“ดีอี”ผนึกคลังพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลไอดี

“ดีอี”ผนึกคลังพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลไอดี

รัฐมนตรีกระทรวงดีอีเซ็นคำสั่งตั้งคณะทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง พัฒนาแพลตฟอร์มยืนยันตัวตนในการทำธุรกิจ หวังเป็นระบบกลางใช้เป็นดิจิทัลไอดี ปูพรมกลุ่มสถาบันการเงิน ช่วยผู้ประกอบการใหม่เข้าถึงธุรกิจ คาดให้บริการจริงกลางปี 61

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงดีอีและกระทรวงการคลัง ได้มีข้อตกลงร่วมกันในการตั้งคณะกรรมการร่วม ประกอบด้วยตัวแทนจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , คณะกรรมการกำกกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ,ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ,สมาคมธนาคารไทย ,สำนักทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อร่วมมือกันพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง สำหรับใช้ในการยืนยันตัวตนเพื่อทำธุรกิจ (ดิจิทัล ไอเดนทิตี้ แพลตฟอร์ม) โดยระบบดังกล่าวจะเป็นระบบยืนยันตัวตน สำหรับบุคคลที่จะเริ่มทำธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกให้การรับรองตัวตน และลงทะเบียนสร้างความเชื่อถือในการทำธุรกิจที่รวดเร็วมากขึ้น และมีการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้การทำธุรกรรมสามารถเบ็ดเสร็จได้ในจุดเดียว  

โดยขณะนี้กำลังอยู่ในช่าวงการเขียนโปรแกรม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ระบบมีความปลอดภัยสูงสุด สามารถเชื่อมโยงกับระบบของหน่วยงานสำคัญๆ ในการยืนยันตัวตน อาทิ ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ฐานข้อมูลของสถาบันการเงิน และฐานข้อมูลเครดิต ซึ่งระบบที่จะพัฒนาขึ้นจะลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นในการยืนยันความมีตัวตน และความน่าเชื่อถือ ทำให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่สามารถทำธุรกรรมหรือติดต่อกับคู่ค้าจากต่างประเทศได้รวดเร็วมากขึ้น 

อีกทั้งแพลตฟอร์มดังกล่าว จะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของหน่วยงานของไทยในอนาคตจะทำให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบของต่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ส่วนความคืบหน้าในการพัฒนาคณะกรรมการร่วมของสองกระทรวงแหละหน่วยงานที่เกี่ยวข้ออยู่ระหว่างการออกแบบและพัฒนาระบบที่คาดว่าจะออกแบบระบบได้สมบรูณ์ภายในปลายปีนี้ เพื่อทำการนำร่องทดลองใช้งานเป็นเวลา 6 เดือนก่อนจะให้บริการจริงในช่วงกลางปี 2561

“เราและกระทรวงการคลังทำงานร่วมกันมาระยะหนึ่งแล้ว และซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะเซ็นคำสั่งตั้งคณะทำงานร่วมชุดดังกล่าวอย่างเป็นทางการ จากนั้นจะนำเข้าวาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยหลังจากจะเริ่มทดลองระบบนำร่องก่อนในต้นปี 2561 จากนั้นคาดว่ากลางปีจะได้แน่นอน”นายพิเชฐ กล่าว

พร้อมกันนี้นายพิเชฐ กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) นัดแรกเมื่อวานนี้ (19 ต.ค.) ที่มีพล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า การประชุมนัดดังกล่าว จะเป็นการประชุมนัดแรกภายหลังจากการประกาศใช้พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยที่ประชุมจะรับทราบและกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ และกรอบการทำงานของกองทุน รวมถึงระบบการบริหารกองทุนภายใต้การดูแลของกระทรวงดีอี

ตามที่มอบหมายให้สำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) เป็นเจ้าภาพดำเนินการ แต่ต้องให้การทำงานมีความคล่องตัวเหมือนเอกชน ทั้งนี้กองทุนมีเงินทุนเริ่มต้นที่ 1,500 ล้านบาท ภารกิจของกองทุนจะเน้นหนักไปที่การศึกษาวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสนับสนุนโครงการด้านดิจิทัลที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยโครงการที่คาดว่าจะได้รับการสนนับสนุนจากกองทุนคือ โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ และโครงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล