"ท่องเที่ยว"น้อมนำพระราชดำรัสขับเคลื่อนอุตสาหกรรม

"ท่องเที่ยว"น้อมนำพระราชดำรัสขับเคลื่อนอุตสาหกรรม

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีแห่งการครองราชย์ เป็นคำสอนที่มีคุณค่าเหนือกาลเวลา จากการถูกน้อมนำสู่ "การปฏิบัติตาม" ของคนไทยที่มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันแต่ละยุคสมัย 

บุคลากรที่มีหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปัจจุบัน ร่วมสะท้อนมุมมองในการนำพระราชดำรัส มาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงต่อประโยชน์ส่วนรวมที่เป็นรูปธรรม

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า สิ่งที่นำมาจากพระราชดำรัสและสามารถใช้กับการบริหารขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของไทย ในฐานะที่เป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศให้มีประสิทธิภาพ มาจากความประทับใจที่ทรงตรัสถึงหัวใจของการ "บูรณาการทำงานร่วมกันด้วยใจความว่า

ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัวเองโดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่น แล้วช่วยกันทำ”

ความหมายในพระราชดำรัสดังกล่าว สะท้อนตรงถึงการทำงานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบัน ซึ่งต้องอาศัยความสอดประสานระหว่างภาคส่วนต่างๆ ภาครัฐ เอกชนและประชาชน หรือ ชุมชน ถ้าไม่มองในทิศทางที่สอดคล้องกัน ทำอย่างไรก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จด้วยดี

แม้กระทั่งการทำงานภายในองค์กรแขนงเดียวกัน ที่จับเรื่องท่องเที่ยวเหมือนกัน แต่อยู่คนละฝ่าย เช่น ฝ่ายหนึ่งพัฒนาด้านการตลาด (Demand Side) ส่วนอีกฝ่ายพัฒนาด้านอุปทาน (Supply Side) แต่หากไม่นำแผนการทำงานมาพิจารณาหรือแบ่งปันร่วมกัน ก็จะไม่เกิดศักยภาพได้เต็มที่ 

ในทางกลับกัน หากฝ่ายทำการตลาด สามารถนำข้อมูลเชิงลึกจากผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยว ไปแบ่งปันให้เจ้าของแหล่งท่องเที่ยว เจ้าของทรัพยากร หรือผู้มีหน้าที่พัฒนาซัพพลายต่างๆ ได้รับรู้รับทราบ ก็จะขับเคลื่อนให้เติบโตแข็งแกร่งร่วมกัน

ดังนั้นที่ผ่านมาด้วยการตระหนักถึงพระราชดำรัสข้อนั้นอย่างลึกซึ้ง จึงย้ำเตือนกับพนักงานของ ททท.เสมอถึงบทบาทว่า จะไม่สามารถหยุดที่เรื่องการทำตลาดตามกรอบหน้าที่ขององค์กรที่มีเขียนไว้เท่านั้น แต่ต้องเป็นการทำ Marketing and more ให้ความรู้ต่อภาคธุรกิจ หรือ ชุมชน ที่เกี่ยวเนื่องในการต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อบริหารจัดการให้เกิดการเดินทางเข้าไปใน "พื้นที่ที่ต้องการ และใน "เวลา" ที่ต้องการให้เข้าไปได้อย่างเหมาะสม

“ท่องเที่ยวไทยไม่มีปัญหาในเชิงดีมานด์ เพราะความต้องการเดินทางเข้ามามีต่อเนื่อง แต่โจทย์คือทำอย่างไรจะดูแลต้อนรับและเตรียมความพร้อมของการท่องเที่ยวให้ตรงกับความต้องการกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งการจะทำได้ก็คือ ต้องอาศัยความร่วมมือประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อย่างใกล้ชิด ต้องรู้ว่าหน่วยงานอื่น มีหน้าที่ทำอะไร มีแผนการอย่างไร แล้วเข้าไปร่วมมือกัน เพื่อผลักดันให้เกิดการเดินทางเข้ามาโดยตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้”

ขณะที่ อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่าแนวคิดที่นำคำสอนจากในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวได้จริงคือ เศรษฐกิจพอเพียง เน้นการเติบโตที่เข้มแข็งและยั่งยืนในชุมชน ผ่านการกระตุ้นการท่องเที่ยวชุมชนในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในเรื่องการให้ท้องถิ่น ยังคงรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมและขนมประเพณีของตัวเองเอาไว้ ขณะที่เตรียมพร้อมรับการท่องเที่ยว ไม่ปล่อยให้กระแสความต้องการแบบทุนนิยมเข้ามาทำลายคุณค่าท้องถิ่นมากเกินไป

“สิ่งสำคัญที่นำมาปรับใช้กับการส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชนคือ การท่องเที่ยวจะต้องเข้ามาเสริมให้ชุมชนอยู่แบบพึ่งพาตัวเองได้ หากสามารถรักษาความยั่งยืนไว้ได้ โอกาสการเติบโตที่แข็งแกร่งก็จะตามมา เพราะท่ามกลางโลกที่พัฒนาไปหาความศิวิไลซ์มากขึ้น เชื่อว่าผู้คนก็จะเริ่มกลับมาโหยหาคุณค่าของท้องถิ่น โดยในประเทศไทยเราโชคดีที่ยังมีสิ่งเหล่านั้นอีกมาก”

ด้าน ศึกษิต สุวรรณดิษฐกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีวาน่า กรุ๊ป ซึ่งเป็นตัวแทน "คนรุ่นใหม่" ในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม กล่าวว่า ได้นำพระราชดำรัสในหลวง รัชกาลที่ 9 มากลั่นกรองเป็นใจความสำคัญให้พนักงานระดับบริหาร และปฏิบัติการรวมกว่า 1,000 คนในเครือยึดถือ ภายใต้คำว่า BEST ที่ย่อมาจาก 4 แนวทาง

ประกอบด้วย Beyond Expectation การทำงานที่เหนือความคาดหมาย นำมาจากคำสอนเรื่องการทำงานที่สอนว่าไม่ควรตั้งเงื่อนไขเป็นข้อกีดขวาง Effective การทำงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ตรัสไว้ว่า “จำเป็นต้องทำด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง เข้าใจความหมายของการรับผิด ยอมรับรู้ว่าอะไรผิดพลาดเสียหาย เพราะอะไร เพียงใด” ซึ่งมีประโยชน์ให้บุคคลรู้จักพิจารณาตนเอง เป็นทางช่วยแก้ไขความผิดได้

Smart การทำงานที่กระชับฉับไว พร้อมเรียนรู้และพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง นำพระราชดำรัสเรื่องความเพียรทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย โดยเมื่อทำงานอยู่เสมอ ก็จะเกิดความชำนาญ ช่วยให้ทำงานได้โดยสะดวก เหมือนนักกีฬาที่หมั่นฝึกซ้อม ยิ่งฝึกก็ยิ่งได้ทั้งกำลัง และความเก่งกาจ สิ่งที่ยากก็ค่อยๆ กลายเป็นง่าย และ Trustworthy โดยน้อมนำพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ว่า “ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่า ผู้มีความรู้มากแต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ”

“โดยส่วนตัว พระราชดำรัสที่นำมาใช้ได้มากที่สุด คือที่ทรงสอนว่า การทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้น ที่จะให้เป็นไปโดยราบรื่น ปราศจากปัญหาข้อขัดแย้ง ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะคนจำนวนมากย่อมมีความคิด ความต้องการที่แตกต่างกันไป มากบ้าง น้อยบ้าง จะต้องรู้จักอดทนและอดกลั้น ใช้ปัญญา ไม่ใช้อารมณ์ ปรึกษากัน และโอนอ่อนผ่อนตามตามกันด้วยเหตุผล โดยถือว่าความคิดที่แตกต่างกันนั้น มิใช่เหตุผลที่จะทำให้เป็นข้อขัดแย้ง เพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน แต่เป็นเหตุผลสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ทั้งในวิถีทาง และวิธีการปฏิบัติงาน”

ด้วยแนวคิดดังกล่าว จึงนำมาปรับสู่การบริหารองค์กร โดยไม่ยึดถือว่าการเป็นเจ้าของกิจการ ต้องนำความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ แต่จะใช้วิธีการรับฟังผู้บริการระดับปฏิบัติการ ในการวางแนวทางตัดสินใจด้วยตัวเอง และพร้อมรับฟังให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้พนักงานแสดงความคิดสร้างสรรค์และร่วมมือกันเต็มที่ 

ผลลัพธ์ที่ผ่านมา จึงทำให้กลุ่มมีพนักงานในระดับบริหารที่อยู่กันมาอย่างยาวนานราบรื่นด้วยดี ไม่มีปัญหาขาดแคลนบุคลากรเช่นที่อื่น