ราคาของความโสด

ราคาของความโสด

ถอดสมการความโสดผ่านมุมมองทางเศรษฐศาสตร์และการตลาด

            หมดยุคแล้วหากจะตั้งคำถามว่า “เป็นโสดทำไม...” เพราะไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร สถิติแทบทุกสำนักต่างฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่า ชาวโลกมีแนวโน้มเป็นโสดกันมากขึ้น

            ตัวเลขกลมๆ ที่บริษัทจัดหาคู่ระดับไฮเอนด์ MeetNLunch เคยให้ไว้คือ 40% ของคนวัยทำงาน หรือประมาณ 17 ล้านคน มีสถานภาพ ‘โสด’ ขณะที่ในประเทศไทย โฟกัสกันชัดๆ ที่ผู้หญิงโสดอายุ 45 ปีขึ้นไป เมื่อประมาณปี พ.ศ.2513 ยังมีตัวเลขอยู่ที่ 4.6 เปอร์เซนต์ แต่หลังจากทำการสำรวจอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2553 พบว่าผู้หญิงโสดและไม่แต่งงานในวัยดังกล่าว ขยับมาอยู่ที่เกือบ 9% หรือเพิ่มขึ้นมาหนึ่งเท่าตัว ขณะที่ในกลุ่มผู้ชายก็ไม่น้อยหน้า รักษาความโสดเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ

ถึงตอนนี้ คำถามที่น่าสนใจกว่าจึงน่าจะอยู่ที่ว่า ตัวเลขคนโสดที่เพิ่มขึ้นขนาดนี้จะส่งผลอย่างไร(ต่อสังคม)

  • เศรษฐศาสตร์ความโสด

            มองในแง่บุคคล เหตุผลของความโสดอาจมีร้อยแปด แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ ความโสดเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดสรรทรัพยากร(ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด) ดร.จรัมพร โห้ลำยอง นักวิจัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วิจัยเรื่อง ‘เศรษฐโสด...คำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยความเป็นโสด’ อธิบายว่า

            "เรื่องของการเลือกคู่ มันคือการจัดสรรของคนว่าจะเลือกหรือไม่เลือก แล้วก็จะเลือกใครเป็นคู่ครอง ทรัพยากรจริงๆ มันไม่ใช่แค่โอกาสของคนคนหนึ่งเท่านั้น แต่ว่าการที่เราจะอยู่ด้วยกันเป็นชีวิตคู่ สามี-ภรรยา มันมีเรื่องอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น บางคนก็คิดว่าจะได้มาช่วยกันสร้างเนื้อสร้างตัว ตรงนี้ก็เป็นทรัพยากรอย่างหนึ่ง หรือในส่วนของการใช้เวลาก็เป็นทรัพยากรอีกส่วนหนึ่ง คนที่เลือกที่จะโสด ก็เพราะเขาหวงเวลาของเขา"

            นอกจากนี้ยังมีเรื่องของอุปสงค์อุปทานในตลาดมาเกี่ยวข้องด้วย "ในทฤษฎีทางการตลาด การที่เราไม่ถูกเลือก บางทีมันอาจไม่ใช่เพราะคุณสมบัติไม่ดีหรือว่าอะไร จริงๆ แล้ว ตลาดมันต้องมีผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกัน คือต้องมีหนุ่มมีสาวมาเจอกันในตลาดด้วย แต่ว่าปัจจุบันสถานที่หรือโอกาสที่จะเจอกันอาจจะน้อยลง บางทีหนุ่มสาวที่ใช่สำหรับเราก็ไม่ได้อยู่ในตลาดเดียวกัน ไปอยู่ในตลาดอื่น มันก็แบบ..หากันไม่เจอสักที"

            ดังนั้น คำแนะนำสำหรับคนอยากมีคู่ก็คือ ต้องลองเปลี่ยนตลาดดู หรือพูดง่ายๆ ก็คือเปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนสภาพแวดล้อม เพื่อให้ได้พบเจอกับคนใหม่ๆ หรือไม่ก็สร้างตลาดหรือ ‘โอกาส’ ขึ้นมาเอง อย่างที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งในประเทศจีน ได้ริเริ่มจัดงาน ‘วันคนโสด’ เมื่อปี ค.ศ.1990 โดยเลือกวันที่ 11 เดือน 11 เป็นตัวเลขเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจาก 11.11 มีเลข 1 ถึงสี่ตัว

            "อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเคยเล่าให้ฟังว่า เดิมทีเทศกาลนี้เกิดจากการที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งในจีนตั้งคำถามถึงธรรมเนียมวันวาเลนไทน์ที่เป็นวันเฉลิมฉลองสำหรับคนมีคู่ แต่ไม่มีวันพิเศษเพื่อการเฉลิมฉลองให้กับคนโสด พวกเขาจึงต้องการให้กำลังใจคนโสดด้วยกัน เกิดเป็นธรรมเนียมการเฉลิมฉลองความเป็นโสดของตัวเองอย่างมีความสุข" ธัญชนก เธียรลีลา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาภาษาจีนเพื่อการสื่อสาร มหาวิทยาลัยไหโข่ว มณฑลไหหนาน ประเทศจีน บอกถึงที่มา ก่อนจะเล่าต่อถึงบรรยากาศวันคนโสดในประเทศจีนว่า

            วันนี้จะมีกิจกรรมให้คนโสดทั้งหลายมาเฉลิมฉลองจัดงานสังสรรค์กัน เป็นการเปิดโอกาสให้ได้ทำความรู้จักกัน แต่ต่อมาในปี ค.ศ.2011 อาลีบาบา (Alibaba) เริ่มนำเสนอกิจกรรมการจับจ่ายสินค้าออนไลน์ โดยจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมอย่างจุใจเพื่อให้บรรดาคนโสดเลือกซื้อของขวัญให้กับตนเอง ทำให้การฉลองวันคนโสดในประเทศจีนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกปี

            "ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกค่ะว่าช่วงวันคนโสดคึกคักแค่ไหน พอรู้ตัวอีกทีก็มีนักศึกษามากมายต่อแถวเพื่อรอรับสินค้าของตัวเองกัน ซึ่งตรงจุดรับของในมหาวิทยาลัยไหโข่ว ปกติจะมีไปรษณีย์ 10 กว่าเจ้าให้บริการ เท่าที่สังเกตในช่วงวันคนโสดไปรษณีย์เหล่านี้จะคึกคักเป็นพิเศษ เทียบได้กับตอนวันชาติจีนที่คนจีนนิยมจับจ่ายใช้สอยได้เลยทีเดียว"

  • 11.11 มหกรรมกระหน่ำโสด

            ตัวเลขคนโสดที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับนักธุรกิจที่คิดการณ์ไกลแล้วถือเป็นโอกาสที่ไม่ควรปล่อยให้หลุดลอย เช่นเดียวกับ แจ็ค หม่า ที่เห็นช่องทางว่า วันคนโสดมีการส่งต่อข้อมูลกันทางออนไลน์ ทางโซเชียลเน็ตเวิร์คกันมาก "เขาเลยสร้างแคมเปญขึ้นมาใหม่ บอกว่าวันคนโสดมาซื้อของขวัญให้ตัวเองดีกว่า เพราะฉะนั้นเป็นการสร้างดีมานด์หรือความต้องการ แล้วก็เห็นว่ากลุ่มคนโสดเป็นกลุ่มที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นลูกค้าใหญ่ เขาก็เลยบอกว่าคนโสดซื้อของออนไลน์ดีกว่า ก็คล้ายๆ กับเป็นแบล็คฟรายเดย์ (Black Friday)ของเมืองจีนไปเลย" อ.จรัมพร วิเคราะห์

ใช้เวลาไม่กี่ปีแคมเปญเล็กๆ ก็กลายเป็นมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก เพราะไม่เพียงทุบสถิติการซื้อขายออนไลน์ในประเทศจีน แต่สื่อชื่อดังฝั่งอเมริกาอย่าง Forbes ถึงกับเรียกขานวันนี้ว่า “11.11 Global Shopping Festival” พร้อมขยายความว่า "อาลีบาบาทำให้เกิดปรากฎการณ์การซื้อขายแบบ e-commerce มูลค่ามหาศาลมากที่สุดในโลกภายในวันเดียว และไม่วายจิกกัดเล็กๆ ด้วยวลี “Singles’ Day is Alibaba Day”.

            อาลีบาบาทำรายได้สูงถึง 17.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2016 เปลี่ยนทั้งพฤติกรรมของผู้ซื้อและผู้ขายในประเทศจีนทั้งประเทศ ส่วนในปีนี้สินค้ากว่า 140,000 แบรนด์ หรือผลิตภัณฑ์กว่า 15 ล้านชิ้น พร้อมแล้วสำหรับการซื้อขายในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2017 คาดการณ์ว่า Tmall ของอาลีบาบาจะทำรายได้เกือบทุบตัวเลขชั่วโมงละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้อาลีบาบากลายเป็นผู้ค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกในทันที

            ในรายงานของ Forbes ยังระบุอีกด้วยว่า วันที่ 11.11 กลายเป็นวันที่ยิ่งใหญ่ระดับชาติ เมื่อมีการถ่ายสดการแสดงและกิจกรรมต่างๆ ผ่านช่องรายการไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีการจัดการแข่งขันเกมแบบเรียลลิตี้ การจัดทัวร์สำหรับเดินชอปปิง และนวัตกรรม virtual fitting room ให้ลูกค้าทดลองสวมใส่ชุดที่เลือกได้ผ่านมือถือ

            "อาลีบาบาไม่ได้สนใจแค่การขายออนไลน์ Online-to-Offline (O2O) ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง ด้วยการจับมือกับร้านค้าขนาดย่อมกว่า 600,000 ร้าน รวมทั้งตั้งศูนย์บริการอีกราว 30,000 ร้านในชนบท นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่า มหกรรมวันคนโสดที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ จะไม่ได้สร้างความคึกคักแค่ภายในประเทศแต่จะขยายออกไปยังชาวจีนนอกประเทศกว่า 100 ล้านคน บริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีนอย่าง JD ตอบรับความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยการจัดส่งสินค้าฟรีสำหรับลูกค้าในมาเก๊า ฮ่องกงและไต้หวัน"

            ในเมืองไทย แม้ว่าวันคนโสดจะยังไม่คึกคักเท่า แต่ถ้าถอดสมการทางการตลาด นี่คือภาพสะท้อนว่าคนโสดเป็นตลาดใหม่ที่มีอนาคตสดใส “ถ้าภาคธุรกิจสามารถจับกลุ่มคนโสดได้แปลว่าเขาหาลูกค้าเจอแล้ว และมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” อย่างไรก็ดี มองต่างมุมในมิติของเศรษฐกิจมหภาค อ.จรัมพรเห็นว่า นี่อาจไม่ใช่แนวโน้มที่ดีเลย และภาครัฐควรจะต้องพยายามทำให้ทิศทางการขยายตัวนี้ช้าลง

  • สละโสดเพื่อชาติ?

            ไม่ว่าจะโสดโดยสมัครใจหรือจำยอม ต้องยอมรับว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของจำนวนคนโสดในสังคมไทย ซึ่งสอดคล้องกับการลดลงของอัตราการเกิดอย่างมีนัยสำคัญ คือภาพร่างโครงสร้างประชากรในอนาคตอันใกล้ที่ละม้ายคล้ายกับหลายประเทศที่เดินนำไปก่อนหน้านี้แล้ว อย่างสิงคโปร์หรือญี่ปุ่น

            "ทฤษฎีทั่วโลกมองว่าการที่คนไม่แต่งงานมันมีอยู่ 2 แนวคิด แนวคิดหนึ่งคือเรื่องโครงสร้างประชากร เช่นที่จีนเขามีนโยบายมีลูกคนเดียว พอให้มีลูกคนเดียวคนก็เลือกที่จะมีผู้ชาย ผู้หญิงก็เลยไม่พอ แต่ของไทยน่าจะมาทางคำอธิบายเหมือนของญี่ปุ่นมากกว่า คือการที่คนโสดเพิ่มมากขึ้นเป็นเพราะว่าวัฒนธรรมเปลี่ยน ผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น พอทำงานก็มีอิสระทางเศรษฐกิจ พึ่งพาตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องแต่งงานแล้ว อีกอันหนึ่งก็คือ ผลได้จากการแต่งงานของคนมันเริ่มน้อยลง แต่งแล้วได้อะไร ทำไมต้องแต่งด้วย บางคนก็เลยเลือกที่จะอยู่กันไปก่อน คือคนเริ่มไม่เห็นประโยชน์ของการแต่งงาน อันนี้ก็ทำให้โยงไปถึงการไม่มีลูก"

            อ.จรัมพร ขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นว่า การเป็นโสดของคนคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอย่างที่คิด เพราะเมื่ออัตราการเกิดน้อย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ โครงสร้างประชากรของประเทศไทยจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ไม่สมดุล

            "มันจะเปลี่ยนไปสู่ทิศที่กำลังจะไปนี่แหละ มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น มีกำลังแรงงานน้อยลง แล้วมันไม่บาลานซ์ เราจะมีคนที่ต้องการการดูแลเยอะขึ้น แต่คนที่จะมาช่วยเป็นกำลังการผลิตของประเทศน้อยลง ก็เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นตอนนี้ที่มีคนแก่เยอะแยะเลย มีคนทำงานน้อย แล้วเศรษฐกิจของเขาก็จะนิ่ง รัฐบาลต้องทำอะไรเต็มไปหมดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตรงนี้มันจะพอสะท้อนได้"

            มองจากมุมนี้ นักเศรษฐศาสตร์คนเดิมเห็นว่าการแต่งงานเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้ดีกว่า "...เพราะว่าวันแต่งงานก็ใช้เงินแล้ว แต่งแล้วก็ต้องซื้อบ้านซื้อรถ พอมีลูกก็ตัวใช้เงินเลย ตรงนี้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในด้านการซื้อขายในตลาด ส่วนในด้านการผลิต ถ้าคนไม่แต่งงาน ไม่มีลูก กำลังแรงงานของประเทศมันจะหายไป เราก็จะเสียศักยภาพในการแข่งขัน ฉะนั้นภาครัฐควรจะต้องพยายามทำให้ทิศทางการขยายตัวของคนโสดมันช้าลง ยกตัวอย่างเช่นสิงคโปร์เขาก็จะมีการจัดล่องเรือหาคู่ หรือที่ญี่ปุ่นมีการให้โบนัสหากมีลูก เป็นต้น"

            ถึงอย่างนั้น การเปลี่ยนสถานภาพ ‘โสด’ เป็น ‘แต่งงาน’ เพื่อที่จะลงเอยด้วยการมีลูก ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่รัฐจะมาเจ้ากี้เจ้าการได้ง่ายๆ และทิศทางของปริมาณคนโสดก็ยังอยู่ในภาวะขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น นอกจากแคมเปญท้องช่วยชาติ อีกด้านหนึ่งภาครัฐคงต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับโครงสร้างประชากรที่(ต้อง)เปลี่ยนไป(แน่ๆ)

          ส่วนคนโสดเองจะเลือก ‘สละ’(โสด)เพื่อชาติ หรือหันมา‘ช้อป’ช่วยชาติ ก็ถือเป็นสิทธิและความพึงพอใจ