่อง โดยปตท.สผ. มีรายได้อยู่ที่ 260,388.92 ล้านบาท , 193,578.62 ล้านบาท , 153,046.65 ล้านบาท งวด 6 เดือนแรกปี 2560 มีรายได้ 73,859.52 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 21,490.45 ล้านบาท ,-31,590.49 ล้านบาท , 12,859.72 ล้านบาท งวด 6 เดือน 19,819.76 ล้านบาท

สอดคล้องกับมุมมองของธนรัตน์ อิศรกุลผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง หรือ BLS เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่าสถานการณ์ของหุ้น PTTEP มีลักษณะคล้ายๆ กับหุ้น BANPU ที่ในอดีตหุ้นทั้ง 2 ตัวเคยเป็นหุ้นขวัญใจเหล่านักลงทุนต้องมีไว้ประจำพอร์ต ต่างจากในปัจจุบันมุมมองที่เรียกว่า ขาดเสน่ห์” ไปแล้วในสายตาของนักลงทุน โดยตอนนี้ก็ยังไม่เห็นสัญญาณทางเทคนิคจึงแนะนำให้ลงทุนอยู่ในกรอบจำกัด เพื่อรอสัญญาณการเปลี่ยนเทรนด์ของหุ้น PTTEP ก่อน 

"วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ราคาหุ้น PTTEP สามารถทะลุผ่านแนวต้านสำคัญและราคาหุ้นขึ้นไปทำนิวไฮรอบใหม่ได้ ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น (วอลุ่ม) แต่ตอนนี้ดูในแง่ราคาหุ้นและวอลุ่มยังไม่เห็นสัญญาณการเปลี่ยนเทรนด์ใหม่เป็นขาขึ้นของหุ้น PTTEPเลย”  เขาแจกแจง 

รวมทั้งทิศทางของผลประกอบการของบริษัทยังออกมาไม่สดใส ประเมินจากผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 264 ล้านดอลลาร์ หรือราว 8,862 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี กำไรสุทธิ 156 ล้านดอลลาร์ หรือ 5,446 ล้านบาท จากการรับรู้การขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ของโครงการมาเรียนา ออยล์แซนด์ จำนวน 558 ล้านดอลลาร์

แม้ว่าทิศทางธุรกิจพลังงานกำลังโงหัว หลังทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวขึ้นมาเกือบ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  และตลาดหุ้นกลับมาคึกคัก แต่ราคาหุ้น PTTEP กลับยังไม่โดนใจ” โดยเขาประเมินว่า เป็นผลมาจากหุ้นกลุ่มพลังงานยังมีหุ้นตัวอื่นที่มีความน่าสนใจมากกว่า เช่น หุ้น PTT ถือว่าเป็นหุ้นที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งธุรกิจยังกระจายความเสี่ยงออกไปในธุรกิจโรงกลั่น และค้าปลีก

“ลักษณะหุ้น PTTEP คล้ายๆหุ้น BANPU ในอดีตหุ้น PTTEP ถือว่าสร้างกำไรโดดเด่นสุดกว่าหุ้นทุกตัวในเครือ PTT”

ถามว่า...! มีโอกาสเห็นราคาหุ้น PTTEP ผงกหัวขึ้นไหม? นักเทคนิครายเดิม ประเมินว่า “มีโอกาสเห็นราคาหุ้นขยับขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกที่ขยับเพิ่มขึ้น” แต่โอกาสที่จะกลับมา โดดเด่นที่สุดในกลุ่มพลังงานนั้นค่อนข้างยาก ยิ่งเฉพาะในปีนี้ ธุรกิจโรงกลั่นมีค่าการกลั่นสูง จะเห็นได้จากหุ้นกลุ่มโรงกลั่นวิ่งกันทุกตัว อาทิ หุ้น ไทยออยล์ หรือ TOP , หุ้น ไออาร์พีซี หรือ IRPC เป็นต้น

เขายังแจกแจงว่า หากพิจารณาถึงเหตุผลที่ทำให้หุ้น PTTEP สวยลดลง ไล่มาตั้งแต่ ราคาน้ำมันดิบโลกตกต่ำ จากอดีตช่วงวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551 ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงสุดถึง 145 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนจะร่วงลงมาต่ำสุดในรอบ 5 ปี (ก.พ.2552) อยู่ที่ 43 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

นอกจากปัจจัยเรื่องความแปรปรวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์แล้ว PTTEP ยังเจอผีซ้ำด้ามพลอย กับปัญหาทางธุรกิจเฉพาะบริษัท ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ภาพรวมอุตสาหกรรม อย่างกรณีรัฐบาลอินโดนีเซีย” ฟ้องร้อง ปตท. และ ปตท.สผ. เป็นเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์ กับข้อกล่าวหาสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากเหตุการณ์น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรั่วไหลในทะเลติมอร์เมื่อ 8 ปีที่แล้ว

เหตุการณ์ครานั้นจุดเกิดเหตุคือบ่อขุดน้ำมัน Montara ที่ดำเนินการโดยบริษัท PTTEP Australasia เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นในปี2552 ส่งผลให้มีน้ำมันรั่วไหลออกมาหลายล้านลิตร บริเวณชายฝั่งทางเหนือของออสเตรเลียตะวันตก เหตุการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นหนึ่งในภัยพิบัติจากน้ำมันที่ร้ายแรงที่สุดของออสเตรเลีย และ ปตท.สผ.ถูกปรับเป็นเงินกว่า 394,000 ดอลลาร์ ในปี 2554 โดยมีประเด็นเกี่ยวพันถึงการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน รวมถึงความผิดพลาดของการทำงานในบ่อน้ำมันดังกล่าว

รัฐบาลอินโดนีเซีย ระบุว่า การรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนั้น ทำให้เกิดความเสียหายต่อน้ำทะเลและพื้นที่ชายฝั่งทะเล รวมถึงทำลายป่าชายเลนและแนวปะการังของจังหวัด Nusa Tenggara ของอินโดนีเซีย ดังนั้นจึงได้มีการยื่นคำร้องต่อศาล Jakarta ฟ้องร้อง ปตท., ปตท.สผ. และ PTTEP Australasia เพื่อเรียกค่าเสียหาย นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรผู้ปลูกสาหร่ายของอินโดนีเซียกว่า 15,000 ราย เรียกร้องเงินชดเชยกว่า 152 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ. มีแถลงการณ์ผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ว่า รับทราบการฟ้องร้องของอินโดนีเซีย แต่ยังไม่ได้รับแจ้งรายละเอียดใดๆ พร้อมระบุว่ามีการเจรจาและให้ความร่วมมืออย่างดีกับรัฐบาลอินโดนีเซีย ขณะที่ PTTEP Australasia ยืนยันว่า ไม่มีน้ำมันรั่วไหลจากบ่อ Montara มายังชายฝั่งทะเลของอินโดนีเซีย และไม่มีความเสียหายระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมในทะลติมอร์

เรื่องยังไม่จบเท่านั้นที่ผ่านมา ปตท.สผ.ยังถูกจับโยงไปถึงการจ่ายเงินสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานรัฐในหลายประเทศ รวมถึงไทยด้วยตั้งแต่ปี 2543-2556 จนทำให้บริษัทต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง

ล่าสุดกรณี บริษัท ปตท.สผ.แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัท ปตท.สผ.สยาม บริษัทย่อยได้หยุดการผลิตโครงการเอส1 เฉพาะในพื้นที่ ส.ป.ก. ตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. 2560 ซึ่งการหยุดการผลิตโครงการเอส1 ในพื้นที่ส.ป.ก จะส่งผลให้ปริมาณการขายน้ำมันดิบลดลงประมาณ 15,000 บาร์เรลต่อวัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ลดลงประมาณ 130 ตันต่อวัน และก๊าซธรรมชาติลดลงประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน กระทบต่อรายได้

ทว่า ไม่ใช่ว่าหุ้น PTTEP จะไม่มีโอกาสกลับมาสวยเฉกเช่นในอดีต? มุมมองของ กิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อยบล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)ประเมินว่าผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2560 ของปตท.สผ. ถือว่าผ่าน จุดต่ำสุดไปแล้ว โดยขาดทุนสุทธิ 8,862 ล้านบาท รับผลการตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์โครงการมาเรียนา ออยล์แซนด์ ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท แต่ในด้านของกำไรปกติสามารถทำได้ราว 9,600 ล้านบาท ซึ่งถือว่า“ดีกว่าคาด” ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2560 จะดีขึ้นจากที่ไม่ต้องตั้งสำรองฯ และแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น

ปัจจุบันเฉลี่ยราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ราว 50-55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้คาดว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปีนี้จะสูงกว่าในปีที่แล้ว และจะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องในปีหน้า จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจะช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมันให้ฟื้นตัวตามขึ้นมาด้วย

“กิติชาญ” ยังบอกว่า ด้านปริมาณการผลิต คาดว่าจะยังถูกจำกัดจากการที่คาดการณ์ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และนอกโอเปก จะขยายเวลาการลดกำลังการผลิตออกไปอีกเป็นสิ้นปี 2561 โดยยังต้องจับตาการประชุมโอเปกวันที่ 30 พ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แม้จะช่วยหนุนให้การผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าด้วยความต้องการใช้ที่สูงขึ้นจะช่วยรองรับปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้

แม้ว่า PTTEP จะไม่สามารถควบคุมทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ แต่ PTTEP สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตต่อหน่วย ให้อยู่ในระดับต่ำที่ราว 29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะช่วยหนุนผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นได้ รวมทั้งหุ้น PTTEP ยังมี Upside จากการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 ทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ โดยปตท.สผ.มีโอกาสที่จะได้ต่อการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งบงกชที่เป็นเจ้าของสัมปทานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะน่าจะรู้ผลในช่วงไตรมาส 2 ปี 2561

"ไตรมาส 3 น่าจะแย่สุดของปีนี้ และไตรมาส 4 ก็จะดีขึ้นจากไม่ต้องตั้งสำรอง” เขาประเมินสถานการณ์

สอดคล้องกับคำพูดของ สมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP ที่เคยบอกไว้ว่า บริษัทยังเดินหน้าหา “สตอรี่ใหม่” เช่น การผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการเซาท์เวสต์เวียดนาม หรือโครงการบล๊อก B ในเวียดนามที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนราว 7-8% น่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision :FID) ได้ในปี 2561 หลังจากล่าสุดผู้ร่วมทุนโครงการดังกล่าวได้ร่วมลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับราคาก๊าซฯและราคาค่าผ่านท่อก๊าซฯ (Letter of Agreement: LOI) เรียบร้อยแล้ว

“โครงการร่วมทุนในเวียดนาม มี 3 โครงการ โดย 2 โครงการแรกเป็นการผลิตน้ำมันซึ่งได้ดำเนินการแล้ว ส่วนโครงการนี้เป็นแหล่งก๊าซฯ เราเข้าไปลงทุนนานพอสมควร ตอนนี้มีการค้นพบปริมาณสำรองและมีความพยายามเจรจาจะซื้อจะขายก๊าซฯระหว่างผู้ผลิต ณ วันนี้การเจรจาราคาก๊าซฯที่จะซื้อจะขาย และค่าผ่านท่อแล้ว เพื่อนำมาขึ้นฝั่งใช้ในการผลิตไฟฟ้า ก็ได้มีการลงนาม LOI เพื่อเตรียมสรุปเป็นสัญญาซื้อขายก๊าซฯในโอกาสต่อไป”

สำหรับโครงการแหล่งก๊าซฯในเวียดนาม บี ประกอบด้วย แปลง 48/95 ซึ่งมีบริษัท ปิโตรเวียดนาม (PVN) เป็นผู้ถือหุ้น 42.38% และเป็นผู้ดำเนินการ(operator), บริษัท มิตซุย ออยล์เอ็กซ์พลอเรชั่นจำกัด (MOECO) ถือหุ้น 25.62% ,บริษัท ปิโตรเวียดนาม เอ็กซ์พลอเรชั่นโปรดัคชั่นคอร์ปอเรชั่น (PVEP) ถือหุ้น 23.50% และ PTTEP ถือหุ้น 8.50% ขณะที่แปลง 52/97 มี PVN ถือหุ้น 43.4% และเป็นผู้ดำเนินการ ,PVEP ถือหุ้น 30% ,MOECO ถือหุ้น 19.6% และ PTTEP ถือหุ้น 7%

ส่วนความคืบหน้าในการประมูลสัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 บริษัทยืนยันที่จะเสนอทั้ง 2 แปลง คือเอราวัณ และบงกช โดยในขั้นตอนแรกจะเป็นการเจรจากับพันธมิตรที่ร่วมทุนเพื่อเข้าร่วมประมูลในแต่ละโครงการ แต่หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ก็พร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถให้รายละเอียดของการเจรจาและการยื่นข้อเสนอได้ โดยยังต้องรอเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) ที่จะออกมาก่อน

“แปลงบงกชที่เราเป็น operator (ผู้ดำเนินการ) ก็คุยกับพันธมิตรรายเดิม ส่วนแปลงเอราวัณ ก็คุยกับพันธมิตรปัจจุบัน ถ้า term condition ตกลงกันได้ในทุก party เราก็ร่วม Bid ซึ่งในส่วนนี้เราจะขอเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นจากเดิมที่มีอยู่ 3-5% ซึ่งน้อยเกินไป แต่ถ้าพิจารณาแล้วตกลงไม่ได้เราก็คงต้องพิจารณา Bid เอง”

สำหรับ หุ้น บ้านปู หรือ BANPU สถานการณ์เปลี่ยนไปนับตั้งแต่ราคาถ่านหินไหลรูดลงจาก หลักร้อยดอลลาร์ต่อตันเมื่อกลางปี 2555 ลงมาอยู่ระดับเฉลี่ย 59 ดอลลาร์ต่อตันในปัจจุบัน หลังสภาวะปริมาณถ่านหินล้นเกินความต้องการใช้ ส่งผลให้ธุรกิจถ่านหินเข้าสู่ ยุคอุตสาหกรรมตะวันตกดิน (Sunset Industry) ทันที

จากผลกระทบดังกล่าว ทำให้ฐานะการเงินและราคาหุ้นของ BANPU ผู้ประกอบการที่มีธุรกิจถ่านหินเป็นงานหลัก (Core Business) ทิ่มหัวลงต่อเนื่อง จากเดิมที่เคยมีกำไรสุทธิสูงถึงหลักหมื่นล้านบาทเหลือเพียง 2,670 ล้านบาท ในปี 2557 แม้ในอดีตบริษัทจะพยายามหารายได้เสริมจากธุรกิจไฟฟ้า ก็ตาม

ขณะเดียวกัน ยังทำให้ราคาหุ้น BANPU ลดลงจาก จุดสุงสุด” (นิวไฮ) 868 บาท (เมื่อ 5 ม.ค.2554) มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 10 บาท เหลือเพียง 140 บาท (ราคาถ่านหินก่อนแตกพาร์10 บาท เหลือ 1 บาท เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2556) ปัจจุบันราคาหุ้น BANPU ซื้อขายเฉลี่ย 17.66 บาท

นอกจากนั้น ผลกระทบจากราคาถ่านหินยังส่งผลให้ภาพลักษณ์ของ หุ้น BANPU ที่มีต่อนักลงทุนต่างชาติเปลี่ยนแปลงไป เห็นได้จากตัวเลขการถือหุ้นที่ ลดลงหลายสิบเปอร์เซ็นต์เนื่องจากในอดีตธุรกิจถ่านหินเคยมีฐานะโดดเด่น หลังราคาถ่านหินเคยมีราคาสูงถึง 180 เหรียญต่อตันในปี 2552

แม้ในช่วงที่ราคาถ่านหินตกต่ำ เป็นเหตุให้บริษัทขาดทุนหนัก ทว่า สมฤดี ชัยมงคลประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU กลับพยายามเรียกศรัทธาคือด้วยภารกิจคืนความแข็งแกร่งให้บ้านปู ด้วยแนวทางบริษัทเน้นบริหาร “asset strategy”ใน 3 เสาหลักของบริษัทให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น นั่นคือ ธุรกิจต้นน้ำ คือ ถ่านหิน ธุรกิจกลางน้ำ คือ การบริหารการขนส่งถ่านหินและเชื้อเพลิงต่างๆ และธุรกิจปลายน้ำ คือ ธุรกิจไฟฟ้าโดยนำ บมจ.บ้านปู พาวเวอร์ หรือ BPP ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้า เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซื้อขายวันแรก (เทรด) วันที่ 28 ตุลาคม 2559

นอกจากนี้ ยังจัดระเบียบโครงสร้างการเงินให้มีความแข็งแกร่งอีกด้วย การมีกระแสเงินสดจากธุรกิจไฟฟ้าเข้าช่วยเหลือนั้นจะทำให้สภาพคล่องทางธุรกิจดีขึ้น เนื่องจากกำไรของธุรกิจไฟฟ้านั้นคงที่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีสัญญาการซื้อขายระยะยาว

แนวทางนี้ทำให้งบการเงินของกลุ่มมีความมั่นคงขึ้น และยังจะส่งผลให้บริษัทมีเงินจ่ายปันผลได้ทุกปีให้กับผู้ถือหุ้น แม้ว่าราคาถ่านหินในช่วงที่ผ่านมาจะตกต่ำก็ตามทีเธอย้ำให้ฟัง

รวมทั้งยังต้องเร่งสร้างภาพลักษณ์ของบ้านปู เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่าบ้านปูไม่ใช่เพียงแค่ทำธุรกิจถ่านหิน แต่เป็นบริษัทพลังงาน ครบวงจรและกำลังมุ่งเน้นพัฒนาพลังงานสะอาดให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย